จดหมาย | ประจำวันที่ 1-7 กันยายน 2566 ฉบับที่ 2246

• ไม่ (อยาก) ให้โอกาส

โอกาสเป็นพิษ

ในอากาศ “ชีวิต” มีโอกาส

ในโอกาส ชีวิตมี “อำนาจ”

ใน “ชาติ – บ้านเมือง” มี “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

ในชีวิตมี “กฎแห่งกรรม”

2 คน 2 คม เร่งรีบ “โอกาส”

เกาะเกี่ยวอำนาจ – ข้ามขั้ว – มั่วดีล

กลับกลอกซ้ำซาก (ปากพร่ำถือศีล)

“เพื่อชาติแผ่นดินแลประชาชน”

2 คน 2 คม โหยหา “อากาศ”

กินแบ่งอำนาจ – อยุติธรรม

คนแต่ละคม (กลับลำ) ลึกล้ำ

ข้องบ่วงคะมำสู่ก้นบึ้ง…เหว…ลึก ฯ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

ดูเหมือน “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร”

จะมีคำตอบให้กับ “ผู้มาขอแบ่งอากาศหายใจ” แล้ว

คำตอบที่ไม่อยากแบ่งอากาศให้ (อีกแล้ว)

ด้วยรับไม่ได้กับการ “กลับกลอกซ้ำซาก (ปากพร่ำถือศีล)”

ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีความรู้สึกเหมือนกัน

นั่นคงเป็นภาระของ “2 คน 2 คม” ที่จะต้องรีบแก้ไข

และพิสูจน์ฝีมือ “รัฐบาลพิเศษ”

เพื่อกู้ศรัทธากลับคืนมาคืนสู่ประชาชนโดยเร็ว

• โอกาสให้ผู้สูญหาย

เนื่องในวันที่ระลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances)

ที่ตรงกับวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี

วันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหยื่อและครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID) ระบุว่า สำหรับประเทศไทย รายงานประจำปี 2565 มีผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณี

สูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

จึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

– เร่งรัดให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) โดยไม่มีข้อสงวนใดๆ

– พิจารณาให้สัตยาบันเเละอนุวัติการพิธีสารเลือกรับตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานเเละการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OP-CAT) เข้ามาเป็นกฎหมายภายในประเทศอย่างเร่งด่วน

ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงยุติธรรม

– เร่งรัดปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากกระบวนการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR) โดยเฉพาะการสืบสวนสอบสวนกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และรู้ตัวผู้กระทำผิด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกบังคับให้สูญหายภายในราชอาณาจักร หรือนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสิทธิในการทราบความจริงของครอบครัวเเละญาติ ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

– ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้ถูกกระทำให้สูญหาย ควรนำหลักการชี้แนะว่าด้วยการค้นหาผู้สูญหาย (Guiding Principle for the search for disappeared persons) ของคณะทำงานการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance) มาปรับใช้เป็นแนวทางในการสืบสวนสอบสวน

– ในการติดตามหาตัวผู้ถูกกระทำให้สูญหายที่เกิดก่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการทรมานเเละการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งญาติได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนสอบสวนไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ต้องรีบเร่งการสืบสวนสอบสวนด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ต้องแจ้งผลการสืบสวนสอบสวนและความคืบหน้าในการหาตัวผู้ถูกกระทำให้สูญหายแก่ญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบเป็นระยะ

– ระหว่างการสืบสวนเพื่อหาตัวผู้ถูกกระทำให้สูญหาย ควรให้มีการเยียวยาแก่ครอบครัวและญาติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวและญาติของบุคคลดังกล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

ถือเป็น การบ้าน

ที่ตั้งแท่นรอรัฐบาลใหม่-รัฐมนตรียุติธรรมใหม่

ซึ่งไม่รู้ว่า จะได้รับการเอาใจใส่แค่ไหน

เพราะดูเหมือน “รัฐบาลพิเศษ” จะวางน้ำหนักไปที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก

ส่วน รมต.ยุติธรรม

งานต้นๆ ที่รออยู่ คงเป็นเรื่องของ “คนที่เพิ่งได้กลับบ้าน”

กลับมาแล้ว จะมีการได้อภัยโทษ หรือไม่ อย่างไร

เหล่านี้เป็นงานด่วน

ที่รอ รมต.ยุติธรรมใหม่ ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร

ถือเป็น “ของร้อน” ที่รออยู่ •