ฐากูร บุนปาน | 88ปี ประชาธิปไตยยังเป็นวุ้น พานท้ายปืนยังเป็นดุ้นอยู่

“ใช้ทองแดงเป็นคันฉ่อง ทำให้จัดอาภรณ์แต่งกายได้เหมาะสม

“ใช้ประวัติศาสตร์โบราณเป็นคันฉ่อง ทำให้รู้ความรุ่งเรืองและล่มสลายของแว่นแคว้น

“ใช้คนเป็นคันฉ่อง ทำให้รู้ว่าผิดถูกอย่างไร”

อาจารย์กนกพร นุ่นทอง หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจีน ขึ้นต้นคำนำหนังสือ “เปิดม่านมังกร บทเรียนจากความล้มเหลว” เอาไว้ด้วยประวัติเว่ยเจิง ในพงศาวดารราชวงศ์ถัง

ที่ระบุกันว่าเป็นคำไว้อาลัยที่จักรพรรดิถังไท่จงผู้ยิ่งใหญ่ มีต่อเว่ยเจิง ขุนนางคนสำคัญ ผู้กล้าหาญทักท้วงความผิดพลาดของเจ้าชีวิต

ขอบคุณ “พี่วิ” ระวิ โหลทอง ในฐานะคนคอเดียวกันที่กรุณาส่งหนังสือจีนทั้งกำลังภายในและอื่นๆ ในเครือสยามสปอร์ตมาให้อ่านบ้าง ช่วยตรวจปรู๊ฟบ้าง (ฮา) อยู่เป็นประจำ

รวมทั้งหนังสือเล่มล่าสุด

ที่พอได้รับปุ๊บก็หยิบขึ้นมาอ่านด้วยความกระหายปั๊บ

เป็นอารมณ์เดียวกันตอนที่สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์หนังสือ “ตะวันลับที่ต้าถัง” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นั่นก็อ่านรวดเดียวจบด้วยความเมามัน

แล้วเที่ยวไล่แจกชาวบ้านให้ช่วยกันอ่านด้วย

เพื่อจะใช้ “ประวัติศาสตร์โบราณเป็นคันฉ่อง ทำให้รู้ความรุ่งเรืองและล่มสลายของแว่นแคว้น” อย่างที่ถังไท่จงเขาว่าไว้

เพราะหนังสือหรือเรื่องเล่าส่วนใหญ่ในโลกนี้มักจะพูดถึงความรุ่งเรืองและความสำเร็จเป็นหลัก

น้อยคนหรือน้อยเล่มนักที่จะพูดถึงบทเรียนจากความล้มเหลว ที่เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน

หรือเผลอๆ จะสำคัญกว่า

อย่างที่มีคำคมเขาพูดกันนั่นละครับว่า ก้าวขึ้นไปเป็นที่หนึ่งว่ายากแล้ว รักษาสถานะความเป็นที่หนึ่งยิ่งยากกว่า

ปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์มติชนออกหนังสือที่ให้ข้อคิดจากความ “ไม่สำเร็จ” ออกมาหลายเล่ม

ตะวันลับที่ต้าถังนั่นก็ใช่

“ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพีนั่นก็ใช่

“เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” ของคุณสุพจน์ ธีระวัฒนชัย ผู้บริหารใหญ่ของเครือโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ก็ใช่อีก

บทสรุปจากความล้มเหลว (ที่บางส่วนล้มพับไปเลย แต่บางคนลุกกลับขึ้นมาใหม่ได้) ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักร ประเทศ สังคม หรือบุคคลเหล่านี้

มีคุณทั้งสิ้น

อย่างน้อยก็กระตุกสติเวลาที่อ่าน

ไม่ให้เตลิดเพริดหลงไปกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง

ให้ข้อคิดเตือนใจว่าอะไรก็ตามล้วนแล้วแต่อยู่ใต้กฎไตรลักษณ์-เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป-ทั้งสิ้น

ไม่อยากดับเร็วนัก ก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์โบราณ จากท่านผู้รู้ทั้งหลายเอาไว้

ได้มากได้น้อยก็แล้วแต่วาสนา (ที่แปลว่าความตั้งใจ) ของแต่ละคนไป

แล้วตามประสานักข่าว

พอเจอะเจอเข้ากับอะไรที่สะกิดใจ ก็อดเอามาโยงกับสถานการณ์สังคมที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ไม่ได้

หรือใครคิดว่าวันนี้สังคมไทยไม่อยู่ในภาวะ “เสื่อมถอย”?

การเมืองการปกครองก็เละเป็นโจ๊ก

ครบรอบ 88 ปีของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้ไปแล้ว

แต่ประชาธิปไตยยังเป็นวุ้น พานท้ายปืนยังเป็นดุ้นอยู่

เศรษฐกิจไม่ต้องมีโควิด-19 เข้ามาช่วยตอกย้ำ ก็เห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าเดินถอยหลังลงคลองเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านหรือทั้งโลก

ความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งนานวันยิ่งถ่างกว้างขึ้นทุกที การไม่เตรียมตัวทำการบ้านหรือเลอะเทอะไปทำการบ้านผิดเรื่อง

ยิ่งทำให้หลังใกล้น้ำเข้าไปเรื่อยๆ

ไม่กล้าไม่บังอาจที่จะไปบอกผู้มีอำนาจทั้งหลาย ที่กำลังเพลิดเพลินกับภาวะฝนตกขี้หมูไหล

ให้หยิบจับหนังสือที่ว่ามานี้ขึ้นมาอ่าน

เพื่อเตือนใจ หรือเผื่อจะทำให้ฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้บ้างหรอกครับ

บอกกับคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ด้วยกันนี่แหละ

ว่าถ้าว่าง หรือถ้าสนใจ อยากรู้ว่าปัจจัยของความรุ่งเรืองแล้วกลายเป็นเสื่อมโทรมคืออะไร

เพื่อจะหาทางปกป้องดูแลตัวเอง ดูแลคนที่รักใคร่ชอบพอ หรือมากกว่านั้นคือดูแลสังคม

ก็รีบเข้าเถอะครับ

เวลาดูเหมือนจะเหลือน้อยเต็มที


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่