มนตราของ ‘งานดนตรี’

โดยส่วนตัว ผมเห็นคล้อยตามกับโพสต์ในเฟซบุ๊กของ “อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล” ที่เขียนขึ้นหลังเจ้าตัวเข้าไปชมคอนเสิร์ตใหญ่ของ “คาราบาว” เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทำนองว่า ในหลายครั้ง เราควรแยกเรื่องรสนิยมด้านความบันเทิง-วัฒนธรรม-สันทนาการ ออกจากประเด็นจุดยืน-บทบาท-การแสดงออกทางการเมือง

ด้วยความรู้สึกว่า ถ้าเรานำเอาสองสิ่งข้างต้นมาปะปนซ้อนทับเป็นเนื้อเดียวกันในทุกเวลา ทุกพื้นที่ ทุกกาละ ทุกเทศะ ชีวิตมันคงเครียดตายเลย

หลายปีก่อน เคยมีเพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า วงดนตรีวงหนึ่งที่ผมเอ่ยถึงอยู่บ่อยๆ นั้นเป็น “สลิ่ม” หรือไม่?

ความคิดแว้บแรกของผม (แต่ไม่ได้พูด/พิมพ์กลับไป) ก็คือ นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ แต่ในฐานะคนฟังเพลง นี่อาจไม่ได้เป็นคำถามสำคัญหรือจำเป็นมากๆ ที่เราเร่งต้องแสวงหาคำตอบ

ส่วนคำตอบที่ผมตอบกลับไปอย่างเป็นทางการ (แต่ไม่ตรงไปตรงมานัก) ก็คือ การถามว่า “วงดนตรี” วงหนึ่งเป็น “สลิ่ม” หรือไม่? มันตอบยากนะ เพราะวงดนตรีไม่ว่าวงไหนล้วนมีสมาชิกมากกว่าหนึ่งคน บางวงสมาชิกอาจเกินหลัก 5-6 คนด้วยซ้ำ ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำ คือ การไปสืบค้น-พูดคุยอย่างละเอียดว่าสมาชิกแต่ละรายของวงมีความคิดทางสังคมการเมืองแบบไหน

ในหลายวง อาจมีทั้งสมาชิกที่เป็น “สลิ่ม” แล้วก็มีสมาชิกที่มี “ความคิดก้าวหน้า” อย่างยิ่งก็ได้ ไม่นับรวมว่าในตัวตนของคนคนหนึ่ง บางคนอาจเคยล้าหลังมาก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นฝ่ายก้าวหน้า หรือบางคนอาจจะเคยดูก้าวหน้าแต่กลับค่อยๆ ล้าหลังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกาลเวลาผันผ่านไป

นี่คือตัวอย่างของความชุลมุนวุ่นวาย หากเรานำเอาเรื่องความบันเทิงไปทาบทับกับเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองแบบแนบสนิท และไม่ยอมเปิดให้มีช่องว่างหรือรูระบายใดๆ เลย

แล้วปลายทางสุดท้ายของการยืนกรานไม่ยอมแบ่งแยกเรื่องบันเทิง-วัฒนธรรมออกจากการเมืองอย่างหัวเด็ดตีนขาด ก็คงจะเป็นการมี “บิ๊กบราเธอร์” แบบนิยาย “1984” หรือไม่ก็เป็นการมี “เรดการ์ด” แบบยุค “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในจีน

 

สุดสัปดาห์ที่แล้ว มีโอกาสไปเดินเล่นในงาน “ดนตรีในสวน” ชื่อ “FFED Retro” ที่จัดขึ้นตรงสนามหญ้าด้านหลังมิวเซียมสยาม ซึ่งมีธีมงานเป็นการพาผู้ชมคนฟังย้อนกลับไปสัมผัสกับบรรยากาศของวงการเพลงไทยยุค 80-90

ผ่านการแสดงสดของ “ทีโบน อรูทสติก”, “วิยะดา โกมารกุล ณ นคร”, “เบิร์ดกะฮาร์ท”, “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” และ “ธีร์ ไชยเดช”

ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่มีกิจกรรมดนตรีหลากรูปแบบหลายกลุ่มเป้าหมายถูกจัดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เทศกาลดนตรีสำหรับวัยรุ่นบริเวณสนามศุภชลาศัย ไปจนถึงคอนเสิร์ตใหญ่ของ “พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์”

นอกจากการปลาบปลื้มดื่มด่ำกับเสียงเพลงที่ร้องบรรเลงโดยศิลปินคน/วงโปรดแล้ว “งานดนตรี” ยังมอบโอกาส-ความเป็นไปได้ใหม่ๆ หรือสร้างพื้นที่เฉพาะพิเศษอะไร ให้แก่ผู้คนในสังคมบ้าง?

“ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ในงานดนตรีในสวน “FFED Retro”

มนตราแรกของ “งานดนตรี” คือ ทุกคนแทบจะเข้าใจหรือตระหนักรู้ได้ตรงกันว่า ในงานดนตรีหนึ่งๆ ไม่ว่าจะมีผู้ชมหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสนคน มวลชน/ฝูงชนเหล่านั้นย่อมมีความเชื่อความคิดทางสังคมการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย

ไม่มีทางที่ผู้ชมคนฟังดนตรีในแต่ละงานจะมีความคิดทางสังคม-การเมืองตรงกันเป๊ะๆ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะ “งานดนตรี” ไม่ใช่ “เวทีม็อบ” ไม่ใช่ “เวทีปราศรัยพรรคการเมือง” แล้วก็ไม่ใช่ “โรงงานอุตสาหกรรม” ด้วย

มนตราถัดมา คือ แม้ไม่จำเป็นต้องมีความคิดทางสังคมการเมืองเหมือนกัน แต่จุดร่วมของผู้ชมคนฟังในทุกๆ “งานดนตรี” ก็ได้แก่ ความชื่นชอบในบทเพลงหรือความชื่นชมต่อตัวศิลปิน ที่คล้ายคลึงกัน

ถ้าถามว่า ผู้ชมใน “งานดนตรี” เป็น “คนเท่ากัน” หรือไม่? เรื่องนี้ไม่มีใครกล้ายืนยันคำตอบได้

แต่อย่างไรเสีย แนวโน้มที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาโดยส่วนใหญ่ ก็คือ ท้ายสุด ผู้ชม/คนฟังทั้งหมดจะค่อยๆ กลืนกลายเข้าไปเป็นหนึ่งในพลังเล็กๆ ของมวลชน-ฝูงชนอันไพศาล และมีศิลปินเป็นจุดโฟกัสหรือจุดศูนย์กลางเดียวของงาน

มนตราอีกประการ ก็คือ รสนิยมเรื่องวัฒนธรรม-ความบันเทิงที่เหมือนกัน อาจนำไปสู่การสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ในสิ่งที่เราสนใจหรือนิยมชมชอบร่วมกันได้ (ในฮอลล์คอนเสิร์ตอาจยากหน่อย แต่ “งานดนตรีในสวน” เปิดโอกาสให้บรรยากาศแบบนี้)

นี่เป็นบทสนทนาที่ค่อนข้าง “จริงใจ” เพราะมาจากพื้นฐานความรัก-ความชอบคล้ายๆ กัน ไม่ใช่มารยาททางสังคมที่ต้องเสแสร้งแกล้งทำ หรือการต้องคำนึงถึงสถานะทางสังคมอย่างเคร่งครัด และไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่ปริมณฑลความขัดแย้งอื่นๆ

 

พิจารณาในแง่มุมนี้ “งานดนตรี” จึงอาจเป็นได้ทั้ง “โลกเฉพาะใบเล็กๆ” ที่ดำรงอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ซึ่งเปิดประตูให้ผู้คนได้หลีกหนีจากความจริงอันสลับซับซ้อนแสนวุ่นวาย มาพักผ่อนหย่อนใจระยะสั้นๆ ในพื้นที่พิเศษแห่งนี้

หรืออาจเป็นจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์แบบใหม่ๆ การได้รู้จักผู้คนกลุ่มใหม่ๆ การเข้าถึงความรู้และอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ในสังคม (บางคนอาจนิยามให้เป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ด้วยซ้ำ) •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน