จดหมาย

จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 30 มิ.ย.-6 ก.ค. 2566

 

• ในมหา’ลัย

ปาตานีโฟเบีย (Pataniphobia)

ความหวาดกลัวปาตานี เป็นสภาวะของอาการหวาดกลัวหรือหวั่นวิตกกังวลมากจนเกินไปต่อความเป็นปาตานีในด้านต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ด้านสังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอื่นๆ)

ซึ่งสภาวะดังกล่าวเป็นผลที่นำไปสู่การสร้างภาพให้ชาวปาตานีเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ

ส่วนใหญ่อาการเช่นนี้มักพบได้กับบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม

ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปาตานี เกิดมายาคติของการแบ่งแยกหรือความเป็นอื่น

เช่นเดียวกันกับปรากฏการณ์อิสลาโมโฟเปียที่ทำให้เกิดความเกียดชังชาวมุสลิมไปทั่วโลกหลังเหตุการณ์ 9/11

ที่จริงแล้วความหวาดกลัวปาตานีนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น

แต่สภาวะความหวาดกลัวเช่นนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเมื่อหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

สังคมไทยเกิดสภาวะปาตานีโฟเบียขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ได้จัดกิจกรรมงานเปิดตัวองค์กรของพวกเราในนาม “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ”

หรือที่ใช้ชื่อในภาษามลายูกลุ่มว่า Pelajar Bangsa เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดยภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมจัดทำประชามติจำลองสำรวจความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ที่จะให้ชาวปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย

จนนำพาให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน?

อาการหวั่นวิตกนี้จึงเป็นอาการโรคหวาดกลัวปาตานี หรือปาตานีโฟเปีย (Pataniphobia) ในที่สุด

ซึ่งคำว่า โฟเบีย (Phobia) ตามที่ระบุเอาไว้ในพจนานุกรมฉบับ Merriam-Webster Dictionary ได้ให้คำอธิบายความหมายเอาไว้ว่าคือความไม่ชอบหรือความกลัวจนเกินจริง

ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นความหวาดกลัวอย่างไม่สมเหตุสมผลต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการเฉพาะ โฟเปียจึงถือได้ว่าเป็นความกลัวที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพของสังคมด้วยเหมือนกัน

ข้อเสนอแนะบางประการ ในการขจัดโรคหวาดกลัวปาตานีหรือปาตานีโฟเปียอาจจะสามารถทำได้ดังนี้

เช่น การเปิดใจชวนกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนถกเถียงระหว่างกันอย่างอดทนอดกลั้น

โดยควรใช้หลักรัฐศาสตร์และสันติวิธีอย่างอดทนอดกลั่นมาเป็นธงนำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ไม่ด่วนสรุปและดำเนินคดีความทางกฎหมายโดยไม่รับฟังข้อเท็จจริง เป็นต้น

รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4

ยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี

กล่าวโทษกลุ่มนักศึกษา พรรคการเมือง นักการเมือง ภาคประชาสังคม

ในกรณีนี้แล้ว ด้วยข้อหาฉกรรจ์

ทั้งกระทำความผิดรัฐธรรมนูญต่อความมั่นคงของรัฐ หรือกบฏ

ยุยงปลุกปั่น อั้งยี่ซ่องโจร และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ดูจะสวนทางกับข้อเสนอของ “อาจารย์สามารถ” อย่างมาก

ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า

การเอาชนะสงครามความคิด

ด้วยการกวาด “ฝ่ายตรงข้าม” เข้าคุก

จะยุติปัญหาได้หรือไม่

หรือรุนแรงยิ่งขึ้น

• ในโรงเรียน

กรณี ‘หยก’ เยาวชนอายุ 15 ปีที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทางการศึกษา และสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของเด็กนักเรียนนั้น

โรงเรียนต่างๆ ควรคำนึงถึงหลักการสำคัญ “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

รวมถึงสิทธิด้านการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

อันเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่

มาตรา 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดว่า “ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก”

นอกจากนี้ มาตรา 28 ระบุว่า รัฐภาคีจะต้องจัดให้การศึกษาในระดับมัธยมศึกษา “แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน”

ส่วนหลักการว่าผู้เยาว์ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอมรับรองในการตัดสินใจ

มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเผชิญกับอันตราย หรือการถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบ

แต่ในกรณีของหยก การมอบตัวเข้าศึกษาต่อ นับว่าอยู่ในผลประโยชน์สูงสุดของเด็กโดยตรง ช่วยให้ได้รับสิทธิทางการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองทั้งภายใต้กฎหมายไทยและระหว่างประเทศ

โรงเรียนสามารถยึดหลักการอะลุ่มอล่วย อนุญาตให้ยืดหยุ่นกฎ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนที่พึงมีได้อย่างเต็มที่

ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย เกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน มองว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ว่า การที่เด็กออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กก็ได้กำหนดถึงประเด็นนี้ว่า กฎระเบียบของโรงเรียนต้องกำหนดขึ้นโดยสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก

เรื่องนี้จึงควรเป็นบทเรียนหรือจุดประกายให้สังคมทบทวนเรื่องกฎระเบียบที่มีอยู่ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

นี่ก็เช่นกัน

การขจัด “หยก” ออกจากโรงเรียน

อาจจะทำให้ความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นได้

แต่ปัญหาการศึกษาไทย

จะยุติหรือไม่

นี่คือคำถามใหญ่มหึมา •