รวบตึงข่าวเด่นยานยนต์ ‘2022’ ปิกอัพไฟฟ้า-ประกันอีวีป่วน

สันติ จิรพรพนิต

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ปี 2566 อย่างเป็นทางการ

ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมาในแวดวงยานยนต์ไทยมีความเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นมากมายตลอดปี

เรามาสรุปรวบตึงกันว่าเหตุการณ์เด่นๆ มีอะไรบ้าง

 

‘โตโยต้า’ ลุยกระบะอีวี

พร้อมกับการมาเยือนเมืองไทยอย่างเป็นทางการจอง “อากิโอะ โตโยดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมฉลองวาระครบรอบ 60 ปี โตโยต้าประเทศไทย

โตโยต้าประกาศวิสัยทัศน์รุกตลาดรถกระบะไฟฟ้า 100% หรืออีวี เบื้องต้นเปิดไลน์การผลิต 2 รุ่นเด่นคือ “ไฮลักซ์ รีโว่ อีวี” ซึ่งรูปร่างหน้าตาคุ้นเคยกับคนไทยดีเพราะใช้บอดี้เดียวกับรีโว่ รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล

และ “ไอเอ็มวี ซีโร่” (IMV 0) ปิกอัพขนดาเล็ก ถือเป็นครั้งแรกของโตโยต้าในไทย

โดยประกาศทำตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2566

จนทำให้กรมสรรพสามิต มั่นใจว่าจะมีค่ายอื่นๆ ตามมาแน่นอน เพราะหากลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมสรรพสามิต ค่ายรถจะได้รับสิทธิ์ภาษีสรรพสามิตเป็น 0% และหากราคารถกระบะอีวีไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับเงินอุดหนุนอีก 1.5 แสนบาท

จากก่อนหน้านี้โตโยต้าเพิ่งเปิดรับจองเก๋งไฟฟ้า “bZ4X” ไปไม่นาน

ไม่เพียงลุยรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังส่งรถพลังงานไฮโดรเจน “มิไร” มาทดสอบวิ่ง พร้อมกับเปิดปั๊มไฮโดรเจนที่แรกในเขตอีอีซี ภาคตะวันออก

เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์รุกพลังงานทางเลือกในทุกรูปแบบ

 

‘ยาริส เอทีฟ’ รถยนต์แห่งปี

เป็นธรรมเนียมใทุกปีที่สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จะประกาศผลรางวัล “รถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2565” (THAILAND CAR OF THE YEAR 2022)

รางวัลนี้ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะจะเลือกรถยนต์เพียง 1 รุ่นเท่านั้น จากรถยนต์ทุกรุ่นที่ขายในประเทศไทย

โดยมีหลักเกณฑ์การให้คะแนน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า และออปชั่นต่างๆ ที่ให้มาเหมาะสมกับราคาหรือไม่ อย่างไร

จึงมีรถทุกเซ็กเมนต์เข้าร่วม แม้ราคาจะแตกต่างกันขนาดไหนก็ตาม

รอบแรกพิจารณาจากรถทั้งหมด ก่อนคัดเหลือ 7 รุ่นมาชิงชัยในรอบ 2

รถยนต์ 7 คันผ่านเกณฑ์การพิจารณารอบ 2 ประกอบด้วย

1. ฟอร์ด เอเวอเรสต์

2. ฟอร์ด เรนเจอร์

3. ฮอนด้า เอชอาร์-วี อี:เอชอีวี

4. เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส

5. เอ็มจี วีเอส เอชอีวี

6. โตโยต้า เวลอซ

และ 7. โตโยต้า ยาริส เอทีฟ

ผลออกมาว่า “ยาริส เอทีฟ” คว้าตำแหน่งในปี 2565 ด้วยจุดเด่นๆ อาทิ เลือกใช้วัสดุตกแต่งภายในที่มีคุณภาพ ดีไซน์เรียบหรู และเพิ่มความล้ำสมัยเหนือระดับด้วยการเป็น Brand แรกที่มีเบรกมือไฟฟ้า EPB รวมทั้งไฟ “Ambient light” สร้างบรรยากาศในห้องโดยสาร

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกจัดเต็มที่สุดในคลาส ไม่ว่าจะเป็น Push start / Smart entry และวิทยุหน้าจอสัมผัสรองรับ Apple Car Play, Android auto ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ระบบ T-Connect เป็นมาตรฐานทุกรุ่น

แพลตฟอร์มและเกียร์ CVT ใหม่ พร้อมกับการปรับจูนเครื่องยนต์ ที่ส่งผลให้รถควบคุมได้ง่ายขึ้น ทรงตัวได้ดี นุ่มนวล และตอบสนองขณะออกตัว

 

ประกันภัยรถอีวีอลหม่าน

กลายเป็นข่าวฮือฮาและเขย่าแวดวงประกัยภัยรถยนต์ หลังเกิดเหตุรถยนต์อีวี ORA Good CAT ประสบอุบัติเหตุขับเกยฟุตปาธเกิดความเสียหายกับฝาครอบแบตเตอรี่ใต้ท้องรถ แต่ไม่รู้ว่าพูดคุยกับศูนย์บริการอย่างไร พบว่าต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งชุดซึ่งราคาค่อนข้างสูง

จนบริษัทประกันภัยเสนอคืนทุนประกันแบบอุบัติเหตุหนักที่เสียหายทั้งคัน และโอนกรรมสิทธิ์เป็นซาก แต่ผู้เอาประกันไม่ยอมเนื่องจากเพิ่งถอยรถออกมาได้ไม่นาน

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเจรจากันได้ว่าแบตเตอรี่ไม่เสียหาย ซ่อมแซมเพียงฝาครอบเท่านั้น

กระนั้นสร้างความปั่นป่วนให้วงการรถยนต์อีวี และประกันภัย เพราะถือเป็นกรณีตัวอย่าง ที่อาจทำให้บริษัทประกัน รวมถึงเจ้าของรถยนต์คิดหนัก

กระทั่งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ต้องออกมาเคลื่อนไหวโดยใช้ตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่มีรถอีวีจำหน่ายนานแล้ว

สมาคมประกันวินาศภัยไทยในฐานะตัวแทนบริษัทประกันวินาศภัยประมาณ 20 บริษัท ทำจดหมายเข้าไปขออนุมัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถอีวีที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยทำให้ค่าเบี้ยประกันถูกลง

โดยมีเงื่อนไขการคุ้มครองกรณีของแบตเตอรี่ได้รับความเสียหาย และต้องมีการเปลี่ยนแบบยกชุดเท่านั้น เป็น 3 ทางเลือกให้ลูกค้า

1. จำกัดจำนวนเงินความคุ้มครองของแบตเตอรี่รถยนต์อีวี โดยบริษัทจะให้ความคุ้มครองไม่ต่ำไปกว่า 50% ของมูลค่าแบตเตอรี่

2. กำหนดความรับผิดส่วนแรก (deductible) โดยจะระบุไม่เกิน 15% ของมูลค่าแบตเตอรี่

และ 3. ลูกค้ามีส่วนร่วมจ่าย (copayment) โดยกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายร่วมไม่เกิน 15%

ผู้เอาประกันภัยเลือกข้อใดข้อหนึ่ง และบริษัทจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย 10-25%

โดยลูกค้าอาจไม่เลือก 3 แนวทางดังกล่าวได้ เพื่อรับความคุ้มครองเต็มทุนประกันเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับการทำสัญญาระหว่างลูกค้ากับบริษัทประกันแต่ละราย

ขณะที่ คปภ.เตรียมแนวทางการออกเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถอีวี เพื่อจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันรถอีวีเป็นการเฉพาะภายในปี 2566 เพื่อความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

ไทยเนื้อหอมฐานผลิต ‘มายบัค’

“เมอร์เซเดส-มายบัค” เป็นแบรนด์รถอัลตราลักเซอรี่ของค่ายดาวสามแฉก ซึ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยพักใหญ่แล้ว ซึ่งมีมหาเศรษฐีไทยจับจองกันไม่น้อย

กระทั่งบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ระยะเวลาศึกษาความต้องการตลาดรถยนต์ในกลุ่มอัลตราลักเซอรี่ในประเทศไทย ก่อนประกาศตั้งโรงงานผลิต “เมอร์เซเดส-มายบัค” ในไทย

ทำให้ไทยกลายเป็นฐานผลิตรถหรูแบรนด์นี้ต่อจากจีน ถือเป็นเพียง 2 ประเทศที่เป็นฐานการผลิตนอกจากเยอรมนี

เริ่มขึ้นไลน์ประกอบในไตรมาสแรกของปี 2566 และรถที่จะใช้ประกอบรุ่นแรกจะเป็นรถในกลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด

พร้อมกันนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% “เมอร์เซเดส-อีคิว” (Mercedes-EQ) ซึ่งขึ้นไลน์ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยบนแพลตฟอร์มของยานยนต์ไฟฟ้า ขุมพลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว พร้อมความจุของแบตเตอรี่ขนาด 108.4 kWh ให้กำลังสูงสุด 449 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 828 นิวตันเมตร

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเวลา 4.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ไกล 702 กิโลเมตร ต่อการชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม 1 ครั้ง

ราคา 7.9 ล้านบาท •

 

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต

[email protected]