บทพิสูจน์ ท่ามกลางสถานการณ์ ‘สุ่มเสี่ยง’

สังคมการเมืองไทยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนกำลังเดินทางไปยัง “จุดสุ่มเสี่ยง” ที่น่าเป็นห่วงและวิตกกังวล อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี แทนที่จะขับเคลื่อนสังคมกันด้วยอารมณ์โกรธอันร้อนแรง (ไม่ว่าจะโดยอารมณ์โกรธของฝ่ายไหน) แล้วถลำลึกลงไปในวงจรความขัดแย้งที่ไร้จุดสิ้นสุด แถมยังร้าวลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

อยากเชิญชวนให้ทุกท่านถอยห่างออกมาจากสถานการณ์ “ปะทะชน” ที่ดุเดือด และลองจินตนาการไปให้ไกลกว่านั้นว่า พวกเราจะสามารถก้าวข้ามผ่านสภาวะ “สุ่มเสี่ยง” เช่นนี้ ไปด้วยกันได้อย่างไร?

หรือถามอีกแบบคือ “สังคมการเมือง” ที่พึงปรารถนานั้น ควรมีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นใดกันแน่?

 

คําตอบในอุดมคติต่อคำถามข้างต้น ก็คือ เราต้องการ “สังคมการเมือง” ที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด-อุดมการณ์

แม้ในการดำเนินชีวิตจริงๆ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมีความแตกต่างทางความคิด อาจนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมที่ผิดกฎหมาย ในบางครั้ง ก้าวล้ำปทัสถาน-จารีตเฉพาะของสังคมนั้นๆ หรือล่วงละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ในบางคราว

ทว่า “สังคมการเมืองที่ดี” ต้องหลอมรวมความแตกต่างเหล่านั้นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

แม้ความแตกแยกไม่ลงรอยทางความคิดจะยังไม่หายไปไหน แต่ “สังคมการเมืองที่พึงประสงค์” จะต้องแสวงหาพื้นที่สนทนาอันปลอดภัยและกฎกติกาอันเหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มาปะทะสังสรรค์กัน โดยไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง จนมีผู้บาดเจ็บ-ล้มตาย

ความคิดความเชื่อประเภทหนึ่งที่ทำให้หลงทางกันมานักต่อนัก คือ ความคิดความเชื่อที่มองว่า เราจะต้อง “ขจัด-ทำลาย” ความผิดแผกแตกต่างที่ถูกนิยามเป็น “ภัยร้าย” ของบ้านเมือง (หรือจริงๆ คือความคิดที่แตกต่างจากคณะผู้มีอำนาจ) ออกไปจากสังคมให้สิ้นซาก

นี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เคยสะสางปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แถมยังก่อให้เกิดปัญหาชุดใหม่ๆ เนื่องจากความคิดที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ มิได้ดำรงอยู่ผ่านปัจเจกบุคคลคนใดคนหนึ่ง หรือผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสามารถทำลายล้างได้ด้วยการใช้ความรุนแรง หรือการนำ “ตัวปัญหา” ไปเก็บกักไว้ให้ปราศจากอิสรภาพ ด้วยกลไกทางกฎหมาย

แต่ความคิดเหล่านี้คือสภาวะนามธรรมที่ซึมลึกแพร่กระจายอยู่ในอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำของผู้คน ที่ส่งผ่านส่งต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ แถมยังวิวัฒน์-คลี่คลายรูปแบบได้ด้วย

ต้องขอสารภาพว่า เมื่อได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ส.ส.จำนวนมาก ยังมีวิธีคิดในการแก้ไขความขัดแย้ง ด้วยการซ้ำเติมปัญหาหรือนำพาประเทศไปสู่ทางตันทำนองนี้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่พึงระมัดระวัง คือ เราไม่ควรตื่นตกใจกับความขัดแย้งที่ “ระเบิดปะทุ” ขึ้น เพียงปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง ปรากฏการณ์เดียว

แต่เราคงต้องร่วมกันวิเคราะห์ “ความเป็นจริงในสังคม” อย่างสงบนิ่ง เยือกเย็น และรอบด้านว่า ปัจจัยใดบ้างที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น และอีกหลายปรากฏการณ์ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน?

รวมทั้งต้องสำรวจตรวจสอบและพิเคราะห์ปัจจุบันกับอนาคตให้แน่ชัดว่า ผู้คน (แต่ละกลุ่ม/ชนชั้น/รุ่นอายุ/ภูมิภาค) ในสังคมไทยร่วมสมัย นั้นมีความเห็น-จุดยืนอย่างไรบ้าง? ต่อปรากฏการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว

เพื่อจะได้ค้นหาทางออกที่สอดคล้องกับ “ความปรารถนาร่วม” ของพวกเขาและเธอ

อย่าเพิ่งเอนเอียงไปตามทฤษฎีสมคบคิด, ความเชื่อที่เชื่อต่อๆ กันมา หรือความปรารถนาดีอันแรงกล้า ที่หลุดลอยออกจากรากฐานจริงๆ ของสังคมโดยสิ้นเชิง

ไม่ว่าจะมีจุดยืนแบบไหน ท่ามกลางสถานการณ์ “สุ่มเสี่ยง” ที่บังเกิดขึ้น อยากให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ และพยายามทำทุกอย่างด้วยความเชื่อว่า พวกเราทุกคนสามารถมี “สังคมการเมือง” ที่ดีและเปิดกว้างกว่านี้ได้

เป็น “สังคมการเมือง” ที่ยึดโยงทุกคนเข้าด้วยกัน มิใช่ “สังคมการเมือง” สำหรับบางคน “สังคมการเมือง” ที่หาหนทางกีดกั้นสมาชิกบางส่วนออกไป

“สังคมการเมือง” ที่เต็มไปด้วยความเปราะบางและแตกสลายลงได้ทุกเมื่อ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน