ของดีมีอยู่ : คนหนุ่ม-สาว คืออนาคตของเรา / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

 

“ถามเพนกวินในเรือนจำว่า พี่ได้ยินว่าข้างนอก พวกน้องเอาคำปราศรัยของพี่ไปพูดถึง พี่ได้ยินว่าข้างนอก พวกน้องตะโกนชื่อพี่อยู่หลายเวที น้องรู้จักพี่ได้ยังไง?

“เพนกวินบอกเขาเห็นผมตั้งแต่เขาอายุ 11 ขวบ เมื่อราวปี 2553 คำตอบของเขาง่ายๆ สั้นๆ แต่มันทำให้ผมต้องเอามาคิดยาว เพราะเมื่อปี 2553 ผมร่วมกับเพื่อนมิตรและพี่น้องประชาชนร่วมอุดมการณ์ต่อสู้ครั้งใหญ่ วันนั้น เพนกวินอายุ 11-12 ขวบ เหตุการณ์ผ่านมาสิบปีถึงปี 2563 เพนกวินมาเป็นแกนนำต่อสู้ มีคดีความติดคุกติดตะรางอยู่จนวันนี้

“ท่านครับ สิ่งที่ผมต้องคิดยาวก็คือว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้อยู่อีกสิบปี ถ้าเรื่องราวมันยังคงยุ่งเหยิง ยังหาข้อยุติที่ถูกต้องไม่ได้อีกเป็นเวลาสิบปี

“สิบปีข้างหน้า ลูกชายผมจะอายุเท่าเพนกวินวันนี้ แล้วก็ไม่แน่ว่าสิบปีข้างหน้า ลูกชายผมจะต้องมาเจอกับสภาพแบบนี้ ไม่แน่ว่าอีกสิบปีข้างหน้า คนที่จะต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงบันไดศาล คนที่จะต้องพยายามทุกอย่างให้ลูกได้รับอิสรภาพ อาจจะไม่ใช่แม่เพนกวิน แม่รุ้ง แม่ไมค์ แม่ไผ่ แต่อาจจะเป็นผม ซึ่งเป็นพ่อของเด็กชายนปก ใสยเกื้อ วันนี้

“ดังนั้น ผมถึงบอกว่าคนรุ่นเรานี่แหละครับต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้เด็กโตขึ้นมาแล้วรับผิดชอบความขัดแย้งทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะโต ก่อนที่เขาจะรู้ความด้วยซ้ำไป

“ถามหัวใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนเลยครับว่า เรายังปล่อยให้มันเป็นไปแบบนี้ได้หรือ? เราจะเข้าคิวรอการเป็นพ่อแม่ที่ต้องวิ่งประกันตัวลูก ที่ต้องอกสั่นขวัญแขวนเมื่อดูถ่ายทอดสดลูกเดินขบวน ลูกยืนอยู่บนเวที ลูกกำลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ผมว่าเราก็ยอมให้มันเป็นแบบนั้นไม่ได้

“ดังนั้น ไม่มีใครปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงได้นะครับ แล้วเราอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ไม่มีใครต้องทำลายกันและกันให้พินาศวอดวาย กับคนหนุ่มคนสาว เมตตาเถอะครับ อย่าอาฆาต กรุณาเถอะครับ อย่าพยาบาท และผมเชื่อว่าบ้านเมืองมันมีทางออก

“ขอส่งความปรารถนาดีไปยังประชาชน ไปยังคนหนุ่ม-สาว ไปยังเยาวชนที่ต่อสู้อยู่เวลานี้… อยากจะบอกว่าพี่เต้นยังอยู่ตรงนี้ พี่เต้นเคียงข้างเสมอ เป็นกำลังใจ เข้าใจ และเห็นใจ และไม่คิดว่าจะทอดทิ้งกัน”

 

ขออนุญาตคัดลอกเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานแถลงข่าว “การคืนสู่อิสรภาพ” ของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำ “คนเสื้อแดง” ซึ่งตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลงและการเลือกยืนเคียงข้างคนหนุ่ม-สาวของสังคม มานำเสนอ

นี่เป็นสารที่ไม่แตกต่างจากคำกล่าวของ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด : บันทึกประวัติศาสตร์ ‘มหากาพย์บัตรทอง'” โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ที่เน้นย้ำว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญทางประวัติศาสตร์มักถูกขับเคลื่อนด้วยพลังและความใฝ่ฝันถึงอนาคตของคนหนุ่ม-สาว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“ผมคิดว่าหากลองไปดูตามหลักอิทัปปัจจยตา เพราะสั่งนั้นมีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ผมคิดว่าไล่ไปไล่มา มัน (เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ก็กลับมาสู่เรื่องเกี่ยวกับคนเดือนตุลา เรื่องเกี่ยวกับคนหนุ่ม-สาวนะครับ

“ผมคิดว่าสุดท้ายแล้ว สังคมทุกสังคมต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความฝันของอนาคต ขับเคลื่อนด้วยคนหนุ่ม-สาว ที่เขาจะต้องอยู่กับสังคมนี้ไปอีกยาวนาน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าระหว่างบรรทัดของหนังสือเล่มนี้ก็คือเป็นการย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า คนหนุ่ม-สาวคืออนาคตของเรา

“เพราะฉะนั้น ฟังเขา ให้โอกาสเขา ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าคนที่จะเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ก็คือคนที่เขาจะต้องอยู่กับสังคมนี้ไปอีกยาวนานครับ”

 

เหล่านี้คือ “สารแห่งความหวัง” และ “ทัศนะอันเปี่ยมความปรารถนาดี” เป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับคำพร่ำบ่น เช่น “เธอเอาขาลงไม่ได้เหรอ? ไขว่ห้างกับฉันเนี่ย เอาขาลงได้มั้ยเธอ? เธอขาเธอน่ะ เท้าเธอ เอ้อ…”

ซึ่งขออนุญาตไม่ระบุ ณ ที่นี้ ว่าเป็นคำกล่าวของใคร