ของดีมีอยู่ : ซอฟต์เพาเวอร์ “6 ตุลา” / ปราปต์ บุนปาน

‘กล่องฟ้าสาง’ นิทรรศการว่าด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึงวันสุดท้ายก่อนเกิดโศกนาฏกรรมวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ‘บันทึก 6 ตุลา’ จัดทำเพื่อหาทุนจัดงาน “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง” ภาพจาก มติชนออนไลน์

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ระยะหลังมานี้ คนเสียงดังๆ ในสังคมไทยพากันพูดถึงเรื่อง “ซอฟต์เพาเวอร์” บ่อยครั้งขึ้น

ในที่นี้จะขออนุญาตแปลคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” เป็น “อำนาจโน้มนำ” ตามที่อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ทดลองบัญญัติเอาไว้ในเฟซบุ๊ก

“อำนาจโน้มนำ” ดังกล่าวก็คือ อำนาจที่สามารถเปลี่ยนใจผู้คน อำนาจที่สามารถปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่างลงไปในความคิดของผู้คน โดยที่พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกบังคับขืนใจ

และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “อำนาจโน้มนำ” เช่นนี้ จะทำงานได้ดีผ่านเครื่องมือทางด้านวัฒนธรรม

โดยส่วนใหญ่เวลาคนดัง-สื่อไทยแสดงความคิดเห็นในประเด็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ก็มักจะต้องเชื่อมโยงไปถึงปรากฏการณ์เรื่องลิซ่า, เค-ป๊อป, เน็ตฟลิกซ์ หรือที่เชยหน่อย (จริงๆ คือ เชยมาก) แต่ยังชอบอ้างถึงกัน ก็ได้แก่ แดจังกึม

มีแนวโน้มว่า คนจำนวนหนึ่งในบ้านเรามักชอบคิดหรือตั้งโจทย์ไปไกลสุดกู่ว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” จะโน้มนำให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรม-ธุรกิจบันเทิงไทยไปประสบความสำเร็จบนเวทีระดับโลกได้อย่างไร

 

แต่เอาเข้าจริง ท่ามกลางเงื่อนไข-ข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่กีดขวางอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของไทย จนไม่สามารถก้าวไปเติบใหญ่งอกงามในโลกภายนอกได้

ภายในสังคมไทยเอง กลับมีการใช้ “ซอฟต์เพาเวอร์” กันอย่างเข้มข้นเสมอมา

มีทั้งที่ปรากฏในรูปของ “อำนาจโน้มนำ” อันแนบเนียนตรงตามนิยาม และ “อำนาจดิบ” ที่ถูกห่อคลุมอย่างหยาบๆ ด้วยอาภรณ์ทางวัฒนธรรมหรือสื่อสมัยใหม่ช่องทางต่างๆ ซึ่งพยายามยัดเยียดความเชื่อใส่หัวประชาชนกันแบบโต้งๆ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” จะเป็นอาวุธที่ตกอยู่ในมือผู้ถือครองอำนาจรัฐเพียงฝ่ายเดียว

ในทางตรงกันข้าม ขณะที่ “อำนาจโน้มนำ” บนบริเวณส่วนยอดของพีระมิด แลดูมีศักยภาพลดน้อยถอยลง ณ ปัจจุบัน

“อำนาจ” ชนิดเดียวกันกลับผุดขึ้นจากเบื้องล่าง อย่างเด่นชัด หลากหลาย และมากมายขึ้น

 

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ การต่อสู้ผ่านความทรงจำเรื่อง “6 ตุลาคม 2519”

หลายฝ่ายอาจมองว่ากิจกรรมรำลึก 6 ตุลา เมื่อปี 2563 ซึ่งอุบัติขึ้นสอดคล้องกับความร้อนแรงของม็อบคนรุ่นใหม่ นั้นมีกระแสแรงกว่ากิจกรรมในปี 2564 ที่ถูกคุมเข้มโดยอำนาจรัฐ และมีอุปสรรคเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด

แต่หากมองลึกลงไปในเชิงคุณภาพ กลับมีแรงกระเพื่อมบางประการที่ก่อตัวขึ้นอย่างน่าสนใจ ณ เดือนตุลาคมปีนี้

เช่น นี่คือปีแรกสุด ซึ่งมีศิลปินเพลงป๊อปชื่อดังรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยพร้อมใจกันออกมาทำเพลงรำลึกโศกนาฏกรรม 6 ตุลา ผ่านโครงการ “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง”

นี่คือกระแสธารทางวัฒนธรรมอันต่อเนื่องเชื่อมโยง ซึ่งอาจมีจุดเริ่มต้นตรงปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี” เมื่อไม่กี่ปีก่อน

จนดูคล้ายกับว่า “ความทรงจำบาดแผล” กรณี 6 ตุลา ได้ถูกส่งมอบจากคนรุ่นก่อนมายังคนรุ่นใหม่ในวงกว้าง อย่างยากจะระงับตัดทอน

ในเชิงภาพยนตร์ ระยะหลังมีการผลิตหนังสารคดีว่าด้วย 6 ตุลา อย่างต่อเนื่อง ด้วยเนื้อหาที่ลงลึกจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณภาพงานที่สูงขึ้นตามลำดับ

ไม่รวมถึงการดำรงอยู่ของ 6 ตุลา ในภาพยนตร์สั้นรุ่นใหม่ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครจดบันทึกรายชื่อภาพยนตร์ไทยที่มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เอาไว้ ก็จะพบสถิติน่าสนใจว่าจำนวนของหนังกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

เมื่อผนวกรวมกับผลงานทางวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ เช่น การจัดทำ “กล่องฟ้าสาง” เพื่อรำลึกภาวะของสังคมการเมืองไทยก่อน 6 ตุลา ซึ่งได้รับการกล่าวถึงกันมากในเดือนตุลาคมปีนี้

“ซอฟต์เพาเวอร์” ว่าด้วยความทรงจำ 6 ตุลา จึงซึมลึกและแพร่ขยายไปไกลเหลือเกินในสังคมร่วมสมัย

“6 ตุลา” ณ พ.ศ.นี้ มิได้แฝงตัวอยู่แค่ในหนังสือที่มีผู้อ่านจำนวนหยิบมือ (ทว่าปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ก็นิยมอ่านหนังสือประเภทนี้กันมากขึ้น), ในวงประชุมสัมมนาทางวิชาการ หรือในชั้นเรียนของภาควิชาซึ่งจวนจะถูกยุบทิ้ง ที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเพียงน้อยนิด อีกต่อไป

 

ความเปลี่ยนแปลงข้างต้นทำให้นึกถึงสิ่งที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เขียนเอาไว้ในเนื้อหาส่วนท้ายสุดของหนังสือ “Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok” ความว่า

“ประวัติศาสตร์ยังคงอยู่กับเรา อย่างโหดร้ายเท่าที่มันจะโหดร้ายได้ ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของพวกเราทุกคนในทุกวันนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงปัจจุบัน กระทั่งความทรงจำที่กระจัดกระจายและกลายเป็นดังภาพฝันจินตนาการว่าด้วยเหตุสังหารหมู่ครั้งนั้น ก็มิได้ดำรงอยู่แต่เพียงในหนังสือ ภาพยนตร์ และงานรำลึกเหตุการณ์

“ทว่ายังดำรงอยู่ในตัวตนของพวกเราด้วย”