นิทาน 3 เรื่อง จากร้านอาหารแห่งหนึ่ง

สัปดาห์นี้ ขออนุญาตเล่านิทานสามเรื่องที่มีฉากหลังเป็นร้านอาหารแห่งหนึ่ง (ใครจะอ่านอย่างจริงจังเอาเรื่องหรืออ่านเล่นเอาเพลินแบบผ่านๆ ก็สุดแล้วแต่วินิจฉัยและรสนิยมของแต่ละท่าน)

“นิทานเรื่องแรก” เริ่มต้นขึ้นหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ระหว่างมีกระบวนการพยายามจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล”

ค่ำวันหนึ่ง นักการเมืองหญิงมือเศรษฐกิจและนักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ (ผู้เคยเป็นสมาชิก “ยังบลัด” ของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีขนาดเล็กลงทุกวัน) ได้เข้ามากินอาหารค่ำในร้านอาหารแห่งนี้ โดยมีหลายๆ สายตาของผู้ใช้บริการรายอื่นๆ ที่จับจ้องมายัง “อนาคตของประเทศ”

วันนั้น ดูเหมือนจะมีพนักงานในร้านจำนวนไม่น้อยที่อยากเข้ามาขอถ่ายรูปกับนักการเมืองคู่นี้เป็นที่ระลึก ทว่า ทั้งหมดกลับมีท่าทีกล้าๆ กลัวๆ แบบน่าประหลาดใจ

กระทั่งเมื่อทั้งคู่ใกล้จะเดินออกจากร้านหลังรับประทานอาหารเสร็จ พนักงานเหล่านั้นก็ยังแสดงกิริยาอาการรีๆ รอๆ เช่นเดิม

แล้วก็มีเสียงพนักงานคนหนึ่งตะโกนเตือน (ตัวเองและเพื่อนคนอื่นๆ รวมถึงชี้แจงจุดยืนต่อสาธารณชน) ขึ้นมาว่า “กฎของร้านห้ามพนักงานถ่ายรูปกับแขก!”

ไกลออกไปหน่อย “เจ๊เจ้าของร้านอาหาร” ที่นั่งบัญชาการอยู่ตรงโต๊ะประจำ กำลังจับตามองสถานการณ์ดังกล่าวอยู่อย่างค่อนข้างตึงเครียด

เป็นอันว่า สุดท้ายจึงไม่มีพนักงานรายไหนหาญกล้าเข้าไปถ่ายรูปกับนักการเมืองหนุ่มสาวของพรรคก้าวไกล

 

“นิทานเรื่องที่สอง” เกิดขึ้นราวๆ กลางเดือนตุลาคมปีก่อน เป็นห้วงเวลาหลังจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันถือกำเนิด และเพื่อไทยกับก้าวไกล “หย่าร้าง” ทางการเมืองกันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว

วันนั้น บรรดากรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ได้เข้ามาใช้บริการร้านอาหารแห่งเดิม จนถึงเวลาที่ร้านปิดบริการ

ระหว่างที่ทั้งหมดจะเดินออกจากร้าน ซึ่งปิดไฟลงเกือบหมด และไม่เหลือแขกโต๊ะอื่นๆ แล้ว จู่ๆ ก็มีพนักงานประมาณสิบกว่าคน กรูกันเข้ามาขอถ่ายรูปกับประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่งเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“พวกผมยังไม่กลับบ้าน เพราะรอเจออาจารย์อยู่ เอาให้เต็มที่สุดสุดไปเลยนะอาจารย์” พนักงานผู้ชายคนหนึ่งเอ่ย

เป็นนักการเมืองคู่สนทนาต่างหากที่พยายามลดทอนอุณหภูมิเดือดๆ ลง ด้วยคำกล่าวที่ว่า “ก็ต้องสู้แบบค่อยเป็นค่อยไปครับ”

จิ้งจกหรือภูตผีวิญญาณที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ คาดเดาว่า การบังคับใช้กฎ “ห้ามพนักงานถ่ายรูปกับแขก” ได้เสื่อมมนต์ขลังลงชั่วครู่ชั่วคราว เนื่องจาก “เจ๊เจ้าของร้าน” กลับบ้านไปก่อนหน้านั้นแล้ว

 

“นิทานเรื่องที่สาม” เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ หลังปีใหม่ 2567 (แต่ก่อนวันที่ 24 และ 31 มกราคม) เมื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลเข้ามากินมื้อค่ำที่ร้านอาหารแห่งนี้

เรื่องน่าแปลกใจคือ หลังพวกเขารับประทานอาหารเสร็จและกำลังจะเดินทางออกจากร้าน นอกจากจะมีแขกผู้ใช้บริการคนอื่นๆ เข้ามาขอถ่ายรูปกับแคนดิเดตนายกฯ อย่างแน่นขนัดแล้ว พนักงานที่เหลืออยู่ในร้านแทบทั้งหมดก็ปรี่เข้ามาถ่ายรูปกับผู้นำหนุ่มเป็นที่ระลึกด้วย

จนมีพนักงานคนหนึ่งเปรยขึ้นว่า “โห ร้านเราก้าวไกลหมดเลยมั้งเนี่ย?”

ถ้าเชื่อตามสมมุติฐานของพวกจิ้งจกหรือภูตผีวิญญาณใน “นิทานเรื่องที่สอง” หลายคนคงคาดเดาทึกทักต่อว่า ปรากฏการณ์ “ละเมิดกฎ” ทำนองนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ “เจ๊เจ้าของร้าน” ไม่ได้นั่งบัญชาการอยู่ตรงโต๊ะประจำตัวเก่า หรือ “เจ๊” ไม่อยู่ร้านพอดี

แต่เรื่องที่ผิดคาดกว่า ก็คือ เมื่อหันมองไปตรงโต๊ะบัญชาการ “เจ๊” กลับยังนั่งอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม แถมอมยิ้มนิดๆ ด้วย

แล้วพอแคนดิเดตนายกฯ เดินผ่านโต๊ะดังกล่าว “เจ๊” ก็เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงหวานๆ ว่า “ขอบคุณมากนะคะ”

 

นิทานทั้งสามเรื่องข้างต้น ไม่มีบทสรุปในลักษณะ “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…”

แต่เรื่องเล่าทั้งหมดล้วนสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศ-พลวัตบางอย่าง ซึ่งค่อยๆ คลี่คลายไปพร้อมกับวิธีคิด-วิถีปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยของเหล่าสามัญชนคนธรรมดาในสังคมนี้

นี่คือเรื่องราวของโลกอีกใบ ซึ่งดำรงอยู่อย่างคู่ขนาน-เหลื่อมซ้อนกับโลกของชนชั้นนำ โลกของผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือโลกของการทำนิติสงคราม •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน