“ละมุดสีดา” ไม้ใกล้สูญพันธุ์ วิตามิน-เส้นใยสูง นิยมใช้ทำเครื่องรางของขลัง

“ละมุด” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manilkara zapota (L.) P.Royen มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกาตอนกลาง

พืชในสกุลนี้มีรายงานพบในเมืองไทยอยู่ 4 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดในไทยมี 2 ชนิด คือ ต้นเกด (Manilkara hexandra (Roxb.) Dubard) และละมุดป่า (Manilkara littoralis (Kurz) Dubard) อีก 2 ชนิดนำเข้ามาจากต่างประเทศ คือ ละมุดสีดา (Manilkara kauki (L.) Dubard) และละมุดหรือละมุดฝรั่ง (Manilkara zapota (L.) P.Royen)

ละมุดสีดา หรือ ละมุดไทย เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในบอร์เนียว กัมพูชา หมู่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย เช่น เกาะชวา หมู่เกาะซุนดาน้อย มลายา มาลูกู นิวกินี สุลาวาสี สุมาตรา ฟิลิปปินส์ ควีนส์แลนด์ (ออสเตรเลีย) ไทย เวียดนาม และได้มีการนำเข้าไปปลูกในฟิจิ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา

ละมุดสีดา มีชื่อสามัญว่า caqui ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manilkara kauki (L.) Dubard ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากและแน่นจึงให้ร่มเงาได้ดี ไม่พลัดใบ ผิวใบด้านหน้าสีเขียวเข้มหลังใบสีเทาเงิน ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม

คนไทยในอดีตมีความเชื่อว่า ไม่ควรปลูกละมุดสีดาหรือละมุดทุกสายพันธุ์ไว้ใกล้บ้าน เพราะเชื่อว่าคนในบ้านจะทำอะไรก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ปิดบัง หรือมีเหตุต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องไม่ดีไม่งาม ซึ่งจะนำเรื่องร้ายหรือวุ่นวายมาไม่จบสิ้น

เหตุที่ไม่แนะนำให้ปลูกใกล้บ้านน่าจะมาจากไม้ในกลุ่มละมุด เมื่อแตกใบอ่อนจะเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของผีเสื้อหนอนร่าน ผีเสื้อชนิดนี้จะมาวางไข่บนใบอ่อน เพื่อตัวหนอนที่ออกมาได้มีอาหารกิน ตัวหนอนนี้เรียกว่าตัวร่าน ซึ่งในภาษาอีสานเรียกว่า บ้งหาน

และหนอนผีเสื้อหนอนร่านนี้มีขนหนามที่เป็นพิษ หากใครโดนหนามจะทำให้เจ็บปวดมาก และใครที่แพ้พิษนี้จะทำให้เกิดแผลลุกลามได้

ความเชื่ออีกมุมหนึ่งในสังคมไทยเรื่องของเครื่องรางของขลัง ไม้ละมุดสีดาเป็นเนื้อไม้ที่นิยมนำมาทำเป็นปลัดขิกหรือตะกรุดเพื่อพกติดตัว โดยความเชื่อเน้นในทางให้คุณด้านเสริมเสน่ห์มากกว่าด้านอื่น และเนื่องจากเนื้อไม้มีสีน้ำตาลสวย เนื้อเหนียวคงทน จึงนำมาเป็นไม้แกะสลักได้ดี

นอกจากนี้ ในประเพณีไหว้เจ้า บางพื้นที่ได้กำหนดให้นำผลละมุดสีดาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ที่จำเป็นต้องมีหรือขาดไม่ได้ ซึ่งอาจมาจากลักษณะผลและสีมีความสวยงามก็ได้

ผลของละมุดสีดารับประทานได้แต่ต้องกินผลสุกงอมที่เป็นสีดำ รสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อยไม่หวานสนิทเหมือนละมุดฝรั่ง และมีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นละมุดแรงมาก เมล็ดในผลจะมีขนาดใหญ่สีน้ำตาล

ตํารายาโบราณกล่าวไว้ว่า คนที่เพิ่งหายเจ็บไข้หรือเพิ่งจะฟื้นไข้ เมื่อได้กินผล “ละมุดสีดา” เพียงหนึ่งหรือสองผล จะช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่นหายอ่อนเพลีย

สำหรับประโยชน์ทางยา เปลือกต้นต้มกับน้ำดื่มแก้ท้องเสีย เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำอาบแก้โรคผิวหนังพวกผื่นคัน เปลือกนอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด ยาถ่ายพยาธิชนิดรุนแรง ในอินเดีย รากและเปลือกที่มีรสฝาดใช้แก้เด็กท้องเสีย เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้ ยาขับพยาธิ ยาต้านโรคเรื้อน ในตำรับยาอายุรเวทใช้ส่วนของใบและผลซึ่งมีรสขมและฝาด ใช้เป็นตัวยาผสมในตำรับยารักษาโรคโลหิตจาง

ผลละมุดสีดาเป็นผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ทั้งยังมีเส้นใยสูงมาก ผลสดจะมีเนื้อหวานกรอบ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้

ผลละมุดสีดายังแปรรูปเป็นแยมหรือไวน์ได้ด้วย การใช้ประโยชน์อย่างอื่น ลำต้นเป็นเนื้อไม้ค่อนข้างแข็งและทนทาน จึงนำมาใช้เพื่อการก่อสร้างที่ไม่ใช่โครงสร้างหลักได้ นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก งานกลึงและงานหัตถกรรมต่างๆ เนื้อไม้ยังใช้ทำถ่านได้ ส่วนยางใช้ผลิตเป็นรองเท้าบู๊ต ในอดีตเคยนิยมนำมาเป็นต้นตอใช้ในการเสียบกิ่งละมุดฝรั่งเพื่อปลูกเป็นการค้า

ในการศึกษาวิจัยพบว่าส่วนต่างๆ ของละมุดสีดามีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และในเปลือกลำต้นมีคุณสมบัติในการยับยั้งเอ็นไซม์ไทโรซิเนส (ANTI-TYROSINASE) ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเวชสำอางได้

ละมุดสีดาเคยเป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลภาคใต้ของบ้านเรา คนสมัยก่อนก็นิยมปลูกกันมากเป็นไม้ผลในสวน แต่ปัจจุบันเป็นไม้ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งยังมีการกลายพันธุ์ไปจากดั้งเดิมมาก จนเกือบหาพันธุ์ดั้งเดิมแทบไม่ได้แล้ว

ละมุดสีดา เป็นไม้ไทยควรค่าในการส่งเสริมการปลูก เพื่ออนุรักษ์พันธุ์และเป็นอาหารและยาสมุนไพร ก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป