มีใครคิดบ้างว่าเวทีสภาจะหาทางออกให้สังคมนี้ได้จริง ? | ฐากูร บุนปาน

หลังจาก “เล่นองค์” กระบิดกระบวนอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งเห็นว่าการชุมนุมแพร่ขยายออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง

สุดท้ายคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล และวุฒิสมาชิก ก็มีความเห็นทางเดียวกันกับที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องมาก่อนหน้า

คือร่วมกันเปิดประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภา

เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหาทางออกให้กับสังคมไทย

ในวันที่ 26 และ 27 ตุลาคมนี้

คำถามก็คือ ถึงจะมีการเปิดสภาขึ้นมาหารือกันแล้ว

มีใครคิดบ้างว่าเวทีสภาจะหาทางออกให้สังคมนี้ได้จริง

ประการหนึ่ง องค์ประกอบของสภาเองก็ไม่เป็นใจ

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่มาจากอดีตข้าราชการ ที่เป็น “อนุรักษนิยม” มาทั้งชีวิต

อยู่ๆ จะให้เลี้ยวมุมตึกแล้วเปลี่ยนตัวเป็นคนใหม่

เป็นไปได้หรือ

ถามว่าเมื่ออนุรักษนิยมสุดขั้วมาประสบเข้ากับข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ ที่ “ทะลุเพดาน” ไปแล้ว

ปฏิกิริยาที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

ประการหนึ่ง ข้อเรียกร้องที่พุ่งเป้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะจากม็อบหรือจากพรรคฝ่ายค้าน

ยังไม่เห็นทางว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้

ไม่ว่าจะพิจารณาจากท่าทีแบบ

– ผมผิดอะไร

– ลูกหลานอยู่ไม่ได้วันนี้ ก็โทษพ่อมันนั่นแหละ

ฯลฯ

ก็ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีมีจุดยืนเหนียวแน่นมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง

ว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงในปัจจุบันเกิดขึ้นจาก “ผู้อื่น-คนอื่น” ทั้งสิ้น

เมื่อชี้นิ้วใส่คนรอบข้างเสียก่อนแล้ว เรื่องจะเรียกร้องให้ “เสียสละ” จะเรียกร้องให้ “แสดงความรับผิดชอบ” ก็อย่าหมาย

และเมื่อไขกุญแจดอกแรกไม่ได้

การเปิดเวทีสภาเพื่อหาทางออก ก็ส่อเค้าจะเดินเข้าทางตันตั้งแต่ยังไม่เริ่มตั้งวง

ถ้าเปิดสภาแล้วปัดเป่าปัญหาไม่ได้

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

ตอบไม่ได้ครับ เพราะไม่ใช่หมอดู

แต่แยกแยะสถานการณ์ออกเป็นส่วนๆ ได้ว่า

ถ้า

– การชุมนุมยังไม่ออนแรง ยังเพิ่มจำนวนทั้งคน-พื้นที่

– นัดชุมนุมต่อเนื่องได้ทุกวันหรือบ่อยๆ

– ข้อเรียกร้องไม่ลดระดับลงตามความคาดหวังของผู้มีอำนาจ

รัฐบาลจะทำอย่างไร

– จะปล่อยให้ชุมนุมกันไปเรื่อยๆ โดยรัฐบาลนั่งดูตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่มีอำนาจเต็มมือ ตั้งท่าขู่ฟ่อมาตลอด

ได้หรือ?

– ถ้าไม่ได้ จะต้องเจรจากัน

มีกระบวนการหรือเครื่องไม้เครื่องมืออะไร มีความยืดหยุ่นที่จะตอบรับข้อเสนอของเยาวชนหรือประชาชนมากน้อยแค่ไหน

– หรือสุดท้ายจะเลือกวิธีปราบปราม ด้วยการตั้งความหวัง (แบบลมๆ แล้งๆ) เอาไว้ว่า

เด็ดออกมาสักไม่กี่หัว ที่เหลือก็ฝ่อไปเอง

แล้วไปเสี่ยงวัดใจ ว่าแนวคิด “ทุกคนเป็นแกนนำ” ที่ปรากฏขึ้นแล้วในช่วงที่ผ่านมา

จะยังหนักแน่นมั่นคงอยู่หรือไม่

ถ้าเลือกวิธีนี้ก็ต้องประเมินความเสี่ยงเอาไว้ด้วยว่า ถ้าปราบไม่จบ ดายไม่เหี้ยน

จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย

จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองและพวกพ้อง

สังคมไทยเดินมาถึงทางแยกอีกรอบหนึ่งแล้ว

ถ้าจะยังมีอะไรนับเป็นโชคดีอยู่บ้างก็คือเรายังมี “เวลาอันน้อยนิด” ในการครุ่นคิดและตัดสินใจ

ว่าจะร่วมกันนำพาอนาคตของประเทศนี้ไปบนเส้นทางไหน

กอดคอลงเหวไปด้วยกันทั้งหมด

หรือจูงมือกันแผ้วถางเส้นทางใหม่

ที่อาจจะเหนื่อยหนาสาหัสสักหน่อยในเบื้องต้น แต่จะเป็นคุณกับคนส่วนใหญ่ในระยะยาว

ที่สำคัญคืออย่าเผลอไปหลงเชื่อคำโฆษณา ว่าจะมีทางลัดพาทุกคนเหาะขึ้นสวรรค์ไปด้วยกันได้

ถ้ามีเส้นทางแบบที่ว่าอยู่จริง

เราคงไม่เดินกันมาอยู่จุดนี้ได้ล่ะครับ

มีคำคมอยู่ว่า ทุกการรบ จบที่การเจรจา

คำถามคือว่า สังคมไทยจะฉลาด อดกลั้น มีวุฒิภาวะมากพอ ที่จะข้ามการรบ แล้วให้ไปจบที่การเจรจาเลยได้หรือไม่

หรือจะพร้อมใจกันสวมเครื่องแบบคางคก ต้องยางหัวตก ถึงจะรู้สำนึก

ยังเลือกได้และยังมีเวลาเลือกนะครับ

เพียงแต่อย่างที่บอก เวลานั้นเหลือน้อยเต็มที

จะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างไร

ใครพร้อมจะเสียสละ ใครจะเห็นแก่ตัวน้อยกว่ากัน

หรือใครจะสาดน้ำมันเข้ากองไฟ เร่งให้วิกฤตขยายวงยิ่งขึ้น

ได้วัดกันในเวลาชี้เป็นชี้ตายนี่ล่ะครับ