ฐากูร บุนปาน | ความมั่นคงของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน

ในช่วงเวลาไม่ใกล้ไม่ไกล มีข้อถกเถียงที่เป็นประเด็นร้อน ทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง

ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ส่งไม้ต่อไปให้ กอ.รมน.

โดยเฉพาะประเด็นปรับทัศนคติ

ซึ่งถูกคัดค้านเสียงขรม

ทั้งในแง่หลักการและผลที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

เอาประเด็นหลักการก่อน

ใครควรจะเป็นคนที่ถูกปรับทัศนคติ

ระหว่างคนที่ต่อสู้เรียกร้อง (ด้วยวิธีการอารยะ) เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกและอื่นๆ

หรือคนที่ถือปืน/อำนาจปิดปากคนอื่น ด้วยปืนเป็นใหญ่มากกว่าเหตุผล

ใครควรจะเป็นคนที่ถูกปรับทัศนคติ

ระหว่างฝ่ายที่ยืนยันว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน

กับฝ่ายที่ถือปืน/อำนาจเข้าข่ม แสดงความเหนือกว่าด้วยกำลัง (ที่ได้มาจากเงินภาษีของอีกฝ่าย)

ใครควรจะเป็นคนที่ถูกปรับทัศนคติ

ระหว่างคนที่เห็นว่าความปรองดองสามัคคี ต้องเริ่มจากการยอมรับความแตกต่าง และหันหน้ามาพูดจากันแบบคนธรรมดา

กับฝ่ายที่ถือปืน/อำนาจ ที่จะต้องให้ทุกคนหันซ้ายหันขวาไปทางเดียวกัน ไม่เปิดให้ความคิดความเห็นที่แตกต่างงอกเงยขึ้นมาได้

ระหว่างฝ่ายที่ยืนยันในเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

กับฝ่ายที่ปฏิเสธหลักการเหล่านี้

ใครควรจะเป็นคนที่ถูกปรับทัศนคติ

แล้วความย้อนแย้งในหลักการนั้นส่งผลอย่างไร

ถ้ามาตรการปรับทัศนคติของ คสช. (ที่ยังส่งไม้ต่อถึง กอ.รมน.) มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลจริง

ป่านนี้คนไทยทั้งประเทศคงลุกขึ้นมาเชียร์มาตรการนี้ เชียร์ คสช. เชียร์ กอ.รมน. กันให้สนั่นหวั่นไหว

แต่ในชีวิตจริงกลับตรงข้าม

คสช. (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปไหน) ก็คงตระหนักแก่ใจ หรือ (ถ้าไม่แกล้งหูหนวกตาบอด) ก็จะรับรู้ว่า แรงต้านหรือเสียงวิจารณ์นั้นมีแต่มากขึ้น

ไม่มีน้อยลง

ผลการเลือกตั้ง (ถ้าไม่บิดเบือนกันชนิดหน้าด้านๆ) ก็ดี

เสียงวิจารณ์ที่ดังมากขึ้น โดยเฉพาะจากฝ่ายเดียวกันที่เคยสนับสนุนก็ดี

บ่งชี้ว่าการปรับทัศนคติไม่ใช่แค่ไม่ได้ผล

แต่ยังล้มเหลวอีกต่างหาก

กล่อมฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้ แถมฝ่ายตัวยังเพิ่มแรงต้านด้วยอย่างนี้แล้ว

ใครควรจะเป็นคนที่ถูกปรับทัศนคติ

และขออนุญาตทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า

เรายังต้องมี กอ.รมน. เป็นรัฐซ้อนรัฐต่อไปทำไม

กอ.รมน. เป็นผลพวงจากการทำสงคราม (ความเชื่อและสู้รบจริง) กับคอมมิวนิสต์

ที่รัฐทหารไทยยุคนั้นถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง

แต่วันนี้คอมมิวนิสต์หมดไปหรือกลายพันธุ์จนไม่สามารถส่งผลคุกคามต่อความมั่นคงแล้ว

กอ.รมน.กลับเติบใหญ่ มีอำนาจมากขึ้น ขยายขอบเขตเรื่องความมั่นคงไปมากขึ้น

โดยสังคมก็งงๆ อยู่ว่า แล้วอะไรคืออันตรายกับความมั่นคง

เอาเข้าจริงแล้ว ใช่ กอ.รมน.เองหรือไม่

ทำไมตั้งคำถามอย่างนั้น

ก็เพราะภารกิจของกองทัพ คือการยื่นปืนชี้ออกไปป้องปรามการคุกคามจากภายนอก

ในขณะที่การจัดการปัญหาภายในประเทศที่ละเอียดอ่อนกว่า

ซึ่งต้องใช้ปัญญามากกว่าใช้กำลัง มีองค์กรอื่นที่มีหน้าที่อื่นๆ อีกนับร้อยดำเนินการอยู่แล้ว

ถ้าการเอาปืนหันกลับเข้ามาในประเทศแล้วแก้ปัญหาได้สำเร็จ

ไม่ต้องรอถึงรัฐประหาร 2557

ปฏิวัติรัฐประหารหนที่ผ่านๆ มาคงแก้ปัญหาประเทศไทยลุล่วงไปแล้ว

ทำงานผิดฝาผิดตัว ผิดหลักการ แล้วยังไม่เรียนรู้

ยังทำซ้ำเดิมโดยหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป

องค์กรแบบนี้จะมีไว้ทำไมครับ

ด้วยความเคารพ

อย่าให้มีองค์กรที่เป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ที่เอาเข้าจริงแล้วสร้างความหวาดระแวง ความแตกแยก มากกว่าสร้างความปรองดอง หรือความมั่นคงปลอดภัยอะไรที่ว่าๆ กันเลย

ความมั่นคงของผู้มีอำนาจ ที่ไม่ใช่ความมั่นคงเดียวกันกับของประชาชน ไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหนๆ

พาบ้านเมืองพินาศบรรลัยมากี่ครั้งแล้ว

เรารู้จักเรียนรู้กันบ้างหรือไม่