ความดื้อตาใส | ฐากูร บุนปาน

สัปดาห์ที่ผ่านมามัวไป “อิน” กับโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ทั้งตามดูตามอ่าน ตามไปค้นข้อมูลย้อนหลัง (ที่บ้านเขาเก็บเอาไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ดี และเข้าถึงได้ง่าย) แล้วก็ยิ่งสนุก

ยิ่งได้เห็นกลยุทธ์ในช่วงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง (หลังจากเขาปูพื้นกันมาเป็นปี แล้วมาขมวดเอาตอนนี้)

ก็ยิ่งสนุกใหญ่

ความจริงเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐทุก 4 ปี ก็คงสนุก ตื่นเต้น ดุเดือด และมากไปด้วยสีสันอย่างนี้มาทุกสมัย

แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายทำได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และทั่วถึงขึ้น

ผู้ดูผู้ติดตามทั้งหลายก็เลยเหมือนขึ้นไปอยู่ร่วมบนขบวนรถแห่กับเขาด้วย

ยิ่งถ้ามีคนที่เอาใจช่วยอยู่ในใจ

การมีส่วนร่วมนี้ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่

ตอนที่เริ่มลงมือเขียนต้นฉบับอยู่นี้

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองฝ่าย ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปตุนเอาไว้แล้วคนละ 200 กว่าเสียง

แต่ความหวังของโจ ไบเดน และเดโมแครตนั้นอยู่ที่คะแนนของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ล่วงหน้า ซึ่งมีจำนวนมหาศาลมากกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสหรัฐ

โดยเฉพาะในรัฐที่จะเป็นพื้นที่ชี้ขาดว่าใครจะครองทำเนียบขาว อย่างวิสคอนซิน มิชิแกน

จนถึงวันที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้วางตลาด ยังไม่รู้ว่าการนับคะแนนจะสิ้นสุดหรือยัง

และจะมีประเด็น “ดราม่า” โดยเฉพาะการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลติดตามมาหรือไม่

ท่านที่สนใจก็คงเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ดังนั้น เมื่อไม่รู้ผล ก็ยังไม่ต้องพูดถึงผล

ขอพูดแต่ข้อสังเกตบางประการจากการติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้

ประการแรก แม้จะเจ้าเล่ห์แสนกลและวางแผนสารพัดกันอีท่าไหน

แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นอย่างแรกของแต่ละฝ่าย ก็คือการมัดใจประชาชนหรือผู้สนับสนุนในฝั่งตัวเอง

จะด้วยนโยบาย ด้วยบุคลิก ด้วยเสน่ห์ส่วนตัว ด้วยความบ้าคลั่งสุดโต่ง หรืออย่างไรก็แล้วแต่

ต้องมีฐานผู้สนับสนุนที่เชื่อถือศรัทธาเป็นพื้น

ไม่มีตรงนี้ก็หมดกัน

ให้สารพัดอุบาย เก่งยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอะไร

ก็ไม่มีค่าทั้งนั้น

ประการต่อมา อิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่อย่างที่ว่าไปแล้วบางส่วน

อิทธิพลนี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นไม่มีลดลง

และถ้าใช้ให้ถูกทาง จะเป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือควบคุมพฤติกรรมของผู้ปกครอง-นักการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะเมื่อการติดตามความเคลื่อนไหวทำได้ง่ายขึ้น การบันทึกกิจกรรมทั้งหลายพร้อมจะถูกขุดมาเปิดโปงได้ทุกเมื่อ

ความประพฤติของผู้ที่จะเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชน หรือจะมาเป็นผู้ปกครอง ก็ต้องอยู่ในกรอบในเกณฑ์ที่สังคม “รับได้” มากขึ้น

สภาพเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในสหรัฐหรือประเทศประชาธิปไตยเท่านั้น

แต่จะขยาย-กระจายออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้นตามพัฒนาการของวิทยาการและการสื่อสารในโลกยุคใหม่

ตัวอย่างไม่ไกลตัวก็มีให้ดูกันอยู่

เท่าที่คิดเร็วๆ ด้วยปัญญาหางอึ่งก็ออกมาสองข้อนี้ก่อนละครับ

ถ้าท่านไหนมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม จะแนะนำมาโดยตรงเป็นการส่วนตัว

หรือจะบอกผ่านช่องทางของบรรณาธิการที่ท่านเปิดกว้างอยู่แล้วก็ได้

ประเด็นตบท้ายวันนี้ก็คือ เวลาที่ “ดูละคร” ดูเรื่องของคนอื่นนั้น

ส่วนใหญ่แล้วคนเรามักจะ “ตาใส” เพราะใจไม่มีอคติ เพราะไม่มีส่วนได้เสียกับเขา

แต่พอกลับมาเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทีไร ไม่ใช่แค่ไม่ตาใสกันอย่างเดียวเท่านั้น

เผลอๆ ยังต้องเติมคำนำหน้าเข้าไปให้อีกหนึ่งพยางค์ เป็น “ดื้อตาใส” อยู่เป็นประจำ

พวกนี้ต้องจับไปฟังเพลง “ละครชีวิต” ของคุณบุษยา รังษี เสียให้ขึ้นใจ

“ถึงยามสำราญขอท่านฟังฉันหน่อยก่อน

“แม้นดูละครแล้วกลับมาย้อนดูตัว”

ยังมีใครจำได้

ยังมีใครถือปฏิบัติอยู่อีกไหมนั่น