ของดีมีอยู่ : ผู้ด้อยอำนาจและขาดโอกาสนานัปการ

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

สัปดาห์นี้จะชวนผู้อ่านไปขบคิดในประเด็นที่ทั้งจริงจังเคร่งเครียดว่าด้วยกระแสการแบนลูกสาวของอดีตนักแสดงดัง ซึ่งกำลังเดบิวต์เป็นศิลปินเคป๊อปที่เกาหลี และประเด็นที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงมีมขำๆ เกี่ยวกับ “ประธานบริษัท” ซึ่งเพิ่งแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย

เริ่มต้นด้วยประเด็นแรก มีศิลปินหญิงชาวไทยรายหนึ่งกำลังจะได้เริ่มต้นเส้นทางการเป็นศิลปินอาชีพกับวงดนตรีเคป๊อปหน้าใหม่ของเกาหลี

นี่คล้ายจะเป็นความรุ่งโรจน์ในระดับ “โกอินเตอร์” ซึ่งเจริญรอยตามความสำเร็จยิ่งใหญ่ของ “ลิซ่า แบล็กพิงก์”

แต่แล้วปัญหาดราม่าก็บังเกิดขึ้น เมื่อศิลปินหญิงชาวไทยคนนี้เป็นบุตรสาวของอดีตนักแสดงชายผู้ล่วงลับ ซึ่งแสดงจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตย มาตั้งแต่ยุคการชุมนุมเสื้อเหลือง รัฐประหาร 2549 และขึ้นถึงจุดพีกในการนำมวลชนบุกยึดสนามบินเมื่อปี 2551

แทนที่จะได้รับเสียงเชียร์จากคนรุ่นราวคราวเดียวกันในประเทศบ้านเกิด การณ์กลับกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ที่ไทยจำนวนมากได้พากันก่อกระแสรุม “แบน” หรือ “แคนเซิล” ศิลปินรายนี้ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

 

การใส่ใจตรวจตรา “พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องทางการเมือง” อันนำไปสู่ “แคนเซิล คัลเจอร์” นั้นกำลังเป็นกระแสการเคลื่อนไหวหรือรูปแบบการต่อสู้เรียกร้องอันแพร่หลายในสังคมตะวันตก พร้อมๆ กับแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่หันไปทาง “ซ้าย” มากขึ้น

สำหรับสังคมไทยเอง วัฒนธรรมทางการเมืองรูปแบบนี้ก่อตัวขึ้นชัดเจนในทวิตเตอร์ อย่างล้อ/สอดคล้องไปกับการเคลื่อนพลของม็อบคนรุ่นใหม่ รวมทั้งจุดยืนทางการเมืองที่ผิดแผกแหวกแนวของเยาวชนเกือบทั้งเจเนอเรชั่น ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

ในโลกตะวันตก รูปธรรมชัดเจนที่สุดซึ่งเป็นผลลัพธ์ของ “แคนเซิล คัลเจอร์” ก็ได้แก่ การโค่นล้มทำลายอนุสาวรีย์ของชนชั้นนำ/บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกประเมินใหม่ว่าเคยมีพฤติกรรมผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย เช่น เข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจการค้าทาส เป็นต้น

นั่นคือการทำลาย “มรดก” ของความผิดพลาด-ผิดบาปทางการเมือง ที่ยังคงดำรงหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน

กรณีของไทย การ “แบน” ศิลปินหญิงหน้าใหม่ โดยมีเหตุผลเชื่อมโยงไปยังจุดยืนและผลลัพธ์ทางการเมืองจากการกระทำในอดีตของพ่อเธอ ก็อาจไม่แตกต่างจากกระแสทุบทำลายอนุสาวรีย์เหล่านั้น

เพียงแต่นี่ไม่ใช่การโค่นล้มทำลายล้างให้สิ้นซากในเชิงรูปธรรม ทว่าเป็นการตอบโต้ด้วยอำนาจของผู้บริโภคสินค้าเชิงวัฒนธรรม เป็นการต่อสู้ในขอบเขตของ “ซอฟต์พาวเวอร์” และเป็นการส่งสารของฝ่ายประชาธิปไตยไปยังอุตสาหกรรมดนตรีที่ใหญ่โตฟู่ฟ่าที่สุดแห่งหนึ่งในโลกร่วมสมัย

 

เมื่อการ “แคนเซิล” หรือ “แบน” ศิลปิน นั้นมิใช่การทุบรูปปั้น หากเป็นการแสดงท่าทีคัดค้านต่อต้านมนุษย์ผู้มีชีวิตจิตใจคนหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองสอดคล้องกับบุพการีเสียทีเดียว (หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ-ความคิดเห็นของตนเอง เมื่อกาลเวลาผันผ่านไป)

จึงย่อมมีบางฝ่ายตั้งคำถามว่านี่คือการต่อสู้ทางการเมืองที่มีความชอบธรรมและเหมาะสมหรือไม่? แค่ไหน?

ถ้าขอบเขตของการ “แคนเซิล” หรือ “แบน” ครั้งนี้ อยู่ตรงการไม่สนับสนุนศิลปิน ทั้งไม่ชม ไม่ฟัง ไม่ซื้อผลงาน เรื่อยไปถึงการตั้งคำถามต่อแนวคิดทางการเมือง ณ ปัจจุบัน ของเจ้าตัว โดยผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง

มิใช่การข่มขู่คุกคามชีวิต-ทรัพย์สิน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ

สังคมก็คงไม่มีสิทธิไปพิพากษาว่าการเคลื่อนไหวแนวนี้ ถือเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ “ผิดพลาด” ห้ามกระทำอีกในอนาคต

 

ตรงกันข้าม เราอาจต้องพยายามทำความเข้าใจว่านี่คือวิธีการต่อสู้-ทวงคืนความยุติธรรม-ปลดปล่อยอารมณ์โกรธแค้นแบบรวมหมู่ของผู้คนฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า เท่าที่พวกเขาพอจะลุกขึ้นสู้ได้

ในภาวะที่ฝ่ายผู้ถือครองอำนาจประสานงานกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เพื่อกดปราบพวกเขา คนแล้วคนเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า มาต่อเนื่องเกินทศวรรษ

ในภาวะที่การพูดถึง “ประธานบริษัท” อาจไม่ได้เป็นแค่มุขตลกของคลิปละครสอนคุณธรรมฮาๆ ตามโซเชียลมีเดีย

ทว่าอาจเป็นการสะท้อนสภาวะสิ้นหวังในเชิงตลกร้ายที่ว่า เอาเข้าจริงแล้ว คนระดับ “ประธานบริษัท” หรือชนชั้นนำที่ถึงพร้อมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศนี้ นั้นมีอยู่ไม่เยอะนัก แถมยังกระจุกตัว (และกระจุกความมั่งคั่งมั่นคง) รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพียงหยิบมือเดียว

ในภาวะที่ผู้มีศักยภาพจำนวนไม่น้อยมิสามารถขับเคลื่อนตนเองให้ขึ้นไปมีอำนาจและมีชีวิตที่ดีแบบ “ประธานบริษัท” ได้

แม้กระทั่งนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ แลดูมีอนาคตไกลจำนวนมาก ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นไปแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนาต่างๆ ตลอดหลายปีหลัง ก็มักจะถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจการที่ใหญ่โตมหาศาลกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาร่ำรวยหรือมีชีวิตสะดวกสบายกว่าเดิม

แต่ไม่สามารถขยับเขยื้อนเลื่อนไปเป็น “ผู้นำทางสังคมการเมือง” กลุ่มใหม่ได้

ท่ามกลางสภาวะติดขัดตีบตันเหล่านี้นี่แหละ ที่ “แคนเซิล คัลเจอร์” ได้กลายเป็นทางเลือกเดียว (ซึ่ง “ไม่ค่อยน่ารัก” หากมองผ่านสายตาผู้ใหญ่หลายคน) ในการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาว ผู้ด้อยอำนาจและขาดโอกาสนานัปการ