เจาะกระแสเดือดตลาดรถ EV : ‘โตโยต้า-ฮอนด้า’ ร่วมเปิดศึก

สันติ จิรพรพนิต

เป็นกระแสที่ถูกจับตาอย่างมากนับจากปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 เมื่อ 2 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกและของไทยอย่าง “โตโยต้า” และ “ฮอนด้า” ประกาศรุกตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น

โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ “EV” ที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลกรวมถึงเมืองไทย

ล่าสุด ฮอนด้าเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ที่กรมสรรพสามิตให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อคันละ 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้โตโยต้าชิมลางด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า “bZ4X” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อฉลองวาระครบรอบ 60 ปี การดำเนินธุรกิจใประเทศไทย

และซ้ำดาบ 2 เมื่อนายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมเฉลิมฉลองพร้อมประกาศวิสัยทัศน์ บุกตลาดอีวีเต็มตัวมากขึ้น

พร้อมประกาศขึ้นไลน์การผลิตรถปิกอัพไฟฟ้า 2 รุ่น

ย้อนกลับไปช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ค่ายโตโยต้าที่แต่เดิมไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก เพราะเน้นพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกหลายหลายรูปแบบ ทั้งไฮบริด ไฮโดรเจน และไฟฟ้า

เรียกว่าให้น้ำหนักถัวเฉลี่ยกันไป โดยช่วงแรกเน้นไปที่เครื่องยนต์ไฮบริด ที่ขายควบคู่กับรถยนต์สันดาปภายใน

แต่เมื่อกระแสรถ EV ในไทยมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ค่ายรถจากจีนที่นำโมเดลใหม่มาเปิดตัว ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

โตโยต้าจึงต้องส่ง “bZ4X” เข้ามาเขย่าตลาดเสียหน่อย และต้องการสื่อให้เห็นว่าโตโยต้าพัฒนารถยนต์ EV อยู่เช่นกัน

จนเมื่อนายอากิโอะ นายใหญ่โตโยต้า คอร์ปอเรชั่น มาเยือนเมืองไทยพร้อมประกาศขึ้นไลน์ผลิตรถปิกอัพไฟฟ้า 2 รุ่นรวด

คือ “ไฮลักซ์ รีโว่ อีวี” และปิกอัพไซซ์เล็ก “ไอเอ็มวี ซีโร่” (IMV 0) ต่อยอดภายใต้โครงการไอเอ็มวี โปรเจ็กต์

รถทั้ง 2 รุ่นอยู่ระหว่างการพัฒนาและผลิตจากโรงงานในประเทศไทย พร้อมทำตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2566

แน่นอนว่าโตโยต้าเซ็นข้อตกลงเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งใน 12 ค่ายที่เข้าร่วม

และเป็น 1 ใน 2 ค่าย ที่เซ็นเอ็มโอยูของรถกระบะ EV

ส่วนอีกค่ายคือ Mine Mobility ของกลุ่ม EA หรือพลังงานบริสุทธิ์

รถกระบะอีวี มีเงื่อนไขตามมาตรการส่งเสริมฯ ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น มีราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท

หากผลิตในช่วงปี 2565-2566 ได้ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% และต้องมีขนาดมอเตอร์มากกว่า 30 KWh ขึ้นไปจะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาทด้วย

ส่วนในช่วงปี 2567-2568 จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV เหลือ 0% ด้วย

การเข้ามาสู่ตลาดปิกอัพ EV ของโตโยต้า นั้นจะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องคาดเดายาก เพราะโตโยต้า เป็นหนึ่งใน 2 ค่ายที่ครองส่วนแบ่งยอดขายปิกอัพเมืองไทยสูงที่สุด

ข้อมูลล่าสุดพบว่าตลาดปิกอัพเมืองไทยมีส่วนแบ่งสูงถึง 56% ของตลาดรวมเฉลี่ย 8.5-8.6 แสนคัน/ปี

จากคาดการณ์ช่วงแรกปิกอัพ EV น่าจะมียอดขาย 2-3% ของตลาดปิกอัพรวม ตกราวๆ 10,000-15,000 คันต่อปี

แม้ตัวเลขอาจไม่เยอะแต่เป็นสัญญาณที่ดี โดยกลุ่มปิกอัพน่าจะเทน้ำหนักไปที่แบบ 4 ประตู เพราะเน้นใช้ในเมือง อารมณ์เดียวกับบรถเก๋ง หรือปิกอัพดัดแปลง (พีพีวี)

ไม่เพียงโตโยต้าเท่านั้นที่กระโดดลงสมรภูมิปิกอัพ EV พร้อมขึ้นไลย์ผลิตและคาดว่าจะเห็นเปิดตัวในครึ่งหลังของปีนี้

เพราะค่ายจีนอย่าง “เอ็มจี” ที่รุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามานานและเตรียมฉลอง 1 ทศวรรรษทำตลาดในไทย มีปิกอัพ EV ในไลน์ผลิตเช่นกัน เพียงแต่อยู่ระหว่างศึกษาว่ารถกระบะที่จะมาทำเป็นยานยนต์ไฟฟ้านั้น มีความเหมาะกับการใช้งานหรือไม่

ส่วนอีซูซุ ปิกอัพไฟฟ้าอยู่ระหว่างการพัฒนา ยังไม่มีกำหนดในการออกสู่ตลาดไทยที่แน่นอน แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่นเตรียมแนะนำ EV TRUCK

หันมาดู “ฮอนด้า” ซึ่งเปิดปี 2566 ด้วยการประกาศรุกตลาดรถยนต์ EV หนักขึ้น หลังจากขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปก่อนหน้านี้

ตามแผนงานฮอนด้าจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่โรงงานประกอบรถยนต์ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี

วางแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2566 เพราะฮอนด้ามองว่าถึงเวลานั้นภาพรวมสถานีชาร์จและความสะดวกสบายในการหาที่เติมพลังงานไฟฟ้า น่าจะครอบคลุมมากขึ้นแล้ว

รุ่นที่จะนำมาเปิดศึกคาดว่าเป็น “e:NS1 ELECTRIC” ซึ่งเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ได้เงินอุดหนุนผู้ซื้อคันละ 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

สำหรับ “e:NS1 ELECTRIC” มีภาพลักษณ์ใกล้เคียงกับรุ่น “HR-V e:HEV” เปิดตัวที่ประเทศจีนเมื่อเดือนเมษายน 2565

มีให้เลือก 2 แบบ 4 รุ่นย่อย แตกต่างที่ความจุมอเตอร์ไฟฟ้า

แบบแรกใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 182 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ขนาด 53.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นแบบ Ternary Lithium ระยะทางขับขี่ไกลสุดประมาณ 420 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง

และมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร เพิ่มขนาดแบตเตอรี่เป็น 68.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิ่งได้ระยะทางไกลสุด 510 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง

ระบบความปลอดภัย Honda SENSING 360

ราคาจำหน่ายในจีนประมาณ 920,000-1,150,000 บาท

การบุกของ 2 ยักษ์ใหญ่ทั้งโตโยต้า และฮอนด้า ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตลาดรถยนต์รวมและตลาดรถเก๋ง ทำให้ภาพรถยนต์ไฟฟ้าของไทยที่แต่เดิมอยู่ในกำมือของค่ายรถจีน และมียุโรปเข้ามาแซมบางส่วน กลายเป็นคึกคักขึ้นมาในพลัน •

 

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต

[email protected]