ศึกแรกของ ‘เพื่อไทย’ กับ ‘ก้าวไกล’

การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีที่นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน

เนื่องจากติดตามฟังการประชุมสภาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากจะเขียนถึงบุคคลที่แสดงบทบาทได้อย่างน่าสนใจในทั้งสองวันดังกล่าว

คนแรกที่ต้องเอ่ยถึง ย่อมหนีไม่พ้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ข้อดีที่เห็นได้ชัด คือ นายกฯ เศรษฐาดูกระตือรือร้นกับงานสภาพอสมควร และขยันลุกขึ้นชี้แจง เรียกว่าขยับตัวเร็วกว่าบรรดารัฐมนตรีเสียอีก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามี ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายนโยบายรัฐบาล โดยตั้งคำถามหนักๆ ใส่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง บ่อยครั้ง นายกฯ มักยกมือขอลุกขึ้นตอบคำถามดังกล่าวในภาพรวมก่อน ขณะที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงกลับลุกขึ้นชี้แจงในอีกหลายชั่วโมงหลังจากนั้น

เศรษฐาควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แน่ๆ แต่นายกฯ คนใหม่ยังมีอาการหงุดหงิดอารมณ์ขึ้นอยู่บ้าง เมื่อเผชิญหน้าการกรีด-การเย้ยหยันจากนักการเมืองบางราย

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี

สองคนที่ทำให้นายกฯ เศรษฐา หงุดหงิดได้บ้างตามสมควร ก็เห็นจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและประธานสภา “ชวน หลีกภัย” กับ “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม การหมกมุ่นกับการโดน “ด้อยค่า” ดูจะไม่เป็นประโยชน์มากนักสำหรับคนเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในสายตาสาธารณชน คุณคือคนมีอำนาจ คนได้รับอำนาจ และต้องบริหารจัดการอำนาจเพื่อยังประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

ในบริบทเช่นนี้ การถูกเสียดสี-ด่าทอจึงเป็น “เรื่องเล็กมาก” และเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เพื่อแลกเปลี่ยนกับ “อำนาจอันยิ่งใหญ่” ที่คุณได้รับมา

แม้ลักษณะการพูดจาสั้นๆ กระชับๆ ของนายกฯ จะฟังดูดี ไม่เยิ่นเย้อน่ารำคาญ แต่อีกด้าน นั่นก็อาจหมายถึงการไม่กล้าลงรายละเอียด ในหลายๆ เรื่องที่ผู้คนอยากฟังรายละเอียด

โดยเฉพาะเมื่อนโยบายกว้างๆ ของรัฐบาลชุดนี้ ยังมี “ช่องว่าง” ที่รอคอยให้เติมเต็มอยู่เยอะแยะไปหมด เช่น ตกลงรัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต”? และจะดำเนินโครงการที่ว่าผ่านระบบ “บล็อกเชน” ได้จริงๆ หรือ?

อีกประเด็นที่รอท้าทายผู้นำคนใหม่อยู่เบื้องหน้า คือ หากต้องเจอคำถามเชิงการเมืองหนักๆ นายกรัฐมนตรีจะรับมือได้ดีแค่ไหน? เพราะนี่เป็นบทบาทที่นายกฯ เศรษฐา พยายาม “หลีกเลี่ยง” อยู่ในการเข้าสภาสองวันแรก และลำพังรองนายกฯ หมายเลข 1 อย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” ก็ไม่น่าจะรับภาระด้านนี้แทนนายกฯ ได้ตลอดเวลา

“จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล

ข้ามมาที่ฟากฝ่ายค้าน ซึ่งจริงๆ ก็มีพรรคก้าวไกลเป็นตัวแสดงนำ

กำลังหลักๆ ของก้าวไกล ยังคงอภิปรายในสภาได้อย่างหนักแน่น ผ่านเนื้อหาที่มีประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและรัฐบาลเช่นเคย

ไม่ว่าจะเป็น “ศิริกัญญา ตันสกุล” (ภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจ) “ชัยธวัช ตุลาธน” (ภาพรวมนโยบายการเมือง) “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” (สรุปภาพรวมการอภิปราย) “พริษฐ์ วัชรสินธุ” (นโยบายแก้รัฐธรรมนูญและกระจายอำนาจ) และ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” (นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

อดีต ส.ส.กทม. ที่คราวนี้ขยับมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างณัฐพงษ์ คือนักการเมืองหนุ่มที่ทำงานหนักต่อเนื่อง ซึ่งไม่ค่อยมีแสงมากนัก แต่คราวนี้ กลับมีคนจำนวนมากแสดงความชื่นชมต่อการอภิปรายของเขา เพราะความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถฉายปัญหา โอกาส และความท้าทายของนโยบายเรื่องดิจิทัลโดยภาครัฐได้อย่างละเอียด-เป็นระบบ

พร้อมข้อเตือนใจสำคัญที่ว่างานดิจิทัลของรัฐบาล นั้นมีอะไรมากกว่าเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ต” อีกเยอะแยะ

ไม่เสียเครดิตที่นักการเมืองหนุ่มรายนี้เคยมีรายชื่อปรากฏเป็น “ว่าที่ รมว.ดีอีเอส” ในช่วงก่อตั้งรัฐบาลก้าวไกล

ยังมี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลอีกหลายคน ที่อภิปรายนโยบาย/ปัญหาเฉพาะด้านได้ดี อาทิ

“ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร” ที่ตั้งคำถามถึงนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ทั้งในแง่เทคนิควิธีการและประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ จากแง่มุมของอดีตบุคลากรแบงก์ชาติ ได้น่าสนใจ

“อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล” ที่แม้เมื่อครั้งมีชื่อเป็นตัวเต็ง “รมว.วัฒนธรรม” ในรัฐบาลก้าวไกล จะถูกตั้งคำถามไม่น้อยจากผู้คนบางส่วนในแวดวง “ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” แต่เขากลับสามารถตรวจการบ้านนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์” ได้ละเอียดชวนฉุกคิด

“ณรงเดช อุฬารกุล” “อภิชาติ ศิริสุนทร” และ “เซีย จำปาทอง” ก็พูดแทนเกษตรกร, คนประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และผู้ใช้แรงงาน ได้อย่างลงลึกรู้จริง

เช่นเดียวกับทีมสิ่งแวดล้อมอย่าง “พูนศักดิ์ จันทร์จำปี” และ “ศนิวาร บัวบาน” ที่มีองค์ความรู้ด้านนี้เข้มแข็งมาก

ขณะที่ ส.ส.เขต จากต่างจังหวัด เช่น “ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล” (เชียงใหม่ เขต 3) และ “ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์” (เชียงใหม่ เขต 8) ก็อภิปรายนโยบายรัฐบาล โดยเชื่อมโยงกับปัญหาการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ และฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ในแบบคนทำการบ้านมาเยอะ

เหมือนกับ “คริษฐ์ ปานเนียม” ส.ส. ตาก เขต 1 ที่พูดถึงปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในฐานะ “คนต้นน้ำ” ได้อย่างจริงจัง

สำหรับเกมในสภานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้ง ก้าวไกลก็ “เล่นแรงเกินเบอร์” เอาใจกองเชียร์หรือผู้บริโภคในโลกติ๊กต็อกมากไป เช่น กรณีที่ ส.ส.วิโรจน์ ว้ากใส่ “พัฒนา สัพโส” ส.ส.สกลนคร เพื่อไทย ในช่วงเช้าวันที่ 12 กันยายน หรือการอภิปรายแบบเล่นสำนวนโวหารช่างตอดช่างแซะ (ตามการวิจารณ์ของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล”)

 

หลังจากจบศึกครั้งแรกไปแบบพอหอมปากหอมคอ “รัฐบาลเพื่อไทย” กับ “ฝ่ายค้านก้าวไกล” ยังต้องปะทะชนกันทางการเมืองอีกหลายยก เช่น การพิจารณางบประมาณ 2567 ในเวลาอันใกล้

ท่ามกลางสภาวะที่นายกฯ เศรษฐา และรัฐบาล ยังมีโอกาสลบคำสบประมาท กู้คืนคะแนนนิยม และมีความเสี่ยงจะโดนถล่มซ้ำอีกหลายโอกาส ส่วนก้าวไกลเองก็ยังมีทรัพยากรบุคคลอีกร่วมร้อยคนที่ไม่ได้ลงสนามอภิปรายรอบนี้

ในระยะสั้น ถ้ารัฐบาลเศรษฐากระตุ้นเศรษฐกิจไม่สำเร็จผ่านนโยบายเรือธง “ดิจิทัลวอลเล็ต” และการปฏิรูปการเมืองผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีวี่แววจะเกิดขึ้นจริง

ศึกในรอบถัดๆ ไป จะยิ่งดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน