สิ่งที่หายไปจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไทยๆ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

สิ่งที่หายไป

จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไทยๆ

 

ราวสัปดาห์ก่อน มีหลายคนในโซเชียลมีเดียบ้านเราเปรียบเทียบด้วยอารมณ์ตลกร้าย ว่ารู้สึกอิจฉาคนอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ที่นายกรัฐมนตรีบ้านเขาเพิ่งประกาศลาออก ผิดกับนายกฯ ไทย ที่ยังไม่ยอมอำลาตำแหน่งเสียที

แต่หากพิจารณาในเชิง “การเมืองเปรียบเทียบ” การนำเอากรณีที่แตกต่างกันสองแบบมาวางชนกันเช่นนั้น คงไม่สามารถทำให้เราเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งขึ้น

ก่อนหน้าการประกาศลาออก นายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” ของสหราชอาณาจักร ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤตศรัทธาทางการเมืองหลายเรื่อง

โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าจอห์นสัน สมาชิก ครม. และคณะทำงานของพรรคอนุรักษนิยมบางส่วน ได้รวมตัวกันจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรการทางสาธารณสุขในช่วงโควิดแพร่ระบาดหนัก

นั่นนำมาสู่การจัดให้มีการลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจจอห์นสัน โดย ส.ส.สังกัดพรรคอนุรักษนิยม (ไม่ใช่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่ามี ส.ส.ร่วมพรรค โหวตไว้วางใจนายกฯ 211 เสียง และไม่ไว้วางใจ 148 เสียง

หลังการลงมติคราวนั้น แม้จอห์นสันจะดูเหมือนเป็นผู้ชนะ แต่คะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมแสดงออกต่อสาธารณชน ก็มีจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และเกินความคาดคิดของผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่

สถานภาพผู้นำของจอห์นสันง่อนแง่นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดกรณีที่นักการเมืองคนสำคัญในพรรคอนุรักษนิยมถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม แล้วต่อมาก็มีรัฐมนตรีรายสำคัญๆ ทยอยลาออกจากตำแหน่ง เพื่อกดดันหัวหน้า ครม.

ท้ายสุด “บอริส จอห์นสัน” จึงต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม อันเป็นการก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีโดยปริยาย

 

กุญแจสำคัญประการหนึ่งที่ผลักไสให้จอห์นสันต้องกระเด็นหลุดจากอำนาจ ดูจะอยู่ที่ผลโหวตไม่ไว้วางใจภายในพรรค ซึ่งบ่งชี้ว่ามี ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ยอมรับสถานะความเป็นผู้นำของหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

กุญแจดอกนี้นี่แหละที่ไม่มีอยู่ในสังคมการเมืองไทย

เราจึงไม่อาจเห็นภาพ ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ลงคะแนนโหวตไม่ไว้วางใจผู้นำประเทศ ซึ่งกำลังมีปัญหาวิกฤตศรัทธาในสายตาประชาชนจำนวนมาก

ไม่ต้องถึงขั้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดพร้อมใจกัน “โหวตโน” ใส่นายกฯ หรอก แต่แค่การที่ ส.ส.รัฐบาลส่วนหนึ่ง กล้ายกมือ “โหวตสวน” ใส่ท่านผู้นำ ในจำนวนที่มากพอจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง

นั่นก็ยังเป็น “สิ่งที่เป็นไปแทบไม่ได้” ในสภาไทย

การเมืองไทยจึงมักเปลี่ยนแปลงผู้นำหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยระบบที่ชัดเจนตรงไปตรงมาไม่ค่อยได้

สมัยก่อน เราต้องใช้กลยุทธ์บีบผู้นำนอกห้องประชุมสภา ต่อมาเราต้องใช้ม็อบยึดทำเนียบ หรือหนักเข้า เราก็หันไปฉวยใช้มรดกอัปลักษณ์ เช่น การรัฐประหาร

ในสภาวะที่ผู้แทนราษฎรไม่สามารถเป็นปากเสียงหรือลงมติแทนสังคมและประชาชนได้อย่างซื่อสัตย์และเสรี

 

แต่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงผู้นำด้วยมติของสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่มีแนวโน้มหรือเค้าลางที่จะเกิดขึ้นเลย

หากจำกันได้ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ได้รับคะแนนไว้วางใจในระดับ “รองบ๊วย” เพราะเสียงหนุนจาก ส.ส.พรรคเล็กหายไป

อันนำไปสู่การเปิดศึกกับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ในที่สุด

ส่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระยะหลังๆ ก็มี ส.ส.ซีกรัฐบาล (รวมทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ) ที่หันมาโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน ที่วิปรัฐบาลมีมติให้โหวตคว่ำ

แม้กระทั่งการโหวต พ.ร.ป.เลือกตั้ง ว่าจะเอาสูตร “หาร 100” หรือ “หาร 500” ในการประชุมรัฐสภา ก็ยังมี ส.ส.พลังประชารัฐ 30 กว่าคน ที่เลือกจะงดออกเสียง-ไม่ลงคะแนน-ไม่ร่วมลงมติ หรือลอยตัวจากการกลับหลังหันของผู้ใหญ่ในรัฐบาลแบบเนียนๆ

ขึ้นอยู่กับว่า “ความเป็นไปได้” ที่เคยผลิดอกผลในโอกาสเล็กๆ เหล่านั้น จะถูกขยายใหญ่ให้กลายสภาพเป็น “การแสดงเจตจำนงเพื่อความเปลี่ยนแปลง” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดือนกรกฎาคม 2565 ได้หรือไม่?

แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นไม่ได้ในเวทีการประชุมสภา “ความต้องการความเปลี่ยนแปลง” ก็จะไหลไปโผล่ ณ จุดอื่นๆ

โดยจุดที่ประนีประนอมและมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด ก็คือ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า •