คีนัว : ยอดพืช “อาหารสุขภาพ” ชาวอินคานับพันปี ช่วยห่างไกลมะเร็งหลายชนิด

คีนัว (Quinoa) เป็นพืชล้มลุกที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Chenopodium quinoa Willd หรือ คีโนโปเดียม คีนัว และอยู่ในวงศ์ Amaranthaceae

นิยมใช้เมล็ดเป็นอาหารคล้ายธัญพืช แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะไม่ได้อยู่ในวงศ์ Poaceae ของพวกธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น

คีนัวจึงจัดเป็นธัญพืชเทียมหรือซูโดซีเรียล (pseudo-cereals) ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก

คนไทยเพิ่งรู้จักบริโภคซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) ชนิดนี้เมื่อ 4-5 ปีมานี้เอง

ในขณะที่ชนเผ่าโบราณในทวีปอเมริกาใต้อย่างชาวอินคา รู้จักเพาะปลูกและบริโภคคีนัวเป็นอาหารประจำนับพันปีมาแล้ว

โดยถือเป็นอาหารศักดิ์สิทธิที่เทพประทานให้ในชื่อ “มารดาแห่งธัญพืช”

กระทั่งเมื่อ 10 ปีมานี้เอง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพิ่งประกาศ ปีสากลแห่งคีนัว 2013 เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกปลูกคีนัวเป็นยอดอาหารสุขภาพ (super functional food) สำหรับยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของมนุษยชาติ

เหมาะสำหรับเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และบุคคลทั่วไปที่มีปัญหากับสารพัดโรคไม่ติดต่อ (NCD) ที่เป็นสาเหตุการตายสำคัญทางสาธารณสุข ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และโรคอ้วน เป็นต้น

สําหรับบ้านเรา เพิ่งมีการนำคีนัวมาเพาะปลูกครั้งแรกเมื่อปีคีนัวสากล พ.ศ.2556 นั่นเอง โดยมูลนิธิโครงการหลวง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความร่วมมือของประเทศชิลีซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพืชคีนัวพันธุ์ดีโดยตรง ช่วยให้คนไทยหาซื้อคีนัวคุณภาพดีได้ง่ายในราคาถูกลง คุณค่าทางโภชนาการอันโดดเด่นที่สุดของเมล็ดคีนัวคือ เป็นแหล่งโปรตีนจากพืชที่ดีที่สุด เพราะอุดมด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อมนุษย์อย่างครบถ้วน สูงกว่ากรดอะมิโนที่มีอยู่ในธัญพืชอื่นๆ ทุกชนิด

ด้วยเหตุที่คีนัวมีปริมาณโปรตีนต่อน้ำหนักสูงใกล้เคียงน้ำนมแม่ จึงมีการศึกษาทางคลินิก ศึกษาผลของการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งเมล็ดคีนัวเลี้ยงเด็กเล็กอายุ 4-5 ขวบ ที่ขาดสารอาหาร

โดยกลุ่มที่รับประทานอาหารจากแป้งคีนัว ครั้งละ 100 กรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 15 วัน มีระดับของตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอาหารคีนัว

การศึกษานี้สรุปว่า เมล็ดคีนัวเป็นอาหารที่ช่วยป้องกันการขาดสารอาหารในเด็กได้เป็นอย่างดี

แสดงว่าเมล็ดคีนัวมีโปรตีนสูง รวมทั้งมีสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ ครบถ้วน เช่น จำพวกคาร์โบไฮเดรต มีอะไมโลส กาแล็กโตส มอลโตส จำพวกไขมัน มีกรดไขมันลิโนเลอิก โอเลออกและอัลฟา-ลิโนเลอิก

ยิ่งกว่านั้นยังอุดมด้วยวิตามิน บี 1 บี 2 บี 5 บี 6 วิตามินซี วิตามินอี เบต้า-คาโรทีน (รูปแบบของวิตามินเอในพืช) ไนอะซีน และสารประกอบฟีนอลิกมากกว่า 23 ชนิด เหมือนกับที่พบมากในผลไม้ตระกูลเบอรี่ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการตีบตันของหลอดเลือด ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันเนื้อเยื่อและดีเอ็นเอ จากการถูกทำลายด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของอนุมูลอิสระในร่างกายได้

ซึ่งช่วยเราให้ห่างไกลจากมะเร็งร้ายหลายชนิด

การวิจัยในมนุษย์อาจจะมีข้อห้ามการวิจัยกับทารก แต่ในชีวิตจริงตามวิถีชาวบ้านไทย เมื่อทารกอายุราว 6 เดือนขึ้นไป ระบบย่อยของเจ้าหนูก็สามารถย่อยอาหารหยาบ (solid food) ได้ เช่น ข้าวบด กล้วยน้ำว้าบด ซึ่งสามารถทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์อาหารแป้งคีนัวได้สบายมากและมีสารอาหารครบถ้วนด้วย

ยิ่งสำหรับเด็กที่แพ้โปรตีนกลูเตน (gluten) จากข้าว ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ก็ยิ่งควรเปลี่ยนเป็นบริโภคแป้งคีนัวแทน

เรื่องนี้มีผลวิจัยอย่างชัดเจนในผู้ป่วยโรคเซลิแอค (celiac disease) หรือโรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากการแพ้กลูเตนในอาหารที่ทำจากข้าวสาลี หรือแม้แต่โปรตีนเกษตรในอาหารเจ พบว่าเมื่อให้คีนัวเฟลกส์แก่ผู้ป่วยแพ้กลูเตน อายุเฉลี่ย 59 ปี จำนวน 19 คน ให้วันละ 50 กรัม เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พร้อมกับเพิ่มคีนัวในอาหารมากขึ้น มีผลทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน

ค่าทางจุลพยาธิวิทยาของลำไส้และค่าเลือดต่างๆ ดีขึ้น ค่าไขมันตัวเลวในเลือดก็ลดลงมากด้วย

เมล็ดคินัว

ยิ่งกว่านั้นยังมีการศึกษาเปรียบเทียบอาหารที่มีเส้นใยสูงระหว่างขนมปังจากข้าวกล้องสาลีกับขนมปังโรลที่ทำจากแป้งคีนัว ซึ่งมีเส้นใยอาหารสูงกว่าข้าวกล้องสาลี 2 เท่า เมื่อใช้กับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด รวมทั้งผู้ป่วยโรคอ้วนซึ่งมีดัชนีมวลกายเกินพิกัด 25 ก.ก./ม.2 พบว่ากลุ่มที่ได้รับขนมปังซึ่งมีคีนัวผสมเพียงวันละ 80 กรัม โดยสามารถรับประทานอาหารทั่วไปได้ด้วย เป็นเวลา 6 เดือน

มีผลทำให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีความทนต่อน้ำตาลดีขึ้น และผู้ป่วยโรคอ้วนดับมีระดับดัชนีมวลกายเป็นปกติ

วันนี้คนไทยรู้จักผลิตภัณฑ์จากแป้งคีนัวมากขึ้น แต่ยังบริโภคไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

ถ้าส่งเสริมการวิจัยให้มีข้อมูลโภชนาการยืนยันเพิ่มขึ้นก็น่าจะทำให้เกิดการบริโภคกว้างขวางขึ้น

และคงต้องรณรงค์กันด้วยสโลแกนที่เคยส่งเสริมดื่มนม ที่ว่า

“วันนี้คุณกินคีนัวแล้วหรือยัง”

Photo by AFP / China OUT

Photo by AIZAR RALDES / AFP