การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 เวียนมาพบกับนักอ่านอีกหน ระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในวาระนี้ จึงขออนุญาตแนะนำหนังสือการเมืองออกใหม่สองเล่มที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

เล่มแรก คือ “ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ : จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน” โดย “รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เล่มหลัง คือ “ความหวังที่เคลื่อนไหว : โลกขวาๆ ซ้ายๆ และความท้าทายของประชาธิปไตย” โดย “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แม้หนังสือของอาจารย์บัณฑิตจะมีจุดเน้นหลักเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค “เดือนตุลา” ขณะที่หนังสือของอาจารย์ประจักษ์พุ่งความสนใจมายังการเมืองยุคร่วมสมัยมากกว่า

ทว่า เมื่ออ่านไปถึงช่วงท้ายๆ เนื้อหาของหนังสือสองเล่มนี้ กลับมีความพ้องพานกันอย่างน่าทึ่ง

“”ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ : จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน” โดย “รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ”

ในตอนท้ายของ “ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ” อาจารย์บัณฑิตได้สรุปความเห็นที่ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและแกนนำคณะราษฎร วิเคราะห์สถานะของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านกรอบประสบการณ์ของคนทำงานการเมืองยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เอาไว้ว่า

“14 ตุลาฯ เป็นห้วงเวลาในช่วงตอนของประวัติศาสตร์ที่พร้อมจะถูกฉวยขึ้นมาใช้ แต่การกลับไปหาภาพของ 14 ตุลาฯ อาจจะช่วยรื้อความทรงจำ ตำแหน่งแห่งที่ของ 14 ตุลาฯ เพื่อทบทวนและเปิดช่องทางใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจความซับซ้อนและผลพวงของ 14 ตุลาฯ เพื่อจะได้ต่อความฝันของคนเหล่านั้นให้ยืนยาว

“ดังคำขวัญและบทความ ‘จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม’ ของปรีดี พนมยงค์ ที่ย้ำแล้วย้ำอีกถึงความจำเป็นในการรักษาเจตนารมณ์ที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์’

“งานของปรีดีกล่าวถึงความสำคัญของจิตสำนึกทางการเมืองที่แตกต่างกันในทัศนะทางสังคม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยก ทั้งได้ยกตัวอย่างจากบทเรียนความผิดพลาดของคณะราษฎรอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

“ปรีดีได้เน้นถึง ‘ห้วงยามอันตราย’ ในประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร ตั้งแต่ความผิดพลาดที่เชิญเอาคนหัวเก่ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ขาดการวิจารณ์ถึงธาตุแท้ของคนเหล่านั้น ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าอำนาจเผด็จการฟื้นคืนชีพจากฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่สู้ไม่ได้ตามครรลองของรัฐธรรมนูญจึงยุแหย่ให้เกิดการรัฐประหาร 2490 ขึ้น

“ปรีดียังได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน กล่าวคือ การให้สิทธิแก่ประชาชนที่มีฐานกว้างขึ้น การจัดสัมพันธภาพระหว่างอำนาจในสถาบันทางประเพณีกับอำนาจของสถาบันทางการเมืองใหม่

“การวางหลักการที่ยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งการตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญที่ทรงไว้ด้วยความเป็นธรรมอีกด้วย”

“ความหวังที่เคลื่อนไหว : โลกขวาๆ ซ้ายๆ และความท้าทายของประชาธิปไตย” โดย “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ”

ขณะที่ในตอนท้ายของ “ความหวังที่เคลื่อนไหว” อาจารย์ประจักษ์ได้ประเมิน “อุปสรรคที่น่ากลัว” ของระบอบประชาธิปไตยไทยยุคปัจจุบัน ด้วยสายตาของคนที่เก็บรับประสบการณ์จากอดีตและยังมองอนาคตอย่างมีความหวังว่า

“สิ่งที่น่ากลัวคือ ในยุคปัจจุบัน ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไม่ได้ใช้แต่ความรุนแรงและการกดปราบให้คนหวาดกลัว แต่ยังใช้การเมืองแบบแบ่งแยกแล้วปกครอง แบ่งปันผลประโยชน์บางส่วนให้กลุ่มการเมืองที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐให้หันมาสยบยอม

“เทคนิคเช่นนี้เรียกว่าเป็นการดึงฝ่ายตรงข้ามมาเป็นพวก (co-optation) หรือการแยกสลายพลังฝ่ายค้าน ซึ่งชนชั้นนำเก่าในหลายประเทศนำมาใช้เพื่อหยุดยั้งกระแสการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

“วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่แยบยลกว่าการใช้กำลังตำรวจและทหารปราบปรามประชาชน แต่ทำให้ประชาชนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยอมละทิ้งหลักการและอุดมการณ์ของตนเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ

“หากเราต้องการก้าวข้ามการเมืองแห่งความหวาดกลัวและการเมืองที่ลดทอนคุณค่าประชาชน เราคงไม่อาจฝากความหวังไว้ที่ ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ คนใดคนหนึ่ง

“เพราะสังคมการเมืองที่ดี คือ สังคมที่ทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจร่วมกัน ดังนั้น จึงต้องสร้างขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของคนธรรมดาสามัญทั้งหลายที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมและการเมืองที่ปราศจากหลักการ

“จากบทเรียนทั่วโลก การสร้างประชาธิปไตยที่ดี คือการเดินทางระยะยาวที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม หลายช่วงตอนในอดีต ประชาธิปไตยก็เคยล้มลุกคลุกคลานกระทั่งล่มสลาย

“บทเรียนจากสังคมไทยในอดีตก็เช่นกัน การก่อร่างสร้างประชาธิปไตยจึงต้องใช้ความอดทน การเข้าใจปัจจุบันและการเก็บรับบทเรียนที่มีคุณค่าจากประวัติศาสตร์

“ที่สำคัญ หากปราศจากความเคลื่อนไหว ความใฝ่ฝัน และความหวังที่สร้างร่วมกันของประชาชน ก็ยากที่ประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานในยุคสมัยของเรา” •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน