‘ซอฟต์เพาเวอร์’ : ‘แก้ปัญหาเก่า’ หรือ ‘หาโอกาสใหม่’?

ช่วงเริ่มต้นจัดตั้ง “รัฐบาลเศรษฐา-เพื่อไทย” มีโอกาสได้สนทนากับ “หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” มือทำงานของซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที

แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจและรู้สึกว่าน่าสนใจมาก ก็คือ ประเด็นที่หมอเลี้ยบย้ำว่าจุดแข็งของ “นโยบายซอฟต์เพาเวอร์” นั้น ไม่ใช่การต้องเข้าไปแก้ไขสะสางปัญหาเก่าๆ ที่มีอยู่แต่เดิม หากเป็น “การสร้างโอกาส” ขึ้นมาใหม่

พิจารณาในแง่นี้ “ซอฟต์เพาเวอร์” ของรัฐบาลเพื่อไทย จึงมีแต่ด้านบวกขึ้น ไม่มีจุดลบ และไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง (เรื่องรบรา) ใดๆ ในห้วงตั้งไข่นโยบาย

พอฟังหมอเลี้ยบพูดแบบนั้น จึงมีความหวังว่า เราจะมีโอกาสได้เห็น ได้ยิน ได้อ่าน ได้สัมผัสจินตนาการ หรือพลังความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่หายไปจากสังคมไทยมาเนิ่นนาน พร้อมๆ กับการปรากฏขึ้นของรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมือง ความอยุติธรรมต่างๆ นานาในสังคม ตลอดจนการผูกขาดทางเศรษฐกิจ

ทว่า ยิ่งเวลาผ่านไป ภาพรวมของ “ซอฟต์เพาเวอร์แบบเพื่อไทย” กลับยิ่งดูบิดเบี้ยว พร่าเลือน เป๋ไปบิดมา

ผ่านการเคลมใหญ่ๆ ว่าอะไรๆ ก็เป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ไปหมด หรือข่าวพาดหัวเรื่อง “สงกรานต์ทั้งเดือน” (ที่ต้องมีการอธิบายขยายความเพิ่มเติมตามมา)

งานส่วนที่คืบหน้าไปบ้าง คือ การรับฟังปัญหาและการเสนอแนวทางแก้ไขข้อติดขัดจากตัวแทนบุคลากรของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคส่วนต่างๆ (กลายเป็นว่างานที่เดินหน้าก็ยังเน้นไปตรง “กระบวนการแก้ปัญหา” เป็นหลัก)

ส่วนที่ยังไม่ชัดเจนต่อไปเรื่อยๆ คือ การเพิ่มศักยภาพการผลิตและช่องทางในการสร้างรายได้ของประชากรจำนวนมาก ซึ่งเคยถูกโฆษณาผ่านคำขวัญ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์”

ยิ่งพอมีตัวเลข “งบประมาณซอฟต์เพาเวอร์” กว่า 5 พันล้านบาท ถูกเผยแพร่ออกมา เสียงวิจารณ์ก็ยิ่งเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย

เช่น ตัวเลขงบประมาณส่วนอุตสาหกรรมเฟสติวัลที่มีตัวเลขเกิน 1 พันล้านบาท

คำถามว่างบฯ สนับสนุนเฟสติวัล เยอะไปไหม? อาจไม่สำคัญเท่ากับคำถามว่า เราจะจัดเฟสติวัลไปทำไม? และเราจะได้อะไรจากการจัดเฟสติวัล?

คำตอบที่สังคมไทยพึงคาดหวัง คือ เฟสติวัลที่ใช้งบประมาณภาครัฐหลักพันล้านบาท จะก่อให้เกิด “อาชีพใหม่” อย่างยั่งยืนพอสมควร รวมถึงการนำพาผู้คนไปสู่วิธีคิด จินตนาการ และพลังสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ

นอกจากนั้น ทุกคนยังเข้าใจตรงกันว่า “เฟสติวัล” คือ เทศกาลรื่นเริงชั่วครั้งคราว ที่ต่อให้จะถูกขยายเวลายาวออกไปทั้งเดือน วาระพิเศษดังกล่าวก็จะต้องไม่กระทบกับชีวิตประจำวันอันเป็นปกติของผู้คนธรรมดาสามัญ และไม่กระทบใครที่หาเช้ากินค่ำ

และแน่นอนว่า เฟสติวัลที่จัดขึ้นโดยภาครัฐ ย่อมมี “ช่องว่าง” ในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างบังเกิดขึ้นได้ รัฐบาลจึงควรจะหาทางป้องกันปัญหาทำนองนี้ล่วงหน้า

 

ซอฟต์เพาเวอร์อีกประเภทที่เพิ่งตกเป็นประเด็นถกเถียงเมื่อเร็วๆ นี้ คือ “อุตสาหกรรมหนังสือ” ที่ได้รับ (หรือขอ) งบประมาณสนับสนุนน้อยที่สุด และมีแผนใช้จ่ายไปกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก

จนมีคนในอุตสาหกรรมออกมาวิจารณ์ตัวเลขและแผนการใช้งบฯ ข้างต้น และมีตัวแทนคณะอนุกรรมการสาขานี้ในซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ ออกมาชี้แจงอย่างเป็นระบบ

เท่าที่ติดตามวิวาทะที่เกิดขึ้น ขออนุญาตตั้งข้อสังเกต ด้วยความเป็นห่วงอย่างเอาใจช่วย ดังนี้

ข้อแรก คงต้องย้อนกลับไปอ้างอิงแนวคิดตั้งต้นของหมอเลี้ยบ ว่านโยบาย “ซอฟต์เพาเวอร์” เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ มากกว่าการแก้ปัญหาเก่าๆ

แต่ท้ายสุด เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำงานกันจริงๆ คนทำงานก็ยังมักไปเริ่มต้นที่ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ก่อนเสมอ แทนที่สังคมจะได้รู้สึกว้าว! หรือตื่นเต้นกับไอเดีย-ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในทันที

การให้ความสำคัญหรือเน้นหนักกับตัวปัญหา อาจผูกมัดเราไว้กับลักษณะการทำงานที่มีความเป็น “ระบบราชการ” (bureaucratic) อย่างเข้มข้น

คำว่า “ระบบราชการ” นี้ มิได้หมายถึงการทำงานแบบ “ข้าราชการ” หากยังหมายถึงการหมกมุ่นครุ่นคิดกับความคุ้นชินเก่าๆ และโครงสร้างระเบียบแบบเดิมๆ

แม้มิอาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายหยิบยกขึ้นมานั้น “มีอยู่จริง” แต่ถ้าจะเริ่มทำงานด้วยการคิดถึงปัญหา

“ปัญหา” ที่เราพยายามพุ่งชน อาจต้องเป็นประเด็นท้าทาย ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อความคิด-ความรู้ของผู้คนในอนาคต เช่น การเถียงกันเรื่องแนวทางการสนับสนุนกระบวนการแปลหนังสือภาษาไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ และการแปลหนังสือสำคัญๆ ในภาษาต่างประเทศ มาสู่โลกภาษาไทย

มากกว่าจะเป็นปัญหาที่ต้องแก้กันด้วยการจัดตั้งหน่วยงาน การก่อสร้างอาคาร และการสนับสนุนอีเวนต์เท่านั้น

 

ยังมีปัญหา-คำถามอีกหลายข้อที่คนทำงานซอฟต์เพาเวอร์ด้านหนังสือสามารถช่วยกันขบคิด สำรวจ และวิพากษ์ได้

เช่น คนรุ่นใหม่อ่านอะไร? อ่านอย่างไร? (ไม่ใช่แค่พวกเขาอ่านเยอะเท่าไหร่?) พวกเขายังสนใจอ่านหนังสือแนวสังคม-การเมืองหนักๆ มากจริงหรือ? (หรือว่ากระแสนี้มันจางหายไปแล้ว?) หรือจริงไหม ที่คนหนุ่มสาวรุ่นนี้มีทักษะการอ่าน เขียน จับใจความ ที่แย่ลง?

ผ่านมุมมองที่ไม่ใช่การประเมินด้วยสายตาคนแก่ ที่มองคนรุ่นหลังแย่กว่าตนเองไปหมด แต่เป็นการวิเคราะห์อย่าง “เลือดเย็น” ว่าคนรุ่นหนึ่งๆ ย่อมมีจุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเอง เช่น คนรุ่นใหม่ตอนนี้อาจ “ตาสว่าง” เรื่องสังคม-การเมือง ทว่า รูปแบบการรับสื่อที่เปลี่ยนไป กลับส่งผลให้ความสามารถบางด้านของพวกเขาอ่อนด้อยกว่าคนรุ่นก่อน

เหมือนกับที่คนรุ่นที่เติบโตในทศวรรษ 2520-2540 ก็มีข้อด้อยหลายอย่าง เช่น มีความขลาดเขลาทางการเมือง และมีทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนและหลังพวกตน

เรื่องน่าสังเกตอีกประการ คือ ซูเปอร์บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลยังจำแนกแยกแยะอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคส่วนต่างๆ ด้วยความคุ้นเคยเดิมๆ เช่น หนังสือ เกม ภาพยนตร์-ซีรีส์ ดนตรี เฟสติวัล ฯลฯ

แต่หากมองไปที่ความเป็นจริงในปัจจุบัน เราจะพบว่าข้อมูลความรู้แหล่งหนึ่ง ที่ทั้งเด็ก วัยรุ่น คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ต่างนิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวางแพร่หลาย (โดยคอนเทนต์แนวนี้สามารถพาพวกเขาและเธอออกไปเรียนรู้โลกกว้าง ข้ามพรมแดน ข้ามกาลเวลา ได้อย่างน่าทึ่ง) ก็คือ คลิปของยูทูบเบอร์-อินฟลูเอนเซอร์หลายราย

ถามว่า “อุตสาหกรรมความรู้” แขนงนี้ ควรถูกจัดอยู่ใน “ซอฟต์เพาเวอร์” ประเภทใดในสายตาซูเปอร์บอร์ดฯ และรัฐบาล (หนังสือหรือภาพยนตร์-ซีรีส์?)

นี่คือกรณีศึกษาที่คนทำงานด้านซอฟต์เพาเวอร์พึงใส่ใจเยอะๆ พอๆ กับการใช้งบประมาณไปกับงานรูทีน •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน