‘สัตว์เลี้ยงของแวมไพร์’

เพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “El Conde” ทางเน็ตฟลิกซ์

นี่คือผลงานของ “ปาโบล ลาร์เรน” ผู้กำกับหนังฝีมือเยี่ยมชาวชิลี ที่ด้านหนึ่ง ก็เคยทำหนังชีวประวัติบุคคลสำคัญในโลกตะวันตกมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น “Jackie” (เล่าเรื่องราวของ “แจ็กเกอลีน เคนเนดี”) หรือ “Spencer” (เล่าเรื่องราวของ “เจ้าหญิงไดอานา”)

อีกด้านหนึ่ง ผู้กำกับฯ คนนี้ก็เคยทำหนังว่าด้วยสังคมการเมืองในบ้านเกิด ที่โดดเด่นสุดคือ “ผลงานไตรภาคยุคปิโนเชต์” ได้แก่ “Tony Manero”, “Post Mortem” และ “No” ระหว่างปี 2008-2012

ค.ศ.2023 ลาร์เรนหวนกลับมาทำหนังเกี่ยวกับ “ออกุสโต ปิโนเชต์” อีกหน ในวาระครบรอบ 50 ปี ที่อดีตผู้นำเผด็จการรายนี้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในการปกครองประเทศ

ทว่า คราวนี้ เขาไม่ได้ทำหนังประวัติศาสตร์การเมืองย้อนยุคแบบสมจริง แต่เล่าเรื่องราวแนวสยองขวัญ-ตลกร้าย-แฟนตาซี ผ่านการเขียนบทให้ “ปิโนเชต์” มีสถานภาพเป็น “แวมไพร์” ตนหนึ่ง ที่เคยใช้ชีวิตในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และยังเป็นอมตะอยู่จนถึงปัจจุบัน

แม้จังหวะการดำเนินเรื่องและตรรกะเหตุผลของเหล่าตัวละครใน “El Conde” อาจดูหนืดๆ แปลกๆ ขัดฝืนกับความเคยชินของคนดูหนังชาวไทย หรือบรรดาผู้นิยมหนังฮอลลีวู้ด-ซีรีส์เกาหลีทั่วไป (ส่วนตัวก็ใช้เวลาดูหนังเรื่องนี้มากกว่าหนึ่งวัน)

แต่หนังมีประเด็นน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการเสนอว่า ใช่ว่า “แวมไพร์” ทุกตนจะมีชีวิตอันเป็นนิรันดร์

เพราะ “แวมไพร์อมตะ” ในหนังล้วนเป็น “แวมไพร์ระดับชนชั้นนำ” นอกจาก “ปิโนเชต์” แล้ว ก็ยังมี “มาร์กาเรต แทตเชอร์” (อดีตผู้นำ “หญิงเหล็ก” แห่งสหราชอาณาจักรที่เสียชีวิต “จริง” ไปเมื่อสิบปีก่อน) ซึ่งออกมาแสดงบทบาทสำคัญมากในตอนท้ายเรื่อง

ลาร์เรนอธิบายถึงสาเหตุเบื้องหลังที่เขาเขียนเรื่องราวเสียดสีให้ “ปิโนเชต์” กลายเป็น “แวมไพร์” กับสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ไว้อย่างน่าสนใจ

เหตุผลข้อแรก คือ แม้ในความเป็นจริง “ปิโนเชต์” จะค่อยๆ สูญเสียอำนาจทางการเมืองไป จากยุคปลาย 80 ถึงต้น 2000 แต่สุดท้ายแล้ว อดีตผู้นำเผด็จการก็เสียชีวิตลงใน ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) โดยมี “อิสรภาพเต็มขั้น” และยังมีฐานะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี

ผิดกับบรรดาผู้นำเผด็จการทหารในอีกหลายประเทศของทวีปอเมริกาใต้ ที่ถูกนำตัวมาลงโทษหลังหมดอำนาจ หรือมีการแสวงหาวิธีป้องกันมิให้ระบอบการปกครองเลวร้ายเช่นนั้นบังเกิดขึ้นซ้ำ

ในแง่หนึ่ง การ “ลอยนวลพ้นผิดของปิโนเชต์” จึงทำให้เขากลายเป็น “อมตะ” ไม่ต่างจาก “แวมไพร์” หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ผู้นำหรือคนอย่าง “ปิโนเชต์” นั้นไม่เคย “ตาย” ไปจากวัฒนธรรมของประเทศชิลี

ในทรรศนะของลาร์เรน ผู้นำเผด็จการทหารรายนี้ทิ้งมรดกชั่วร้ายสองประการไว้ให้คนรุ่นหลัง

ประการแรก คือ การเข่นฆ่าประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในยุคสงครามต่อต้านฝ่ายซ้าย ดังที่ผู้คนทั่วโลกรับรู้กัน

ประการหลังที่หลายคนมักนึกไม่ถึง ก็คือ “ปิโนเชต์” ทำให้ชาวชิลีหลงเวียนวนอยู่ในวงจรของความละโมบโลภมาก สนใจหมกมุ่นแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่กลับมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันลดน้อยลง

ทุกวันนี้ ชิลีจึงกลายเป็น “สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ” ที่มีช่องว่างระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” สูงมาก เห็นได้ชัดจากตัวเลขที่บ่งชี้ว่า ผู้คน 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศนั้นมีรายได้น้อยกว่า 800 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ขณะที่มีคนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือครองความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของประเทศเอาไว้

นี่คือผลพวงของ “สังคมทุนนิยมอันโหดเหี้ยมไร้กฎเกณฑ์” ที่ปิโนเชต์สร้างขึ้น

ย้อนกลับไปที่เนื้อหาของ “El Conde” สารข้อหนึ่งที่ชวนคิดไม่น้อย คือ ถ้าไม่ใช่ “ผู้นำเผด็จการ” คุณก็อย่าคิดเป็น “แวมไพร์” เลย เพราะไม่เพียงแต่จะไม่มีโอกาสเป็น “อมตะ” แต่คุณอาจถูกกำจัดทิ้งก่อนเวลาอันควรด้วยซ้ำ

ดูเหมือนวิธีอยู่รอดปลอดภัยระยะยาวในโลกของหนังเรื่องนี้ จะได้แก่การเป็น “ผู้สยบยอม” ภายใต้อำนาจ อิทธิพล และทรัพย์สินของ “ผู้นำแวมไพร์” ไปเรื่อยๆ แล้วเฝ้ารอคอยส่วนแบ่งความมั่งคั่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่ง “ผู้นำที่ไม่มีวันตาย” หยิบยื่นมาให้

กล่าวอีกแบบคือในสังคมเช่นนี้ คนธรรมดาๆ อาจต้องอดทนใช้ชีวิตเป็น “สัตว์เลี้ยงของแวมไพร์” (ยืมมาจากชื่อเพลงเมื่อกว่าสิบปีก่อนของ “ชุมพล เอกสมญา”) กันต่อไป

แง่มุมหนึ่งที่หายไปจากหนัง คือ รูปธรรมความสำเร็จในการต่อสู้-ต่อต้านของบรรดาสามัญชนคนเล็กคนน้อย เพราะเราจะพบเห็นเพียงแค่ “แม่ชีตัวน้อยๆ” ที่พยายามดั้นด้นไปปราบ “ผู้นำแวมไพร์” แต่กลับลุ่มหลงมนต์เสน่ห์และตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “ปิโนเชต์”

จากวาระ “50 ปี รัฐประหารปิโนเชต์” ถึงวาระ “50 ปี 14 ตุลาคม 2516” คำถามจากชิลีซึ่งส่งตรงมาถึงเมืองไทย เห็นจะเป็นปริศนาข้อที่ว่า

ท้ายสุดแล้ว พวกเราคนส่วนใหญ่ต่างเป็นได้แค่ “สัตว์เลี้ยงของแวมไพร์” เท่านั้นจริงๆ หรือ? •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน