สองนัยยะสำคัญจากผลโพล ‘รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?’

หลังจากสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านมาตลอดเดือนตุลาคม 2566 ในที่สุด โพล “มติชนxเดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ก็ได้สรุปผลเบื้องต้นออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในภาพรวม จากผู้ตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้นเกือบ 4.3 หมื่นราย มีอยู่ 60.2 เปอร์เซ็นต์ ที่คิดว่ารัฐบาลชุดนี้ควร “เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง” และ 39.8 เปอร์เซ็นต์ คิดว่ารัฐบาลควร “เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม”

เมื่อพิจารณารายละเอียด ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าควรรีบแก้ไขมากที่สุด ก็คือ ปัญหาค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน (ค่าครองชีพ) และปัญหาหนี้สิน ทั้งระดับครัวเรือนและสาธารณะ

อย่างไรก็ดี ในฐานะทีมงานผู้จัดทำและออกแบบโพล ขออนุญาตเสนอว่า มี “สองนัยยะสำคัญทางการเมือง” ที่ไม่ได้ปรากฏอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา แต่ซ่อนแฝงอยู่อย่างน่าสนใจและไม่ควรละเลยเพิกเฉยในผลโพลคราวนี้

 

นัยยะแรก ต้องยอมรับว่าจำนวนผู้ร่วมตอบแบบสอบถามในโพล “มติชนxเดลินิวส์” รอบนี้ นั้นมีน้อยกว่าจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามในโพลเลือกตั้งทั้งสองครั้ง ก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีปริมาณผู้ตอบแบบสอบถามเฉลี่ยประมาณ 7-8 หมื่นรายต่อครั้ง

หมายความว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามหายไปราวๆ ครึ่งหนึ่ง หรือร่วม 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เราสามารถอธิบายสาเหตุของการ “หายไป” ดังกล่าว ผ่านหลายแง่มุม เช่น ผู้คนส่วนใหญ่มักมีความกระตือรือร้น-ตื่นตัวทางการเมืองลดลงเป็นธรรมดา เมื่อผ่านพ้นวันเลือกตั้ง และทราบผลการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสรรพแล้ว

แต่แง่มุมที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ก็คือ ผู้ตอบแบบสอบถามที่ “หายไปครึ่งหนึ่ง” อาจเป็นโหวตเตอร์ที่ไม่ได้เลือกพรรคการเมืองใดในรัฐบาลชุดนี้ และไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ทว่า พวกเขาอาจสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะก้าวไกล

โจทย์ใหญ่ของ “รัฐบาลเศรษฐา-เพื่อไทย” จึงมีอยู่ว่า ต้องทำอย่างไร ผู้คนที่ไม่ได้มี “ความรู้สึกร่วม” กับรัฐบาล จะรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของรัฐบาลนี้ และยังมีความคาดหวัง-ความศรัทธากับรัฐบาลชุดนี้

 

นัยยะที่สอง แน่นอนว่าผลลัพธ์เบื้องต้นของโพล “รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ที่บ่งชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง เป็นหลักนั้น มีความสอดคล้องต้องตรงกับจุดขาย-จุดยืน-ท่าทีของรัฐบาลนี้และพรรคเพื่อไทยพอดิบพอดี

ดูเหมือนผลดังกล่าวจะเข้าทาง “รัฐบาลเศรษฐา-เพื่อไทย” เป็นอย่างยิ่ง

กระนั้นก็ตาม พอพินิจพิเคราะห์ในเชิงรายละเอียด เราจะพบว่าปัญหาเศรษฐกิจสองอันดับแรกที่เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ เรื่องค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน และเรื่องหนี้สินครัวเรือน-สาธารณะ

ขณะที่นโยบาย “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ถูกผู้ตอบแบบสอบถามประเมินว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับสี่ มีความสำคัญน้อยกว่าการแก้ปัญหาการเกษตรเสียอีก

กล่าวได้ว่า แม้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับแนวทาง “แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง” ก่อน ทว่า นโยบายเรือธงของรัฐบาลอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” กลับไม่ได้มีคุณค่าในสายตาประชาชน หรือปลุกความคาดหวัง-ความใฝ่ฝันของพวกเขามากนัก

ส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะคนจำนวนมากยังมีความสับสนกับนโยบายนี้ ท่ามกลางคำแถลง-คำชี้แจงที่ยังกลับไปกลับมาชวนงุนงงจากบุคลากรในฝั่งรัฐบาล

อีกส่วนหนึ่ง จากประสบการณ์ทางสังคม-เศรษฐกิจตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนไทยอาจไม่เชื่ออีกแล้วว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการแจกเงิน จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองได้จริงและยั่งยืน

ยิ่งกว่านั้น ถ้ารัฐบาลต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว ก็จะนำไปสู่ตัวเลขหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น (ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สิน)

นัยยะสำคัญสองข้อนี้บ่งบอกว่า ยังมี “ภารกิจทางการเมือง” อีกไม่น้อยที่นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” และพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล ต้องเร่งทำและรีบสื่อสารกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้ “อยู่ข้าง” รัฐบาล •