วัฒนธรรม ‘แฟนด้อม’ กับการเมืองไทยและการเลือกตั้ง 2566 | ปราปต์ บุนปาน

ภาพจากทวิตเตอร์ A_N_FC @sss92285967 #พี่อิ่มน้องน้ำ

อธิบายให้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ คร่าวๆ วัฒนธรรม “แฟนด้อม” คือ การรวมตัวของเหล่าแฟนคลับ (โดยมากมักเป็นวัยรุ่นหญิง) เพื่อมาพูดคุย ทักทาย ซัพพอร์ต (ทั้งด้วยอาหาร ช่อดอกไม้ หรือของขวัญ) ให้กำลังใจ และช่วยกระพือความนิยม แก่บุคคลสาธารณะที่ตนเองชื่นชมชื่นชอบ ทั้งในขอบเขตของโลกออฟไลน์และออนไลน์

วัฒนธรรมประเภทนี้ก่อตัวขึ้นจากความนิยมที่บรรดาวัยรุ่นมีต่อดาราในมหรสพความบันเทิงร่วมสมัยแขนงต่างๆ ตั้งแต่เค-ป๊อป ซีรีส์เกาหลี จนถึงซีรีส์วายไทย

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสไปแสวงหา-ซึมซับประสบการณ์ใหม่ๆ ในงาน “แฟตมีตติ้ง” ของดาราซีรีส์วายสามคู่ หกคน

“ความรู้ใหม่” ที่ได้มาในวันนั้น ก็คือ สารัตถะของงานแฟนมีตติ้งต่างๆ นั้นไม่ใช่โชว์ร้องเพลง-เล่นเกมของดาราวาย แต่เป็นช่วงเวลาถ่ายรูป-จับมือ รวมทั้งการพบปะพูดคุยระหว่างดาราคู่จิ้นกับแฟนด้อมของพวกตนที่แบ่งแยกกันเป็น “บ้านๆ” หลังกิจกรรมทุกอย่างบนเวทีสิ้นสุดลงแล้วมากกว่า

 

ตัดกลับมาที่เรื่องวัฒนธรรม “แฟนด้อม” กับการเมืองไทยในทศวรรษ 2560

พลังของแฟนด้อมปรากฏขึ้นครั้งแรกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ พร้อมแฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ซึ่งก่อตัวเป็นกระแสความนิยมที่คนรุ่นใหม่มีต่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และนำไปสู่คะแนนเสียงที่มากมายเกินความคาดคิดของพรรคอนาคตใหม่

แฟนด้อมการเมืองไทยยังผูกติดอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น แม้ธนาธร (พ่อของฟ้า) จะถูกกีดกันออกจากสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม

เช่น ในทวิตเตอร์จะมีแฮชแท็ก #คูมไหมไหม ที่ถูกปั่นโดยวัยรุ่นหญิงจำนวนไม่น้อย ซึ่งแสดงความชื่นชมต่อ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ

ศิริกัญญาเคยยอมรับกับสื่อมวลชนว่า แรกๆ เธอแปลกใจเหมือนกันที่อยู่ดีๆ ตนเองก็มีแฟนด้อม ทั้งในโซเชียลมีเดียและที่บุกเข้ามาเจอตัวเธอในโลกความจริง พร้อมกับซื้อขนมนมเนยมาฝาก

ไม่แน่ใจว่าทำไม พอเวลาผันผ่าน กระแสแฟนด้อมของพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลจึงค่อยๆ เสื่อมคลายจางหายไป

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้ส่งผลให้นักการเมืองหน้าใหม่บางคนที่มีฐานแฟนด้อมอยู่บ้าง ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

ส่วนนักการเมืองรุ่นใหม่บางคนก็ต้องขยับขึ้นไปทำงานบริหารจัดการพรรคท่ามกลางวิกฤตการณ์หนักๆ จนไม่มีเวลารักษาหรือขยายฐานแฟนด้อมของตนเอง

ยิ่งกว่านั้น นักการเมืองบางรายก็อาจไม่ได้ชอบสื่อสารเรื่องกุ๊กกิ๊กในโซเชียลมีเดียกับ “น้องๆ แฟนด้อม” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และไม่ได้พร้อมจะเสียสละเวลาหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง เพื่อเซอร์วิสน้องๆ จำนวนมาก ที่ตามมากรี๊ดมาซัพพอร์ตตนเองในพื้นที่สาธารณะต่างๆ

 

พร้อมๆ กับที่เกิดปรากฏการณ์ม็อบเยาวชน “สามนิ้ว” ซึ่งส่งสาร-ยื่นข้อเรียกร้องแหลมคมต่อสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

วัฒนธรรมแฟนด้อมทางการเมือง อันเป็นกิจกรรมการเมืองอีกเฉดสีหนึ่งของวัยรุ่นไทยยุคปัจจุบัน ก็ค่อยๆ ขยับเคลื่อนไปหานักการเมืองหญิงรุ่นใหม่บางคนในพรรคเพื่อไทย

ที่โดดเด่นชัดเจนสุด คือ กรณีของ “จิราพร สินธุไพร” อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และ “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ที่ก่อกระแส #พี่อิ่มน้องน้ำ ขึ้นมา จากโซเชียลมีเดียสู่โลกความเป็นจริง

ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ถ้าเวทีดีเบตไหนได้หนึ่งในสองคนนี้ไปร่วมขึ้นเวที ก็จะมีวัยรุ่นหญิงตามไปฟังจำนวนมากและแสดงพลังส่งเสียงกรี๊ดข่มขวัญตัวแทนพรรคการเมืองอื่นๆ ชนิดที่ถ้าใครอ่อนพรรษาทางการเมืองและไร้ประสบการณ์การสื่อสารกับสาธารณะ ก็ย่อมต้องหวั่นไหวในหัวใจกันบ้าง

นี่คืออาวุธทางการเมืองประเภทใหม่ๆ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยให้พรรคเพื่อไทยสามารถแบ่ง/แย่งคะแนนของนิวโหวตเตอร์-คนรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกลมาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

 

โดยส่วนตัว ยังไม่กล้าจะสรุปหรือฟันธงอะไรในประเด็นว่าด้วยวัฒนธรรมแฟนด้อมทางการเมืองและการเลือกตั้ง 2566

มีแค่คำถามจำนวนหนึ่งวนเวียนอยู่ในหัว อาทิ

แท้จริงแล้ว อะไรคือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เหล่าแฟนด้อมการเมืองค่อยๆ เคลื่อนตัวจากอนาคตใหม่/ก้าวไกล มาสู่เพื่อไทย?

พลังของ “แฟนด้อม” กับศักยภาพของ “โหวตเตอร์” นั้นคือสิ่งเดียวกันหรือไม่?

แฟนด้อมที่สนับสนุนนักการเมืองบางรายของพรรคการเมืองหนึ่ง จะลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขต (ซึ่งอาจไม่ใช่นักการเมืองที่ตนเองซัพพอร์ต) และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เสมอไปหรือไม่?

ผมยังไม่พบสื่อมวลชนสำนักไหนที่เข้าไปพูดคุยกับบรรดาแฟนด้อมนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างจริงจัง ว่าพวกเธอ (หรือเขา) มีความคิด-มุมมองต่อสังคมการเมืองไทยอย่างไร? เข้มข้นขนาดไหน? (แฟนด้อมเหล่านี้มอง “ตะวัน-แบม” อย่างไร?, อยากให้มีการแก้ไข ม.112 หรือไม่?, คิดอย่างไรกับนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐที่เพิ่งย้ายเข้าหรือย้ายกลับพรรคเพื่อไทย?)

อีกประเด็นที่ผมเฝ้ามองด้วยความสงสัย ก็คือ แฟนด้อมทางการเมือง “บ้าน” หนึ่งๆ นั้นก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร? ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง? เช่น ทันทีที่ “กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ” อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ย้ายจากพลังประชารัฐมาเพื่อไทย ทำไมคุณกานต์กนิษฐ์จึงมีแฟนด้อมส่วนตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน (แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนสมัยอยู่พรรคเก่า)?

หรือทำไมนักการเมืองหญิงเพื่อไทยบางคน ที่มีอุดมการณ์มั่นคงหนักแน่น อภิปรายในสภาได้ดี และถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ เช่น “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” จากเชียงใหม่ ถึงไม่มีแฟนด้อมส่วนตัวบ้าง?

เอาเข้าจริง แม้กระทั่ง “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีคะแนนในโพลสูงมาก ก็คล้ายจะไม่มีแฟนด้อมของตนเอง •