ฐากูร บุนปาน : ลงทะเบียนคนจน , การลงทุนหดตัวต่อเนื่อง และ การบรรจุพยาบาล

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กวาดต้อนเอาหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหลายที่อ่านตกค้างเอาไว้ในรอบสัปดาห์มาสอบทาน ว่าตกข่าวคราวเรื่องไหนไปบ้างหรือไม่

อ่านไปๆ แล้วก็เกิดอาการสะอึกเอากับข่าวใหญ่ 2-3 เรื่อง

เรื่องแรกคือ การลงทะเบียนคนจนเพื่อที่รัฐจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้องและถูกตัว

ตามข่าวที่แถลงก็คือมีผู้มาลงทะเบียนแล้วจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม

จำนวน 12 ล้านคน

มิตรสหายท่านหนึ่งในโลกเสมือนคำนวณบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ ให้ดู แล้วบอกว่า

12 ล้านคนนี่ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในประเทศเชียวนะเฟร้ย

ไม่แต่เท่านั้น รายละเอียดของข่าวยังระบุด้วยว่า

จำนวนผู้มาลงทะเบียนคนจนในปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว 4 ล้านคน

อุแม่จ้าว!!

การลงทะเบียนในปีที่ผ่านๆ มาผิดพลาด (เหมือนที่ท่านเคยบอกว่าหลายเรื่องเป็นผลมาจากอดีตอันไกลโพ้น)

หรือโครงสร้างเศรษฐกิจเมืองไทยเลวร้ายจริงๆ (ซึ่งก็เข้าตำรา อดีตทำร้ายปัจจุบันของท่านอีกนั่นแล)

หรือว่า…

อย่างหลังนี้ไม่กล้าพูด

เดี๋ยวผิดใจกันเปล่าๆ

กรุณาไปเติมคำในช่องว่างเอาเอง

 

เรื่องที่สอง

คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน ท่านเขียนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว

หลังจากรับฟังการแถลงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เรื่องการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น ว่า

“อันที่จริงแล้ว การลงทุนหดตัวลงต่างหาก

ดูรายละเอียดที่แถลงตัวเลขการลงทุนจริงที่เกิดจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริม

ในปี 2557 มีการลงทุน 600,000 ล้านบาท

ปี 2558 ลดเหลือ 500,000 ล้านบาท

พอปี 2559 หดลงอีกมีแค่ 490,000 ล้านบาท

และสามเดือนแรกปีนี้มีอีก 80,000 ล้านบาท

(ซึ่งถ้าอีกสามไตรมาสยังลงน้อยเท่าๆ นี้จะมีแค่ 320,000 ล้านบาทเท่านั้น)

…เห็นแล้วใจแป้วมากๆ เลยครับ

อย่างนี้เขาเรียกว่าหดตัวครับ ไม่ใช่ขยายตัว

เท่ากับว่าปี 2558 หดตัว -17%

ปี 2559 หดอีก -2%

แถมปีนี้ทำท่าจะหดได้มากถึง -35% เลยทีเดียว”

พอคุณบรรยงซึ่งถือเป็น “เซเลบทางเศรษฐกิจ” ท่านหนึ่งของเมืองไทยว่าอย่างนี้

ก็มีคำชี้แจงจาก คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า

ถึงตัวเลขการลงทุนจะลด แต่ก็มาในกลุ่มของการวิจัยและพัฒนา และกลุ่มเทคโนโลยี

ซึ่งตรงกับแนวทางนโยบายของรัฐบาลนะ

คุณบรรยงเขาก็เลยโพสต์เฟซบุ๊กเพิ่มเติมให้ว่า

ที่ถูกควรบอกว่า “BOI ชี้แจงว่า การลงทุนผ่านการส่งเสริม ถึงแม้จะมีปริมาณที่ลดลง แต่คุณภาพการลงทุนดีขึ้น

จะมีมูลค่าเพิ่มสูง และมีแนวโน้มที่ดี

เป็นไปตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมใหม่”

ประเด็นนี้ก็แล้วแต่ผู้อ่านจะพิจารณาอีกเช่นกัน

 

เรื่องสุดท้าย

กรณีคุณๆ พยาบาลทั้งหลายออกมาร้องขอความเป็นธรรม

ให้รัฐบาลบรรจุเข้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ จำนวนเฉียดๆ หมื่นตำแหน่ง

เพราะงานหนักเกินกำลัง

ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงานวันละ 16 ชั่วโมง

หรือคนไข้เฉลี่ยที่ต้องดูแล 600 คน/วัน ทั้งที่มาตรฐานคือไม่ควรเกิน 400 คน/วัน

ถ้าไม่บรรจุ 30 กันยายนนี้ก็จะพากันลาออกจากราชการไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกันให้หมด

ดราม่าบังเกิดเมื่อกระทรวงสาธารณสุขบอกไม่มีอัตราบรรจุ แล้วขอตำแหน่งจากรัฐบาลเพิ่ม

แต่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ย้อนเข้าให้ว่า

อัตราน่ะมีอยู่ ยังว่างตั้งร่วมหมื่นตำแหน่ง

แต่ “กั๊ก” ไว้จะรอบรรจุส่วนอื่น เลยไม่บรรจุคุณพยาบาล

ดราม่าเรื่องนี้จะจบอย่างไรยังไม่ชัดเจน

แต่ถ้าเป็นนิทานอีสป

นิทานเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า…

ทั้งสามกรณีนี้สะท้อนปัญหาเดียวกัน

คือความสามารถในการจัดการครับ

แต่จะเป็นความสามารถของใคร จัดการกับปัญหาไหน อย่างไร

เป็นเรื่องที่แต่ละท่านต้องไปเติมคำในช่องว่างเอาเองอีกเหมือนเดิม

รู้แต่แค่ว่า ปัญหามาเคาะประตูถึงขนาดนี้

ถ้าแก้ไม่ได้ แก้ไม่เป็น หรือแม้แต่แค่แก้ไม่ครบ

ที่จบเห่ก่อนน่ะคนส่วนใหญ่ คนไม่มีเส้นแน่นอน

คนมีสตางค์ มีฐานะทางสังคม

รอรอบต่อไปนะคร้าบบบ