“เปลี่ยน…ให้ทันโลก” ทำไม “คนรุ่นเก่า”จะยิ่งถ่าง-ห่าง กับ “คนรุ่นใหม่”

แต่ละปี เครือ “มติชน-ประชาชาติธุรกิจ-ข่าวสด” จัดงานสัมมนา-เสวนา เชิญผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละเรื่องแต่ละด้านมาให้ความรู้นับครั้งแทบไม่ถ้วน

จัดครั้งใดก็ได้ความรู้ ความคิด ข้อมูลเพิ่มขึ้นมหาศาล

ชนิดที่ผู้มาบรรยายด้วยกันบางท่านให้คำจำกัดความแบบขำๆ ว่า

เก็บความรู้กลับไปแบบ “สมองบวม”

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” เขาก็เพิ่งจัดสัมมนาเรื่อง “เปลี่ยน…ให้ทันโลก”

โดยเชิญ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงตะวันออก หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อๆ ว่า อีอีซี

มาบรรยายร่วมกับ คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือปูนซิเมนต์ไทย

คุณฐากร ปิยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทกรุงศรี คอนซูเมอร์

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหมาดๆ ของเครือซีพี

และ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารควอลิตี้เฮ้าส์

กราบขอบพระคุณวิทยากรกิตติมศักดิ์ทุกท่านมา ณ ที่นี้อีกครั้ง

และกราบขออภัยในนามของคณะผู้จัดงานต่อวิทยากรและท่านผู้ชมผู้ฟังทั้งหลาย หากมีอะไรผิดพลาดบกพร่องไป

รายละเอียดของการสัมมนาว่าอย่างไร ประชาชาติธุรกิจ-มติชน-ข่าวสด เขาก็ถ่ายทอดไปสิ้นกระบวนความแล้ว

แต่ถ้ายังไม่จุใจให้เปิดเพจประชาชาติธุรกิจในเฟซบุ๊ก หรือเปิดยูทูบ ดูและฟังการบรรยายของท่านข้างต้นได้

ที่จะมาถ่ายทอดต่อไปนี้ เป็นการย่อความชนิดจากเสื้อยืดเหลือแค่เสื้อกล้าม

หากผิดพลาดบกพร่องด้วยสติปัญญายังเบาอย่างไร ก็ขออภัยไว้อีกครั้ง ณ ที่นี้เช่นกัน

สรุปรวมความของแต่ละท่านตามความเข้าใจของตัวเองก็จะได้ดังนี้

ดร.คณิศท่านบอกว่า อีอีซีนั้นคือ “ภาพสมบูรณ์” ของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก

ไม่ใช่เรื่องว่าจะทำหรือไม่ แต่เป็นเรื่องทำเมื่อไหร่-อย่างไร

ให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุด ให้ประเทศชาติมีตัวจุดชนวนเพื่อการพุ่งทะยานครั้งใหม่

รวมทั้งทำอย่างไรจึงจะลดผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย

และให้ดีกว่าคือเป็นบวกด้วยกันทุกฝ่าย

งานนี้นอกจากเอาใจช่วยไม่พอ

แต่ต้องลงแจวลงพายไปด้วยกัน

คุณรุ่งโรจน์นั้นสมเป็นผู้นำองค์กรอย่างปูนใหญ่ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนา “คน”

แค่ประโยคเดียวที่ว่า

ต่อไปองค์กรต้องปรับตัวเข้าหาพนักงาน ไม่ใช่พนักงานต้องปรับตัวเข้าหาองค์กร

ก็เป็นการบ้านให้หลายท่านหลายคนบอกว่า ต้องเก็บเอาไปคิดจนนอนไม่หลับอยู่หลายคืน

ส่วนคุณศุภชัยนั้นมาพร้อมความสดใหม่ ที่ “ไกล” ออกไปจากกรอบความคิดเก่าๆ อย่างเรื่องพรมแดนหลายหมื่นโยชน์

ประเด็นที่ว่ามาตรฐานของซีพีต้องเทียบเท่ามาตรฐานโลก

ก็มีอะไรให้รอดูอีกมากแล้ว

ขณะที่คุณฐากรนั้น จะด้วยเพราะทำกิจการที่ต้องคลุกคลีกับพฤติกรรมของมวลชนมาตลอด

สิ่งที่นำเสนอจึง “กว้าง” ออกไปยิ่งกว่าขอบเขตธุรกิจของสถาบันการเงินหรือกรอบธุรกิจ

แต่วิเคราะห์ลงไปถึงวิถีชีวิตในโลกใหม่ยุคใหม่

รายละเอียดว่าคน ว่าไกล ว่ากว้างเป็นอย่างไร

ขออนุญาตไม่สปอยล์ตรงนี้นะครับ

หาอ่านหาดูจากต้นตอจะดีกว่า

หลังจากเรื่องคน-กว้าง-ไกล แล้วคุณชัชชาติเขามาทบท้ายว่าด้วยประเด็น “ทำไม”

ทำไมความพยายามที่จะขวางหรือฉุดดึงการพัฒนาของโลกจะล้มเหลว จะไม่ได้ผล

ทำไมคนรุ่นเก่า (คือคนที่พยายามไม่เข้าใจโลกใหม่-คนรุ่นใหม่) จะยิ่งมีช่องว่าง (ของความรู้ความเข้าใจ) ห่างและถ่างจากคนรุ่นใหม่ยิ่งๆ ขึ้นไป

อะไรประมาณนี้

ฉายหนังตัวอย่างสองเรื่องได้แก่

1. กฎของมัวร์ (กอร์ดอน มัวร์ ผู้ก่อตั้งอินเทล บริษัทผลิตหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์) ที่ระบุว่า

ปริมาณของหน่วยความจำในชิพคอมพิวเตอร์นั้นจะทวีคูณขึ้นทุกๆ 2 ปี

ถ้ากฎนี้เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1970

วันนี้ชิพปัจจุบันก็เร็วกว่า (คือมีประสิทธิภาพกว่า) ชิพเก่าถึง 8 ล้านเท่า

และในอีกประมาณสิบกว่าปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านเท่า

2. กฎของปลาทอง ที่จะสนใจอะไรได้ไม่เกิน 9 วินาที

แต่วันนี้สมาธิ (หรือความอดทนเฉลี่ย) ของคนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ (ไม่ว่าจะพีซี ไอแพด มือถือ)

คือ 8 วินาที

ถ้าเข้าใจสองข้อนี้ ก็จะมีคำตอบสำหรับคำถามว่าทำไมแล้วละครับ