เทพ “หนึ่ง” : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเพิ่งได้คุยกับ “หนึ่ง” จักรวาล เสาธงยุติธรรม เป็นครั้งแรก

ประทับใจมากครับ

นอกจากฝีมือการเล่นเปียโนระดับ “เทพ” ที่เห็นชัดระดับ 2 เมตรแล้ว

“หนึ่ง” ยังเป็นคนที่น่ารัก และอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง

ประมาณ “ตูน บอดี้สแลม” เลยครับ

ที่สำคัญ “วิธีคิด” ของ “หนึ่ง” ไม่ธรรมดา

“หนึ่ง” เป็นนักเปียโนระดับต้นๆ ของประเทศ เป็นคนทำเพลงให้ศิลปินต่างๆ มากมาย

แต่มาโด่งดังมากที่สุด ตอนที่เป็นกรรมการในรายการ I can see your voice และ The mask singer

ประวัติชีวิตของ “หนึ่ง” มีสีสันมาก

เป็นเด็กที่อาศัยอยู่สลัมคลองเตย หัดเล่นดนตรีด้วย “ความรู้สึก”

พ่อจะสอนให้ฟังเพลง แล้วไปหัดเล่นออร์แกนเล็กๆ เอง

ตอนหัดเรียนเปียโนก็หัดเล่นแบบครูลักพักจำ

แอบดูครูเล่น แล้วไปหัดเล่นเอง

พอเริ่มเล่นเป็นก็เริ่มลงสนาม

“วิธีคิด” ของ “หนึ่ง” น่าสนใจมากครับ

เขาเริ่มต้นด้วยการไปเล่นที่ “คาเฟ่” ทั้งที่อ่านโน้ตไม่ออก

หัดเล่นทุกเพลงด้วย “ความรู้สึก”

พอเจอเพลงที่ไม่เคยเล่นก็เล่นไม่ได้ ทั้งที่นักร้องมี “โน้ต” มาให้ดู

เล่นไม่ได้ ก็โดน “ด่า”

“หนึ่ง” ถือว่า “คำด่า” เป็น “ครู”

โดนด่าเพลงไหน ก็หัดเล่นเพลงนั้น

เล่นไปสัก 6 เดือน เริ่มไม่มีความสุข

เพราะไม่มี “เสียงด่า” ให้ได้ยิน

เขาลาออก

เปลี่ยนไปเล่น “บาร์รำวง”

ถามว่าทำไมไปเล่นที่นี่ เพราะ “บาร์รำวง” น่าจะถือว่าเป็นการลดเกรดการเล่นดนตรีเมื่อเทียบกับ “คาเฟ่”

รู้ไหมครับ “หนึ่ง” คิดอะไร

เขาบอกว่าวิธีการเล่นดนตรีใน “บาร์รำวง” จะช่วยฝึกเรื่อง “สัญชาตญาณ”

เพราะเล่นเพลงนี้ได้แค่ครึ่งเดียว

เป่านกหวีดปรี๊ด หมดรอบ

เริ่มเพลงใหม่

เปลี่ยนเพลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

เล่นเพลงไหนไม่ได้ก็โดนด่า

พอหมดเสียงด่า เขาก็เปลี่ยนไปเล่นในโรงแรม

เล่นเพลงสากล

เลือกสนามใหม่ฝึกมือ

ให้มีคนด่า

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ อย่าแปลกใจเลยครับ

ทำไม “หนึ่ง” จึงเก่ง

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบ

“หนึ่ง” เคยไปบรรยายให้นักเรียนที่โรงเรียนดนตรีแห่งหนึ่ง

เขาถามเด็กว่าเล่นเพลงอะไรได้บ้าง

ทุกคนก็เอ่ยชื่อเพลงสากล หรือเพลงบรรเลงระดับโลก

“เล่นเพลงลูกทุ่งเป็นไหม”

ทุกคนส่ายหน้า

“ผมปรี๊ดเลยครับ” หนึ่งบอก

เขาถามน้องๆ แบบตรงไปตรงมา

“พวกเอ็งเกิดนิวยอร์กรึไง”

นอกจากความรู้สึกว่าเกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทยก็ควรจะรู้จักเพลงไทยแล้ว

เขายังคิดแบบ “มืออาชีพ” ที่อยู่ในสนามจริง

ถ้าจะเป็นนักดนตรีอาชีพ คุณต้องเล่นเพลงที่คนทั่วไปเขาร้องกัน

ไม่ใช่เล่นเพลงที่มีคนฟังไม่กี่คน

“หนึ่ง” บอกว่าเพลงบางเพลงเล่น 2 ทุ่มเพราะ คนชอบ

แต่เพลงเดียวกันเล่นตอน 5 ทุ่ม ไม่เพราะ

เพราะคนไม่ชอบ

“ผมจะบอกน้องๆ เลยว่าต้องหัดเล่นเพลงสุนทราภรณ์”

อย่างน้อยที่สุด 10 เพลงหลัก

“เพราะคนที่จ่ายเงินจ้างเราไปงานต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ร้องเพลงสุนทราภรณ์”

ถ้าเล่นเพลงที่เจ้าภาพชอบได้

เจ้าภาพจะรักเรา

และเขาจะจ้างเราอีก

เป็นวิธีคิดที่ “เรียลลิสติก” มาก

…ไม่ธรรมดาจริงๆ

จากประสบการณ์การเล่นดนตรีที่ผ่านมาแล้วทุกสนาม

“หนึ่ง” บอกว่าเขาจึงได้เปรียบกรรมการคนอื่นในรายการ I can see your voice ที่ต้องทายว่าคนที่ออกมาร้องเพลง “เพราะ” หรือ “เพี้ยน”

เพราะเขาไปเล่นงานบริษัทต่างๆ บ่อย

ตามปกติของงานแบบนี้ เขาจะเชิญคนขึ้นมาร้องเพลง

หัวหน้าบ้าง เพื่อนพนักงานบ้าง

หรือบางคนอยากร้องก็ขอขึ้นมาร้องบ้าง

สำหรับ “หนึ่ง” หน้าที่ของ “นักดนตรี” คือ ต้องทำให้นักร้องทุกคนร้องเพลงเพราะ

ต่อให้ร้องเพี้ยนหรือคร่อมจังหวะ ก็ต้องช่วยพยุงให้เสียงร้องออกมาดีที่สุด

ดังนั้น เมื่อใครขึ้นมาร้องเพลง เขาจะสังเกตตั้งแต่ท่าเดินขึ้นเวทีเลย

มั่นใจหรือไม่มั่นใจ

แล้วทายว่าร้อง “เพี้ยน” หรือ “เพราะ”

จะได้วางแผนชีวิตถูก

“แค่จับไมค์ ผมก็รู้แล้ว”

วันนั้น ผมนั่งสัมภาษณ์ “หนึ่ง” พร้อมกับ “ก้า” อริณธรณ์

หรือ “ก้า” แห่งวงบาสเก็ตแบนด์

เจ้าของเพลง “คนน่ารักมักใจร้าย”

ผมแกล้งถาม “หนึ่ง” ว่าจับไมค์แบบ “ก้า”

“เพราะ หรือ เพี้ยน”

“หนึ่ง” มองแวบเดียว

“เพราะ”

เฮ้ย…รู้ได้ไง

ท่าจับไมค์ของ “ก้า” คือ การใช้นิ้วโป้งประคองด้านล่าง และสี่นิ้วที่เหลืออยู่ด้านบน

“แล้วผมล่ะ”

แทบไม่หันสายตามาดู “หนึ่ง” ตอบแบบมั่นใจมาก

“เพี้ยน”

แม่นโคตรเลย

เพราะอย่าว่าแต่ร้องเพลง หายใจก็ยังเพี้ยนเลยครับ

ท่าถือไมค์ของผม คือ การกำไมค์แบบเต็มไม้เต็มมือ

“แบบนี้ก็เลียนแบบไม่ยาก”

ผมทำท่าถือไมค์ตามแบบ “ก้า”

“แบบนี้ก็เพี้ยนครับ”

“ทำไมล่ะ”

“พี่เกร็งนิ้ว ลงน้ำหนักมากไป” เขาตอบ

“เทพ” จริงๆ ครับ ท่านผู้ชม