‘ชัชชาติเอฟเฟ็กต์’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ชัชชาติเอฟเฟ็กต์’

 

การทำงานและการสื่อสารทางการเมืองแบบ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จะส่งผลกระทบถึงใคร? หรือส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมการเมืองไทยบ้าง?

คนแรกที่โดนผลกระทบของ “ชัชชาติเอฟเฟ็กต์” จังๆ คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

การไลฟ์เหตุการณ์นายกฯ ลงพื้นที่ประชันกับผู้ว่าฯ กทม. แต่ได้ผลลัพธ์ผิดแผกกัน

ภาพผู้นำประเทศเดินตรวจแถวฟังเด็กๆ ร้อง/อ่านเนื้อเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” คู่ขนานไปกับงานดนตรีในสวนที่ดูมีอิสระและช่วยปลดปล่อยความตึงเครียดของผู้คนได้มากกว่า

ยิ่งขับเน้นความผิดฝาผิดตัว หรือภาวะที่นักการเมืองคนหนึ่งกำลังรุ่งโรจน์ ส่วนอีกคนกำลังร่วงโรยลงทุกวัน

แม้ชัยชนะด้วยจำนวนมือ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลประยุทธ์-พลังประชารัฐ อาจจะพอคัดง้างคะแนนนิยม-ความเชื่อมั่นที่มหาชนมีต่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในฐานะ “ความเป็นจริงทางการเมือง” อีกแบบหนึ่ง

ทว่า ใน “ความเป็นจริง” อีกด้าน การยื้อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้อยู่ในตำแหน่งไปจน (เกือบ) ครบวาระ ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้ว่าฯ กทม. กำลังมีภาพลักษณ์ดีวันดีคืน จะยิ่งทำให้อำนาจ-บารมีของนายกฯ เสื่อมถอยร่อยหรอลงไปอีก

 

“ชัชชาติเอฟเฟ็กต์” ยังส่งผลกระทบไปสู่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” คนอื่นๆ ด้วย

ตามความเห็นส่วนตัว การที่พรรคก้าวไกลพยายามออกมาแก้ไข “เฟคนิวส์” เรื่องหัวหน้าพรรคเสนอตัดบำนาญข้าราชการนั้น ดูจะมีความเกี่ยวพันกับความสำเร็จของผู้ว่าฯ ชัชชาติ อยู่ไม่น้อย

เพราะเดิมที พรรคก้าวไกลก็มีจุดยืนวิพากษ์ระบบราชการอยู่แล้ว ดังผลงานล่าสุดของ “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.ฉะเชิงเทรา ที่ใช้เวลาในสภาแค่ไม่กี่นาที เปิดเปลือยการใช้งบประมาณตรวจสอบกล่องพลาสติกเปล่า “จีที 200” ของกองทัพจนหมดเปลือก

หรือการมีไอเดีย “ปลดล็อกท้องถิ่น” เคียงคู่กับการรณรงค์นอกสภาของคณะก้าวหน้า

ดังนั้น การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่ารัฐบาลจัดทำงบประมาณที่ใช้จ่ายไปกับอดีต (รวมถึงการจ่ายเงินบำนาญข้าราชการ) ในสัดส่วนค่อนข้างสูง จึงสอดคล้องกับแนวทางทางการเมืองแบบพรรคก้าวไกล

แต่เมื่อกระแสข่าวลือ “ก้าวไกลเสนอตัดบำนาญข้าราชการ” ที่ถูกเผยแพร่ไปตามไลน์ เกิดขึ้นภายหลังจากชัยชนะของชัชชาติ การพยายามออกมาแก้ไขความเข้าใจผิดในหมู่ข้าราชการและประชากรผู้สูงอายุ จึงต้องดำเนินไปอย่างกระตือรือร้น

นี่อาจเป็นการพยายามปรับท่าทีของพรรคก้าวไกล ในบริบทที่เรามีผู้ว่าฯ กทม. ที่มีคุณลักษณ์ด้านการประสานประโยชน์ จนได้รับคะแนนเสียง-ความร่วมมือจากผู้คนหลากกลุ่มหลายวัย โดยตัดข้ามเส้นแบ่งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างน่าทึ่ง

 

อีกฟากหนึ่ง ดูจะเกิดความเชื่อหรือจินตนาการว่าสังคมการเมืองไทยยุค “หลังประยุทธ์” จะลงเอยด้วยชัยชนะหรือความสำเร็จของพรรคการเมืองที่สามารถดึงดูด ส.ส.เขตในต่างจังหวัด ไปอยู่ในมือได้เยอะที่สุด หรือมีฐานกำลังบ้านใหญ่อยู่ในหลายจังหวัด

หากเป็นเช่นนั้น สภาพ “สองนคราประชาธิปไตย” จะหวนกลับมาปรากฏชัด เมื่อเราได้ “ผู้ว่าฯ เลือกตั้ง” ใน กทม. ซึ่งเป็น “นักการเมืองคุณภาพดี” ได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำบางส่วน คนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ คนมีความรู้ในเขตเมือง

แล้วได้ผู้นำประเทศที่วางฐานอำนาจอยู่บนวัฒนธรรม “นักเลือกตั้ง” และ “ระบบอุปถัมภ์” ที่ยังเข้มแข็งในเขตชนบท

กระทั่งบางคนกังวลว่าสภาวะดังกล่าวจะนำไปสู่ “วงจรอุบาทว์” เดิมๆ คือ การแอนตี้การเมือง การกล่าวโทษดูแคลนนักการเมือง การก่อตัวของมวลชนต่อต้านประชาธิปไตย และการรัฐประหารโดยกองทัพ

อย่างไรก็ตาม แก่นแกนหนึ่งของ “การเมืองแบบชัชชาติ” ที่ทุกคนต้องยึดไว้ให้มั่น คือ การเลือกตั้งสามารถนำมาซึ่ง “ผู้นำที่ดี” หรือ “ผู้นำที่สร้างความหวังให้คนส่วนใหญ่” ได้

หากเป็นการรัฐประหารต่างหากที่ทำให้เราได้ “ผู้นำที่ด้อยคุณภาพ”

ดังนั้น การยืนยันความชอบธรรมและการปกป้องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงถือเป็นการธำรงไว้ซึ่ง “การเมืองแบบชัชชาติ” และ “นักการเมืองแบบชัชชาติ” ไปในตัว

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของ “นักการเมือง” ก็อาจไม่ต้องพึ่งพาการรัฐประหารหรือการยึดอำนาจผู้แทนประชาชนเสมอไป

แต่ถ้าย้อนกลับไปยังสภาพการเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2530 เราสามารถก้าวข้ามปัญหา “สองนคราประชาธิปไตย” ได้ด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หวังว่า “ชัชชาติเอฟเฟ็กต์” อาจนำไปสู่ปลายทางแบบนั้น •