เกษียร เตชะพีระ : “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว”

เกษียร เตชะพีระ

 “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว” (1)

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือ ปรัชญาการเมือง : ความรู้ฉบับพกพา ของ เดวิด มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ร่วมกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ openworlds กับศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ มธ. ท่าพระจันทร์

ค่าที่ผมเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้เองและได้สอนวิชาต่างๆ เกี่ยวกับปรัชญาและทฤษฎีการเมืองมาร่วม 25 ปี เมื่อเจ้าภาพเรียกหา ก็ต้องรับแหละครับ

ระหว่างกำลังตระเตรียมเรียบเรียงเนื้อหาเสวนาอยู่ ผมก็มาเตะตาสะดุดใจกับเนื้อความที่อาจารย์ประจักษ์เขียนโฆษณาเชิญชวนให้คนมาร่วมงานที่ปรากฏในโปสเตอร์และโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า :

“ปรัชญาการเมืองตายแล้ว?

ขอบคุณภาพจาก Youtube Ch.Political Science TU

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในศตวรรษที่ 21

ปรัชญาการเมืองยังมีน้ำยาหรือไม่?

ปรัชญาการเมืองมีคุณค่าความหมายอย่างไรในโลกยุคใหม่?

และทำไมเราจึงต้อง “อ่าน” ปรัชญาการเมือง?

ในยุคสมัยที่ความเชื่อทางการเมืองทั่วโลกเริ่มสั่นคลอน อาจถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาสำรวจปรัชญาการเมืองกันอีกครั้ง…”

โดยมิได้นัดหมาย แต่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเสียทีเดียว เนื้อความดังกล่าวไปพ้องกับข้อสังเกตของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในคอลัมน์ประจำวันจันทร์ของท่านที่มติชนรายวัน ซึ่งตีพิมพ์ออกมาไล่ๆ กันพอดี ความตอนท้ายว่า :

“จะด้วยเหตุใดไม่ขอกล่าวถึง โลกเราเวลานี้เป็นโลกที่ขาดพลังขับเคลื่อน อุดมการณ์ที่เคยขับเคลื่อนผู้คน – ชาตินิยม, ประชาธิปไตย, วิทยาศาสตร์, เสรีนิยม, ทุนนิยม, สังคมนิยม, ท้องถิ่นนิยม, ศาสนา, ลัทธิพิธี (cults), การพัฒนา, เสรีนิยมใหม่ ฯลฯ – หมดพลังขับเคลื่อนอย่างที่เคยมีมาแล้ว ตัวบุคคลที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนนับวันก็ร่อยหรอลง เพราะสิ้นอายุขัย

“เหลือแต่คนอย่างทรัมป์, ปูติน, สีจิ้นผิง, อาเบะ, ดอว์ซู, หรือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“เราทุกคนบนโลกใบนี้กำลังเคลื่อนเข้าไปมีชีวิตในรัฐที่ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากระบบราชการ ซึ่งไม่มีแม้แต่พลังที่จะทำหน้าที่ของตนเองคือกำกับควบคุมหรือ regulate

“นี่คือยุคแห่งความหงอยเหงาที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าประชากรโลกจะหลุดพ้นออกไปได้”

(“ยุคแห่งความหงอยเหงา”, 30 ต.ค. 2560, https://www.matichon.co.th/news/712923)

คงพอเห็นนะครับว่าอาการหงอยทางอุดมการณ์ (ideological desolation) ดังกล่าวปรากฏแพร่หลายในโลกรอบตัวเราอยู่

ขอบคุณภาพจาก Youtube Ch.Political Science TU

คำถามที่น่าสนใจคือมันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผมนึกถึงคำอธิบายที่เป็นไปได้เกี่ยวกับความหงอยที่ว่านั้นชุดหนึ่งซึ่งอ่านพบนานมาแล้วจากงานของนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองบางคน ได้แก่ Slavoj ?i?ek โดยอ้างอิง Alain Badiou ใน “Revolution must strike twice”, ค.ศ.2001 (https://www.lrb.co.uk/v24/n14/slavoj-zizek/revolution-must-strike-twice) และ Albert O. Hirschman, The Rhetoric of Reaction, ค.ศ.1991 ในทำนองว่า :

อันว่าความพยายามของมนุษยชาติที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น เช่น อุดมคติแบบยูโทเปียเอย หรือโครงการทางสังคมศาสตร์เพื่อพลิกเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นเอย ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหลายแหล่นั้น รังแต่จะลงเอยเป็นความเลวร้ายบัดซบ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะขึ้นชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์ย่อมกำกับด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่ :-

1.ความวิปริต (perversity thesis) : การกระทำใดที่ตั้งใจปรับปรุงระเบียบการเมือง สังคม เศรษฐกิจบางด้านให้ดีขึ้นรังแต่ทำให้สภาพที่หวังจะแก้ไขเยียวยากลับยิ่งเลวร้ายลง

หากยกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ของบ้านเราเป็นกรณีตัวอย่าง ทรรศนะนี้ก็จะมองว่าเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไม่เห็นอะไรดีขึ้น ไม่ได้ประชาธิปไตยมาจริง กลับวิปริตเฉไฉไปเสีย กลายเป็นแค่เปลี่ยนจากการปกครองโดยกษัตริย์องค์เดียว (ระบอบสมบูรณาฯ) มาเป็นกษัตริย์หลายองค์ (ระบอบคณาธิปไตย)

หรือนัยหนึ่งตรงกับภาษิตที่ว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” เสียฉิบ

2.ความเหลวเปล่า (futility thesis) : การพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมมีแต่เปล่าประโยชน์ ไม่ยังความก้าวหน้าใดให้เกิดขึ้นมา

ในทำนองเดียวกัน การปฏิวัติ 2475 ก็ถูกวิจารณ์ว่าเหมือน “เข็นครกขึ้นภูเขา” คือทั้งที่เข็นครกอันหนักหน่วงขึ้นเขาไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก แต่พอถึงยอดเขาแล้ว ก็ทำอะไรอื่นไม่ได้ นอกจากปล่อยมันกลิ้งกลับลงมาอยู่ตีนเขาเหมือนเดิม เสียแรงเปล่าทั้งเพ

ผ่านไปสิบกว่าปีจนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สุดท้ายก็ได้การปกครองระบบเผด็จอำนาจอัตตาธิปไตยมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. รอบสอง ไม่เห็นมีอะไรก้าวหน้าเปลี่ยนแปลง

ปฏิวัติเสียเปล่าทั้งเพ

3.เภทภัย (jeopardy thesis) : ต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปที่เสนอนั้นแพงเกินไปเพราะมันเป็นภัยต่อความสำเร็จทรงคุณค่าแต่เก่าก่อน

การโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงไป แล้วได้ระบบอำนาจนิยมของชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการมา ถูกมองว่าเหมือน “โค่นต้นโพธิ์ต้นไทรลงไป แล้วปลูกต้นตำแยขึ้นแทน” ไม่คุ้มค่ากันเลย

นำไปสู่ข้อสรุปสุดท้ายว่า : “The 20th century did not take place.” หรือราวกับคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่เคยบังเกิดขึ้นเลย เพราะมนุษยชาติเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยความคาดหวังอันยิ่งใหญ่และความพยายามปฏิวัติเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานา แต่ทว่ามันกลับจบลงด้วยความวิปริตสูญเปล่าฉิบหายวายป่วงทั้งเพ ในรูปค่ายกักกันใช้แรงงานทาสกูลักของโซเวียต, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของพวกนาซี, ความอดอยากล้มตายในการรณรงค์ก้าวกระโดดใหญ่ทางเศรษฐกิจ และการรังควานกดขี่ขัดแย้งรบพุ่งกันกลางเมืองในการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนแดง, คุกตูลสะแลงของเขมรแดง, สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีตยูโกสลาเวีย, คุกอาบู กราอิบของอเมริกาในอิรัก, ฯลฯลฯลฯ เป็นต้น

ราวกับ 100 ปีที่ผ่านมานั้นไม่เคยเกิดขึ้น มนุษยชาติไม่เคยได้ทำอะไรให้เป็นมรรคเป็นผลเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาเลยในรอบร้อยปีนั้น สุดท้ายโลกก็วนกลับมาที่เก่า สภาพนิ่งเน่าเท่าเดิมหรืออาจแย่กว่าก่อนด้วยซ้ำไป

อันเป็นโครงสร้างความรู้สึกเดียวกับที่มีใครสักคนเขียนกลอนบทหนึ่งติดโปสเตอร์ไว้หน้าตึกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงคืนวันหลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อพฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ว่า :

“ผ่านหกสิบปีไปเปล่าเปล่า หวังใดได้เล่าเฝ้าวาดหลัง

สังคมมีแต่แผลเรื้อรัง กับซากปรักหักพังประชาธิปไตย”

และเนื่องจากความล้มเหลวของยูโทเปียและโครงการพลิกเปลี่ยนสังคมสมัยใหม่ดังกล่าว สิ่งที่ถูกนำเสนอมาทดแทนในระยะใกล้ๆ ที่ผ่านมาจึงกลับกลายเป็นสูตรผสมที่ออกจะผิดเพี้ยนพันทาง เช่น :-

– ศาสนา (+ชาตินิยม) และแนวคิดอิสลามทางการเมือง เช่น กลุ่ม ISIS, อิสลามหัวรุนแรงในอินโดนีเซีย, ชาวพุทธสุดโต่งในพม่า, ลัทธิชาตินิยมฮินดูในอินเดีย, ลัทธิชาตินิยมคริสเตียนผิวขาวในอเมริกาและบางประเทศยุโรป เป็นต้น

– การเคลื่อนไหวประชานิยม (Populism) ในหลายประเทศทั่วโลกอันเป็นปฏิกิริยาด้านกลับต่อผลเชิงลบของแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่โลกาภิวัตน์ และความตีบตันไร้นโยบายทางเลือกของระบอบเสรีประชาธิปไตย

– ลัทธิบูชาบุคคล/ผู้นำ (the cult of personality) เช่น ปูตินที่รัสเซีย, สีจิ้นผิงที่จีน, คิมจองอึนที่เกาหลีเหนือ

ในแง่หนึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นปฏิกิริยาตอบกลับต่อความล้มเหลวของอุดมการณ์พลิกเปลี่ยนสังคมสมัยใหม่กระแสหลักที่ตั้งอยู่บนฐานปรัชญายุครู้แจ้งทั้งหลาย

(ต่อสัปดาห์หน้า)