‘ประเพณี’ ไม่เท่ากับ ‘ขบวนการ’?

ในความเข้าใจโดยทั่วไป “ประเพณี” หรืออาจเรียกรวมๆ ยาวๆ ได้ว่า “ขนบธรรมเนียมประเพณี” ย่อมหมายถึง “วัฒนธรรม” อันมีความเก่าแก่ และดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องมายาวนาน

อย่างไรก็ดี หลายคนย่อมตระหนักต่อไปได้อีกว่า “ประเพณี” นั้นไม่สามารถตั้งมั่นอยู่อย่างแน่นิ่ง หากต้องมีพัฒนาการหรือพลวัต เช่นเดียวกับประดิษฐกรรมอื่นๆ ของสังคมมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถพบเห็น “วัฒนธรรมประเพณี” ที่ได้รับการสืบสานต่อยอดมาเรื่อยๆ อย่างข้ามยุคข้ามสมัย แล้วก็มี “วัฒนธรรมประเพณี” บางชุด ที่อาจหลุดหายออกไปจากความทรงจำของสังคมและการดำเนินชีวิตของผู้คนยุคหลัง ตามความผันแปรของกาลเวลา

คำถามประการถัดมาที่น่าสนใจไม่แพ้กันมีอยู่ว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่มีคุณลักษณะเพียบพร้อมเพียงพอ กระทั่งสามารถได้รับการคัดเลือก-คัดสรรให้กลายเป็น “ประเพณี” ของสังคมหนึ่งๆ?

 

ในยุคสมัยปัจจุบัน คำอย่าง “ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม” ดูจะเป็นวิธีคิดหรือตรรกะความเชื่อมโยงที่มีปัญหาอยู่ไม่น้อย เพราะทุกคนต่างก็รับทราบว่า “ขนบธรรมเนียมประเพณี” อาจไม่จำเป็นจะต้องมีลักษณะ “ดีงาม” เสมอไป

“วัฒนธรรม” ที่มีสถานะเป็น “ประเพณี” เป็นได้ทั้ง “สิ่งที่ดีงาม” ตราบถึงปัจจุบัน, “สิ่งที่ไม่ค่อยดีงาม” หากประเมินด้วยคุณค่าบรรทัดฐานของสังคมสมัยใหม่ หรือ “สิ่งที่เคย (ถูกตีตราว่า) ไม่ดีงาม” ในยุคสมัยหนึ่ง ทว่า กลับได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา

ดังนั้น “ความดีงาม” จึงไม่ใช่มาตรวัดสำคัญที่สุด ที่จะตัดสินว่าอะไรควรมีคุณค่าเป็น “ประเพณี”

ด้านหนึ่ง “ประเพณี” บางประเภท อาจเป็น “วัฒนธรรมเฉพาะ” หรือ “วัฒนธรรมที่แทบจะหายสาบสูญ” ไปแล้ว ซึ่งผู้รู้-ผู้มีอำนาจ มีความเห็นว่าสมควรอนุรักษ์เก็บรักษาเอาไว้เป็นมรดกของสังคมหรือประเทศชาติ ถึงแม้ “ประเพณี” เหล่านี้ จะไม่เป็นที่รู้จักของคนวงกว้างมากนัก

แต่โดยส่วนใหญ่ “ประเพณี” ของยุคสมัยหนึ่งๆ มักได้รับการคัดสรรมาจาก “วัฒนธรรม” วิถีปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ ที่แพร่กระจายซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง อยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันของสามัญชนจำนวนมาก ณ ห้วงเวลานั้นๆ

มาตรวัดสำคัญว่า “วัฒนธรรม” แบบไหน ควรถูกยกระดับขึ้นเป็น “ประเพณี” จึงพิจารณากันจากการยอมรับหรือความยินยอมพร้อมใจของผู้คนทั้งหลายในสังคม ซึ่งแสดงออกผ่านการนำ “วัฒนธรรมประเพณี” ดังกล่าว ไปปฏิบัติโดยต่อเนื่อง ตลอดจนสมาทานเป็นความคิดความเชื่อหลัก หรืออุดมการณ์ของตนเองและพวกพ้อง

 

โดยนัยยะความหมายและคำอธิบายเช่นนี้ “วัฒนธรรม” ที่มีความสืบเนื่องบางชุด ซึ่งเคยถูกประเมินสถานะว่าเป็นแค่ “ขบวนการ” (ของผู้คนและความคิด) ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ “ด้านลบ” อันเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ประเพณีเดิม” จึงมีศักยภาพที่จะวิวัฒน์กลายมาเป็น “ประเพณี (ใหม่)” ของสังคมได้เหมือนกัน

หากแบบแผนพฤติกรรม-วิธีคิด ที่มีความต่อเนื่องดังกล่าว ค่อยๆ ซึมซับลงสู่วิถีชีวิต-ความเชื่อของผู้คนจำนวนมหาศาลอย่างทั่วถึง

และเอาเข้าจริง “วัฒนธรรม” ทั้งหลาย ที่กอปรขึ้นเป็น “ประเพณี” ณ ยุคสมัยหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป แต่สามารถเป็นแหล่งรวบรวม “คุณค่าสำคัญๆ” ของสังคมในเวลานั้น แม้ว่า “วัฒนธรรม/คุณค่า” ที่ได้รับการคัดสรรเข้ามาเป็น “ประเพณี” อาจมีลักษณะขัดแย้ง-ไม่ลงรอยกันบ้างก็ตาม

นี่คือภาระ-หน้าที่-พันธกิจของผู้รู้-ผู้มีอำนาจทั้งมวล ในกระบวนการ “คัดสรรประเพณี” ที่จะต้องผนวกรวม “วัฒนธรรม/คุณค่า” เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน

ด้วยความเชื่อว่า สังคมหนึ่งๆ สามารถโอบรับ “ความเห็นต่าง” ที่จะมาปะทะสังสรรค์กันในปริมณฑลสาธารณะต่างๆ เช่น พื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ทางวิชาการ หรือพื้นที่ทางศิลปะ ฯลฯ ภายใต้ระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมและมีบรรทัดฐานมั่นคงแน่ชัด

 

การผลักไส/แบ่งแยก/กีดกัน “วัฒนธรรม” ชุดหนึ่ง ออกไปเป็น “ขบวนการขบถ” อันเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ประเพณี” โดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ผู้ยึดมั่นใน “วัฒนธรรม” ชุดนั้น ยังมิได้ลงมือละเมิดทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของใคร แต่อาจเป็นได้มากที่สุดเพียงแค่ “นักโทษทางความคิด” ซึ่งมีจุดยืนไม่สอดคล้องต้องตรงกับผู้มีอำนาจ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง จึงเป็นการตัดสินใจที่ไม่น่า “เป็นคุณ” ต่อสังคมในระยะยาว

มิหนำซ้ำ ยังเป็นการบีบทางเลือกของสังคมให้แคบเรียวลง และลดทอนประสิทธิภาพในการปรับตัวของสังคมให้มีความยืดหยุ่นน้อยลง

ที่น่าวิตกกังวลมากกว่านั้น คือ หากเชื่อมั่นว่า “ประเพณี” ของสังคมในยุคสมัยหนึ่ง ไม่มีทางหลอมรวมผสมผสานเข้ากับ “ความเป็นอื่น” ที่ถูกแปะป้ายเป็น “ขบวนการอันเป็นปรปักษ์” ได้เลย

แล้วเมื่อเวลาผ่านไป สังคมและความคิดของผู้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยากย้อนกลับ กระทั่งสิ่งที่เคยเป็น “ขบวนการอันแปลกแยก” ถูกยกระดับขึ้นเป็น “ประเพณี” ในท้ายที่สุด

วิธีคิดแบบแบ่งขั้วแยกข้างเด็ดขาดทำนองนี้ ก็ย่อม “ให้โทษ” ต่อ “ประเพณีเดิม” ที่อาจยังมีคุณค่าเฉพาะต่อคนบางกลุ่มในสังคม ได้ไม่ต่างกัน •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน