สัพเพเหระคดี

อีกสองสามวันก็ย่างเข้าปีใหม่แล้วนะครับ ขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ทุกๆ ท่านมา ณ ที่ตรงนี้ด้วยเลย

และก็เช่นเคยครับกับห้วงเวลาสบายๆ ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างนี้ ขออนุญาตพูดคุยเรื่องเรื่อยเปื่อยแบบเดิมๆ เหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา

ซึ่งก่อนหน้าจะลงมือจิ้มคีย์บอร์ดมีหลากหลายเรื่องราวมาก ที่ใคร่นำมาพูดคุยด้วย

แต่ทำไปทำมาน่าจะเหลือแค่เรื่องสองเรื่องที่เหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

 

เรื่องแรกนั้นออกจะร้อนแรงมาตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ของเดือนก่อน เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันแมตช์แรกของฟุตบอลโลกจะเริ่มเตะเปิดสนามแล้ว แต่บ้านเราเวลานั้นยังไม่รู้หัวรู้ก้อยเรื่องการถ่ายทอดสดเลยครับ

แม้รู้มือกันแบบก็รู้อยู่ล่ะครับ ว่าอย่างไรเสียก็ต้องได้ดูครบทุกนัดแน่ๆ เพียงแต่ไม่รู้สคริปต์ว่าจะลงเอยอีท่าไหนเท่านั้นเอง

จึงเรื่องของเรื่องที่ใคร่พูดถึงมากหนนี้ก็คือ กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ชุดปัจจุบัน) นี่แหละครับ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กว่าจะได้มาครบองค์ทั้งเจ็ด (แทนชุดเก่าที่ด้วย ม.44 ของ คสช. และเทคนิคพลิ้วของ ส.ว. ทำให้อยู่ยื้อกันยาวมานานร่วมทศวรรษ) ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำดีนัก เพราะรายสุดท้ายต้องรอผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว.ก่อน

ส่วนใครจะเข้ามาได้ด้วยคุณสมบัติ ‘ปึ้ก’ แค่ไหน ลองไปหาอ่านคอลัมน์ ‘คอฟฟี่เบรก’ ในมติชนออนไลน์ วันที่ 12 ธันวาคม ดู บางทีอาจจะมีคำตอบแบบพอเห็นเค้ารางเป็นเงาๆ ให้เดาอะไรได้บ้าง

 

แรกที่ได้บอร์ด กสทช. ชุดใหม่เข้ามานี่ ผมก็วาดหวังเอาไว้ว่าจะเข้ามาสางนานาปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องความเดือดร้อนของผู้คนที่ถูกหลอกโดยมิจฉาชีพกลุ่มที่รู้จักกันในชื่อ ‘คอลเซ็นเตอร์’ ว่าจะมีมาตราการอะไรร่วมกับโอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการเครือข่าย ‘มือถือ’ ที่จะเป็นการยับยั้ง หรือให้ความเสียหายมันลดน้อยลงได้บ้าง

ซึ่งจะว่าไปนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่บอร์ดชุดนี้แถลงเอาไว้เอง เมื่อคราวทำงานครบสามเดือนช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย ทว่าจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีอะไรคืบหน้าเป็นรูปธรรมเลยครับ

ส่วนที่เห็นกันชัดๆ ทุกวี่วันก็คือ ชาวบ้านชาวช่องยังคงถูกหลอกผ่าน ‘มือถือ’ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ชนิดที่ใครมีมือถือแล้วไม่เคยถูก ‘ไอ้มิจ’ พวกนี้โทร.หา นั่น, กลายเป็นคนแปลกของสังคมวันนี้ไปแล้วนะครับ

 

กับอีกเรื่องที่ติดตามข่าวจาก กสทช.มานานนับปี ตั้งแต่บอร์ดชุดก่อนได้เริ่มวางแนวทางเอาไว้ ก็คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่าย (Network) อินเตอร์เน็ตที่เสถียร เข้าถึงทุกชุมชนอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะ ‘อินเตอร์เน็ตชุมชน’ ที่ให้ผู้คนตามชนบทเข้าถึงและใช้งานได้โดยปราศจากเงื่อนไข เพราะหากทำได้เร็วเท่าไรก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้คนที่เรียกกันว่า ‘กลุ่มเปราะบาง’ สัมผัสความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นไป และรับรู้ได้ไม่แตกต่างไปจากผู้คนในสังคมเมืองสักกี่มากน้อย

โดยเฉพาะความรู้ทางด้านการศึกษาของเด็กๆ และเยาวชน ตลอดจนช่องทางทำมาหากินของผู้คนที่อยู่ห่างไกล จะได้เปิดกว้างมากขึ้นด้วย

ยิ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้ยินท่านประธานบอร์ดให้สัมภาษณ์เดี่ยวเป็นครั้งแรก และพูดถึงโครงการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่จะทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แล้วบอกว่าคนไทยทุกคนจะมีแพทย์ประจำตัว 1 คน คอยให้คำปรึกษาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย โดยคาดว่าจะเห็นผลภายในเดือนพฤษภาคมปีหน้านี่ ผมถึงกับขนลุกซู่เลยนะครับนั่น

ว่าแต่ว่าเอาเรื่องการศึกษาของเด็กๆ กับช่องทางทำมาหากินของผู้คนที่อยู่ไกลปืนเที่ยง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์อินเตอร์เน็ตชุมชนได้ก่อน, ดีกว่าไหมครับ เทเลอะไรที่ว่ามันก็จะตามมาเป็นขบวนเองแหละ

เพราะอย่าว่าแต่ ‘คนชายขอบ’ เลยครับ ช่วงเวลาใกล้ๆ กับที่ท่านให้สัมภาษณ์เดี่ยวที่ว่านั้น มีงานแสดงดนตรีจัดขึ้นติดต่อกันสองวันที่เขาใหญ่ นอกจากมีจำนวนผู้คนสัญจรในงานเรือนแสนแล้ว ยังมีร้านค้าขายอาหารอีกนับร้อยคอยให้บริการผู้คนในงาน ซึ่งผู้จัดบอกกับทางผู้ค้าว่าไม่ต้องเตรียมเงินสดไว้ทอนหรอก แค่ขอ QR Code จากธนาคารมาให้ลูกค้าสแกนจ่าย, ก็สะดวกสุดๆ แล้ว

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือสแกนจ่ายกันไปได้ไม่เท่าไร ‘เน็ตล่ม’ ครับ สุดท้ายก็ต้องกลับมาซื้อขายกันแบบอะนาล็อกเหมือนเดิม คือรับและทอนกันด้วยเงินสดด้วยความชุลมุนอย่างที่คุ้นชินกันมาแต่อ้อนแต่ออกนั่นละ

 

เรื่องของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตนับวันจะมีความสำคัญ และจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างอนาคตอันใกล้แบบอีกปีสองปี ความนิยมใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกกันติดปากว่า EV : Electric Vehicle จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ยานพาหนะพวกนี้ต้องทำงานร่วมกับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นสำคัญ ด้วยหลักๆ ในการควบคุมก็มีแค่พวงมาลัยกับหน้าจอเท่านั้น เหมือนใช้มือถือผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ นั่นแหละครับ แล้วบรรดาสารพัด ‘แอพพ์’ ก็ต้องพึ่งพาอาศัย ‘เน็ต’ เป็นหัวใจในการเข้าถึงชุดคำสั่งหรือความต้องการของผู้ใช้งาน

จึงหากโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางสายและไร้สายยังไม่เป็นระเบียบ และมีมาตรฐานตามหลักวิศวกรรมด้านโทรคมนาคม (ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช. โดยตรง) แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นครับ, ลองคิดดู

ไหนๆ ก็พูดถึง EV แล้ว ขอต่ออีกนิดเพราะมีเรื่องจะเล่าหน่อย ด้วยความนิยมทั่วโลกมาแรงมาก ในบ้านเราเองจากงานโชว์รถล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้ ก็สามารถกวาดยอดไปได้ร่วมหนึ่งในห้าของยอดรวมรถยนต์ที่จับจองกันนั่นเทียว

นั้น, ยังไม่ได้นับรวมของขาใหญ่จาก ‘เมกา ที่เพิ่งมาเปิดตัว และมีสองรุ่นให้เลือกจองเฉพาะผ่านออนไลน์ แล้วกวาดยอดไปได้กว่าสี่พันคันในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงด้วยนะครับ

ส่วนเรื่องที่ใคร่เล่านั้น คือไม่กี่วันก่อนอ่านเจอใน businessinsider.com และไม่พบเห็นเป็นข่าวในบ้านเรา (หรือมีใครนำมาพูดถึงแล้ว? แต่ผมไม่เห็นเอง) เหตุเกิดที่อังกฤษยามค่ำคืน ยูทูบบอร์สายรถรายหนึ่งกำลังขับ EV รุ่นยอดนิยม อายุ 5 วัน มุ่งหน้าไปยังกรุงลอนดอน ทว่า ขับไปได้เพียง 15 นาที รถก็ออกคำสั่งให้เขาถอยก่อนที่จะดับลงกะทันหัน เหมือนกับว่าจู่ๆ ก็สิ้นพลังไปเอง ทั้งๆ ที่จอแสดงผลบอกให้รู้ว่าแบตเตอรี่ยังสามารถพาเขาเดินทางไปได้อีก 216 ไมล์ ทุกอย่างตัดการทำงานและขังเขาไว้ในรถ

เขาพยายามใช้ปุ่มฉุกเฉิน (Emergency Override) เพื่อออกจากรถ ผลที่ตามมาก็คือกระจกหน้าต่างด้านข้างคนขับแตก และต้องรอในรถนานกว่าสองชั่วโมงจึงค่อยได้รับความช่วยเหลือ ก็ตามรูปที่เห็นนั่นแหละครับ

ซึ่งหลังจากข่าวนี้ออกไปสื่อที่รายงานก็ติดต่อขอความคิดเห็นไปยังบริษัทรถ แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา

พิมพ์มาถึงตรงนี้ก็เหลือบไปเห็นโพสต์ของอดีต ส.สหญิงดาวสภาบ้านเรา ที่เหมือนบ่นทำนองว่าพี่สาวเพิ่งซื้อรถไฟฟ้าเมื่อเช้า ลองยืมขับหน่อย ไม่ถึงครึ่งวันต้องรอลากเข้าศูนย์ตรวจซ่อม

พร้อมติดแฮชแท็กของพี่สาวที่บอกว่า #ยมอรซต – ใครแปลได้วานบอกทีครับ ผมเองน่ะติดตรงตัว ซ นี่ละ หากเปลี่ยนเป็น ส ละก็, ยังพอจะเดาทางได้อยู่ (ฮา) •