ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ถ้าถามว่า ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยมีสถานะอย่างไร? ในบทวิเคราะห์การเลือกตั้ง 2566 ที่ปรากฏตามสื่อแขนงต่างๆ และมุมมองทรรศนะของผู้รู้หลายท่าน
คำตอบ ก็คือ พวกเขา (พวกเรา) มักถูกมองเป็น “ประชากร” ที่ปรากฏในผลโพล และการคาดการณ์ผลคะแนนเลือกตั้ง
เป็น “ประชากร” กลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่นับจำนวนได้ แปรเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ แปรเป็นคะแนนเสียงได้
นี่คือจำนวนอันเป็นรูปธรรม ซึ่งนำไปสู่ข้อยุติของกระบวนการเลือกตั้งในสังคมประชาธิปไตยส่วนมาก ที่ยึดมั่นกับหลักการ “เสียงส่วนใหญ่”
อย่างไรก็ตาม “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” กลับมีรูปธรรมอีกชุดหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคัดง้าง-ขัดขวาง รูปธรรมของจำนวน “ประชากร” ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมของกลไกอำนาจที่กำหนดให้ 250 ส.ว.แต่งตั้ง มีสิทธิ์ร่วมยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
รูปธรรมในการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์นักการเมือง
รูปธรรมของกลวิธีการซื้อตัว “งูเห่า” ในสภา
รวมทั้งรูปธรรมของการรัฐประหาร ที่ไม่มีใครกล้ารับประกันว่า จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย
แต่เอาเข้าจริง ผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลที่เป็นสมาชิกของสังคมการเมืองไทย ยังมีอีกหนึ่งสถานะที่สำคัญ นั่นคือการเป็น “ประชาชน”
“ประชาชน” ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด และมิได้เป็นจำนวนนับเหมือนกับ “ประชากร”
ในทางทฤษฎี “ประชาชน” ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ “ประชากร” ที่มีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงคนรุ่นก่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว และพลเมืองที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นในอนาคต
“ความเป็นประชาชน” จึงสืบเนื่องและไม่เคยขาดห้วง เช่นเดียวกับอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชน
แม้คำอธิบายข้างต้นจะดูเป็นหลักการที่มีความเป็นนามธรรมอย่างสูงหรือเป็นอุดมคติที่ค่อนข้างเลื่อนลอย
ทว่า ในอีกด้าน ก็มีรูปธรรมของ “ประชาชน” ที่อุบัติขึ้นจริงๆ ท่ามกลางกระบวนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 2566
รูปธรรมแรก คือ ภาพการรวมตัวรวมกลุ่มของผู้คนธรรมดาสามัญจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเดินทางมาฟังการปราศรัยของพรรคการเมืองที่พวกตนนิยมชมชอบ โดยไม่ได้ถูกกะเกณฑ์-จัดตั้งมา
รูปธรรมเกี่ยวเนื่องที่ปรากฏขึ้น คือ สรรพเสียงของผู้คนเหล่านั้น ทั้งที่กรีดร้อง หัวเราะชอบใจ แสดงความยินดีปรีดา ต่อหน้านักการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ และฝากความหวังเอาไว้
และเสียงโห่ ไม่พอใจ ที่ซัดสาดใส่นักการเมืองที่ตนเองไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วยกับจุดยืน หลักการ วิธีคิดของพวกเขา ตามเวทีดีเบตในพื้นที่สาธารณะต่างๆ
ไม่มีใครกล้านับหรอกว่า “ประชาชน” ในลักษณะนี้มีจำนวนเท่าไหร่ (ในยุคสมัยหนึ่ง สื่อมวลชนและหน่วยงานความมั่นคงเคยพยายามจะนับ แต่กลับได้จำนวนที่ไม่ต้องตรงกันสักครั้ง)
แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายตระหนักตรงกัน ก็คือ นี่เป็นพลังทางการเมืองที่จะประมาทดูแคลนไม่ได้เด็ดขาด
กระทั่งบางคนนิยามว่า “ประชาชน” อันมากมายหน้าเวทีปราศรัย เปรียบเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ซึ่งจะคอยปกป้องคุ้มกันนักการเมือง/พรรคการเมือง ที่พวกเขาสนับสนุน ให้แคล้วคลาดจากภยันตรายในอนาคต
และหลายๆ คน รับรู้ได้ว่า “ประชาชน” อันมหาศาล กำลังออกมาแสดงตัวตนและส่งเสียงกู่ร้องว่าพวกเขาต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง”
“ประชาชน” ที่ยิ่งใหญ่ไพศาลและสืบเนื่องไม่ขาดตอน นั้นมีพลานุภาพเกินกว่าจะถูกสกัดกั้นขวางด้วยกลไกอำนาจประเภทต่างๆ ที่ใช้จัดการ-ตัดตอนคะแนนเสียงของ “ประชากร” ในคูหาเลือกตั้ง
จะเกิดรัฐประหารอีกกี่ครั้ง จะยุบพรรคการเมืองอีกกี่พรรค จะตัดสิทธิ์นักการเมืองอีกกี่คน จะซื้องูเห่าไปอีกกี่ฟาร์ม หรือต่อให้ ส.ว. จะไม่ยอมแตกแถวกันเลย อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่สามารถทำลายพลังอำนาจของ “ประชาชน” ลงได้
นี่คือสัจธรรมซึ่งปรากฏชัดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้ ช่วงเกือบๆ สองทศวรรษที่ผ่านมา
ดังข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐประหาร 2549 และกระบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยต้นทศวรรษ 2550 (ตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน และอีกหลายพรรคการเมือง ตลอดจนการปราบปรามเข่นฆ่าราษฎรกลางเมืองหลวง) นั้นทำลาย “ประชาชน” ไม่ได้ แต่กลับก่อให้เกิด “คนเสื้อแดง”
รัฐประหาร 2557 เรื่อยมาถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ทำลาย “ประชาชน” ไม่ได้ แต่กลับนำไปสู่ม็อบเยาวชน ซึ่งคลี่คลายมาเป็นผู้คนที่กำลังกระตือรือร้นทางการเมืองอย่างสูงในการเลือกตั้งรอบนี้
แม้จะมีกระบวนการต่างๆ นานา ที่จงใจขัดขวาง หยุดยั้ง เบี่ยงเบน คะแนนเสียงของ “ประชากร” ในหีบบัตรเลือกตั้ง เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
อย่างไรก็ดี กระบวนการทั้งหมดย่อมไม่อาจจะขัดขวางกระแสธารอันต่อเนื่องและไพศาลของ “ประชาชน” เอาไว้ได้ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022