พริกอะไร ? กินประจำ ลดอัตราเสี่ยงโรคหลอดเลือด-ป้องกันโรคหัวใจ,อัมพาตได้


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เต๋มว่าพิกหลวง หมื่นปันห้าร้อย บ่เต้าพิกหน้อย ฟายมือ”

แปลว่า ถึงแม้ว่าจะมีพริกหยวกจำนวนหมื่น จำนวนพัน หรือห้าร้อยเม็ด ก็จะเผ็ดไม่เท่าความเผ็ดร้อนของพริกขี้หนูแค่กำมือเดียว

หมายความถึง อะไรก็ตามที่มีมากมายแต่ด้อยคุณภาพ จะสู้ของที่มีคุณภาพแต่มีน้อยไม่ได้

เข้าทำนองกองทัพทหารเลวเป็นกองพัน ก็มีอาจสู้ซูเปอร์ฮีโร่แบบ avenger ได้

หากจะเปรียบตามหลักวิทยาศาสตร์ ความเผ็ดของพริกเป็นเพราะในพริกมีสารตัวหนึ่งชื่อ capsaicin พริกทุกพันธุ์จะมีสารแคบไซซิน หากกินเข้าไปเราจะรู้สึกเผ็ดร้อน กระทั่งการสัมผัสก็จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองแสบร้อนผิว

เช่นเดียวกัน แคบไซซินในพริกพบมากในไส้ของพริก และพริกแต่ละชนิดจะมีความเผ็ดไม่เท่ากัน ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะมีแคบไซซินอยู่มากน้อยเท่าใด

ระดับความเผ็ดเดี๋ยวนี้สามารถวัดเป็น SHU (scoville heat) พริกที่มีแคบไซซินมาก เช่น พริกขี้หนูของเรา มีความเผ็ดประมาณ 30,000 SHU

ส่วนพริกบราซิล พริกเม็กซิกัน หรือพริกพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะเม็ดป่องๆ และมีก้นแหลมเปี๊ยบจะเผ็ดจัด และมีความเผ็ดมากกว่า ถึง 5 แสน – 2.2 ล้าน SHU เป็นต้น

ส่วนพริกที่ไม่ค่อยเผ็ดอย่างพริกหวาน หรือ bell pepper ของฝรั่งจะมีแคบไซซินอยู่น้อยมาก จนกินเป็นผักได้

ส่วนพริกหยวก พริกหนุ่มเป็นพริกที่เผ็ดน้อย เพราะปริมาณแคบไซซินมีไม่มาก

แคบไซซินนอกจากจะใช้เป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยขึ้น ยังมีผลต่อสุขภาพ กล่าวคือ

หากใช้เฉพาะที่ แคบไซซินจะกระตุ้นปลายประสาททำให้บรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น การใช้ขี้ผึ้งแคบไซซินถูทา ที่มีขายกันในบ้านเราอาจจะเรียกว่า “เจลพริก” มีประโยชน์ในการแก้คัน แก้ปวดกล้ามเนื้อ หรือแก้อาการปวดจากงูสวัดได้ดี

มีรายงานว่า แคบไซซินสามารถทำความสะอาดหลอดเลือด หากกินพริกป่นเป็นประจำ เช่น วันละ 2 ช้อนชาจะสามารถลดอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดลง ใช้ป้องกันโรคหัวใจหรืออัมพาตได้

นอกจากนี้ แคบไซซินยังมีผลต่อวัฏจักรของการใช้ไขมันและสะสมไขมันในร่างกาย

ดังนั้น กินพริกเป็นประจำอาจจะทำให้ไม่อ้วนได้ด้วย

และแน่นอนว่า แคบไซซินมีในพริกขี้หนูหรือ “พริกหน้อย” มากกว่าที่พบใน “พริกหลวง” หรือพริกหยวกมากมาย

ดังนั้น คำกล่าวของคนโบราณล้านนาก็ถูกต้องแล้วที่ว่า ถึงมีพริกหยวกหลายเม็ด อย่างไรเสียก็สู้พริกขี้หนูไม่กี่เม็ดไม่ได้