ของดีมีอยู่ : 1 ปี แฟลชม็อบ รูปแบบ ทิศทาง ความรุนแรง / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ถ้าลองย้อนกลับไปทบทวนสถานการณ์การเมืองไทย ผ่านการอ่านหนังสือ “บันทึกประเทศไทย 2563” ที่รวบรวมข้อมูลโดย “ศูนย์ข้อมูลมติชน”

จะพบว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว คือจุดเริ่มต้นของ “แฟลชม็อบ” คนรุ่นใหม่

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 มีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” โดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ลานปรีดี ข้างตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กิจกรรมดำเนินไปผ่านการปราศรัยโจมตีรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และการชูสัญลักษณ์ “สามนิ้ว” ร่วมด้วยการจุดเทียนเพื่อทวงคืนความยุติธรรม

หลังจากนั้นกิจกรรมแฟลชม็อบจึงค่อยๆ กระจายตัวไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ เช่น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

พร้อมๆ กันนั้นก็เกิดปรากฏการณ์น่าสนใจ เมื่อมีนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนสตรีวิทยาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เริ่มออกมารวมกลุ่มเคลื่อนไหวในลักษณะและประเด็นเดียวกับรุ่นพี่มหาวิทยาลัย

 

เข้าเดือนมีนาคม 2563 “แฟลชม็อบเรียกร้องประชาธิปไตย” ยังคงแพร่กระจายไปตามสถาบันการศึกษาต่างจังหวัด เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ณ เดือนนั้น คนที่ติดตามข่าวเริ่มรู้จักชื่อ “ภาณุพงศ์ จาดนอก” หรือ “ไมค์” จากแฟลชม็อบที่จังหวัดระยอง

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทั้งหมดยังมีลักษณะเป็น “ผลสืบเนื่อง” ของคำตัดสินยุบพรรคการเมืองที่ได้รับแรงสนับสนุนหนาแน่นจากคนรุ่นใหม่ และกิจกรรมกึ่งการเมืองกึ่งสันทนาการ “วิ่งไล่ลุง” ซึ่งมีผู้บุกเบิกเอาไว้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีเดียวกัน

จากนั้นกระแสแฟลชม็อบคนรุ่นใหม่ได้สร่างซาลงไปเพราะการแพร่ระบาดระลอกแรกของ “โควิด-19”

ก่อนที่บรรดาคนรุ่นใหม่จะกลับมารวมตัวทางการเมืองกันอย่างคึกคักอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563

ด้วยปริมาณคนที่เพิ่มขึ้น ด้วยเนื้อหาการชุมนุมที่ยกระดับขึ้น อย่างรวดเร็ว

พร้อมด้วยตัวละครทางการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่ทยอยปรากฏตัวต่อสาธารณชน โดยส่วนใหญ่ยังเป็นนิสิต-นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

โจทย์ทางการเมืองที่ไปไกลกว่ารัฐบาล, พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนรัฐสภาก็มิได้มีสถานะเป็นทางออกของปัญหาประเทศอีกต่อไป

ขณะที่การต่อสู้ด้วย “วัฒนธรรมร่วมสมัย” และ “กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์” เปี่ยมสีสัน ก็ขยับขยายไปสู่การ “ส่งสารทางการเมือง” ที่ตรงไปตรงมายิ่งขึ้น

 

หนึ่งปีผ่านพ้นไป

สังคมไทยได้เป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์ความรุนแรงใน “ม็อบ 28 กุมภาพันธ์ 2564”

ซึ่งมีทั้งจุดที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ปฏิบัติงาน/ใช้กำลัง/ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมอย่าง “ผิดพลาด” และ “เกินขอบเขต”

แต่รูปแบบม็อบอันปราศจากแกนนำ ก็มี “ช่องโหว่” ที่เปิดให้ผู้ชุมนุมบางส่วนระเบิดความรู้สึกอัดอั้นตันใจออกมาในรูปของ “การเข้าปะทะ” (ซึ่งส่งผลไม่รุนแรงเท่ากับปฏิบัติการของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่)

ต้นเดือนมีนาคม 2564

สังคมไทยได้เป็นประจักษ์พยานของคดีที่ “ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์” หรือ “แอมมี่ เดอะ บอตทอมบลูส์” นักร้องดังซึ่งประกาศจุดยืนเคียงข้างม็อบคนรุ่นใหม่มาตลอด วางเพลิงหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทั้งสองเหตุการณ์ล้วนบ่งชี้ว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองไทย” มีเค้าลางจะเคลื่อนหน้าไปสู่ภาวะแตกหักรุนแรง มากกว่าจะแสวงหาจุดประนีประนอมได้ลงตัว

คำถามสำคัญ 2-3 ข้อที่คงก้องดังอยู่ในมโนสำนึกของใครหลายๆ คนก็คือ

เรายังพอมีหนทางที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียในอนาคตอันใกล้ได้หรือไม่? อย่างไร?

และพวกเราทั้งหมดเดินทางมาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร?