‘หน้าที่’ ของ ‘ผู้แทนราษฎร’

ตามประสาคนที่เริ่มเติบโตมีวุฒิภาวะในช่วงทศวรรษ 2530 ต่อ 2540 ซึ่ง “บ้านเมืองยังดี” ในหลายๆ ด้าน ขณะที่ “ประชาธิปไตยไทย” ก็ดูจะมีลำดับพัฒนาการของตัวเอง

ยอมรับว่า ณ เวลานั้น มองไม่เห็น “ประโยชน์” ของ “ผู้แทนราษฎร” มากนัก

ทรรศนะดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเหตุผลประเภท “นักการเมืองเลว” หรือ “นักเลือกตั้งซื้อเสียง” อะไรทำนองนั้นด้วย

ทว่า ในยุคสมัยที่ความคาดหวังทางเศรษฐกิจ ความใฝ่ฝันทางวิชาชีพ และความรื่นรมย์ทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจเรียกรวมๆ กันได้ว่า “เป้าหมายของการมีชีวิตที่ดี” มิได้ถูกผนวกรวมเข้ากับ “สังคมการเมือง” อย่างแนบสนิท

หรือพูดอีกอย่างได้ว่า “เป้าหมายของการมีชีวิตที่ดี” กับ “สังคมการเมือง” สามารถดำรงอยู่และมีพลวัตเคลื่อนหน้าไปอย่างคล้ายจะแยกขาดจากกันได้

คำถามที่เกิดขึ้น ก็คือ “ผู้แทนราษฎร” ที่เราต้องเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภา จะสามารถทำอะไร “แทน” เราได้แค่ไหน? ทำไมพวกเขาต้องมาเป็น “ผู้แทน” ของเรา?

 

อย่างไรก็ตาม ผมมาเริ่มรู้สึกว่า “ผู้แทนราษฎร” มีความสำคัญเด่นชัดขึ้น ในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองช่วงทศวรรษ 2550 หลังการรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี และหลังเหตุการณ์สังหารประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ณ ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร

เพราะ “ผู้แทนราษฎร” ในสภา สามารถสื่อสารความปรารถนาทางการเมืองที่ตัวเราเอง ในฐานะประชาชน ไม่สามารถแสดงออกอย่างเป็นประจำ หรือส่งเสียงเรียกร้องดังๆ ในชีวิตประจำวันได้

เช่น เราไม่กล้าหาญพอที่จะออกไปประท้วงหรือต่อต้านรัฐประหารอย่างโจ่งแจ้งวันแล้ววันเล่า

แต่เราสามารถลงคะแนนเลือกตั้งพรรค-นักการเมืองที่ถูกยึดอำนาจโดยกองทัพ และยังคงมีจุดยืนตรงข้ามกับคณะรัฐประหารได้

หรือเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังพล-กำลังอาวุธ สังหารประชาชนที่มารวมตัวยืนยันสิทธิ์เสียงตามระบอบประชาธิปไตยของพวกตน

เราที่ยืนอยู่ข้างประชาชนเหล่านั้น และต้องหลบกลับไปรักษาแผลกาย-แผลใจที่บ้านหรือสถานที่ปลอดภัยอื่นๆ ก็ย่อมมีเพียงหนทางเดียวที่จะ “สู้กลับ” ได้ นั่นคือ การเลือก “ผู้แทนราษฎร” ซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลที่มีส่วนในการเข่นฆ่าประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย

ในทางกลับกัน ต่อให้คุณเป็นประชาชนที่สนับสนุนการสังหารผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2553 คุณก็ไม่สามารถหรือไม่ได้กระหายเลือดมากพอ (เพราะความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง) ที่จะเรียกร้องให้มีการเด็ดหัว “ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง” ไปได้เรื่อยๆ ทุกวัน จนหมดประเทศ

ส่วน “ระบอบอำนาจ” ที่คุณนิยมชมชอบ ก็ลงมือปฏิบัติภารกิจป่าเถื่อนไปอย่างมิรู้จบ ไม่ได้

ดังนั้น การเลือกตั้ง “ผู้แทนราษฎร” ตามกลไกประชาธิปไตย จึงกลายเป็นเครื่องมือเดียวที่จะช่วยให้จุดยืนทางการเมืองของคุณมีความสถาพรยั่งยืนสืบต่อไปได้ แม้ว่านั่นจะเป็นจุดยืนที่สนับสนุนการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรม, ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง, อยู่ตรงข้ามเสียงส่วนใหญ และขวาจัดก็ตาม

พูดอีกแบบได้ว่า “ผู้แทนราษฎร” ต้องพูด หรือทำ หรือแสดงตนเป็นสัญลักษณ์ เพื่อยืนยันในสิ่งที่ประชาชนผู้กากบาทเลือกพวกเขาเข้าสภา ไม่สามารถพูดหรือทำอะไรแบบนั้นในวิถีชีวิตสามัญปกติ

หมายความว่า “ผู้แทนฯ” หลักร้อยในสภา ได้รับมอบ “พลังอำนาจอันไพศาล” ไปจากประชาชนหลักสิบล้านคน เพื่อจะได้ลงมือทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าศักยภาพของสามัญชนคนธรรมดาเหล่านั้น

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากปี 2550 ถึงปี 2554 สู่ปี 2562 วางอยู่บนแนวคิดเช่นนี้

แต่การเลือกตั้ง 2566 ดูจะวางอยู่บนฐานคิดอันผิดแผกออกไปบ้าง

ด้านหนึ่ง มีความพยายามจากหลายพรรคการเมืองของทุกขั้ว ที่จะนำพาการเลือกตั้งหนนี้ให้ก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง และชี้ชวนให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยเหตุผลปัจจัยอื่นๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง

ในโจทย์ดังกล่าว “ผู้แทนราษฎร” จึงคล้ายจะมิได้ต้องรับภารกิจหน้าที่อัน “ยิ่งใหญ่” เกินขอบเขตศักยภาพของประชาชน แต่พวกเขากำลังสะท้อนหรือต้องการแก้ปัญหาที่ชาวบ้านพร่ำบ่นดังๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

อีกด้านหนึ่ง ก็เกิดความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่มีความใฝ่ฝันทางการเมืองชุดใหม่ และยืนยันว่าสังคมไทยยังก้าวข้ามไม่พ้นจากปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนานเกินทศวรรษ

มิหนำซ้ำ ปัญหาข้างต้นยังมีความสุกงอมมากยิ่งขึ้น

น่าสนใจว่าส่วนใหญ่ของ “ผู้แทนราษฎร” ชุดนี้ ตลอดจนคนที่ต้องการเป็น “ผู้แทนราษฎร” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ดูเหมือนจะมีความปรารถนาทางการเมืองที่ “เล็กกว่า” คนรุ่นใหม่

เท่ากับว่า “หน้าที่” ของ “ผู้แทนราษฎร” กำลังจะย้อนไป “เล็กจ้อย” กว่าความปรารถนาของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม

จนสามารถตั้งคำถาม (ได้อีกครั้ง) ว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะมี “ผู้แทนฯ” ไปทำไม?