เกษียร เตชะพีระ | นโยบายอเมริกันต่อจีนยุคทรัมป์ : บทเรียน

เกษียร เตชะพีระ

นโยบายอเมริกันต่อจีนยุคทรัมป์ : บทเรียน (2)

มีบทเรียนหลายประการ

ที่อเมริกาและโลกสามารถเก็บรับได้จากการดำเนินนโยบายต่อจีน

ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

1)ทรัมป์ช่วยเตือนอเมริกาและโลกให้ตระหนักสำนึกถึงความเป็นอภิมหาอำนาจในโลกของสหรัฐ

จุดแข็งแห่งนโยบายแปลกแหวกแนวของทรัมป์ต่อจีนดังแสดงออกในการลั่นไกสงครามการค้าด้วยการขึ้นพิกัด อัตราภาษีศุลกากรสินค้าเข้าจากจีนเมื่อกลางปี ค.ศ.2018 อยู่ตรงมันส่งสัญญาณแรงตรงเตือนจีนและโลกถึงสถานะที่อเมริกาเคยเป็นมาแต่ก่อน กล่าวคือ

อภิมหาอำนาจที่สามารถบงการคู่แข่งให้ยอมตามเงื่อนไขของตนได้!

แม้แต่ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายต่างประเทศของนางฮิลลารี คลินตัน แต่ก่อน และของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในปัจจุบันอย่าง Jake Sullivan ก็ยังยอมรับว่าทรัมป์ถนัดสันทัดการวางกรอบประเด็นนโยบายต่างประเทศให้อเมริกาและตัวเองได้เปรียบ

ดังที่เขากล่าวในการสนทนาเกี่ยวกับอเมริกากับโลกในพอดคาสต์ของ Lowy Institute ออสเตรเลียเมื่อ 19 มิถุนายนศกนี้ตอนหนึ่งว่า (https://www.lowyinstitute.org/news-and-media/multimedia/audio/conversation-jake-sullivan-us-and-world) :

“ผมเห็นจริงครับว่าทรัมป์พลิกคว่ำเขย่าเทสิ่งต่างๆ ในระดับที่แน่นอนในแง่วิธีที่เขาบรรยายและวางกรอบบางประเด็นปัญหาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของอเมริกาและสร้างขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้นสำหรับการประเมิน วินิจฉัยมันอย่างจริงจังซึ่งควรทำมาตั้งนานแล้ว”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเห็นว่าทรัมป์ช่ำชองเป็นพิเศษในการเชื่อมโยงภาวะตกระกำลำบากทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางอเมริกันเข้ากับการค้าโลกและการผงาดขึ้นมาของจีน

ผลลัพธ์โดยรวมก็คือ ทรัมป์ช่วยเตือนชาวอเมริกันและโลกให้ตระหนักว่าสหรัฐแข็งกล้าเพียงใดเวลาที่มันกร่างกร้าว อันเป็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐก่อนหน้านี้ไม่ใคร่อยากทำนัก

2)ทรัมป์ยังแสดงให้เห็นว่ากำลังหักดิบใช้ได้ผลสำคัญเป็นครั้งคราวในการดำเนินวิเทโศบายกับจีน

กรณีตัวอย่างได้แก่ การที่สหรัฐแซงก์ชั่นเล่นงานบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีของจีน

เมื่อปีก่อนการรณรงค์ของสหรัฐให้นานาประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วเลิกหันไปใช้มาตรฐานบริการเทคโนโลยี 5 G ของหัวเว่ยเพื่อป้องกันความมั่นคงทางไซเบอร์ของตนจากการจารกรรมของจีนทำท่าจะคว้าน้ำเหลว

แม้แต่อังกฤษซึ่งเป็นหุ้นส่วนข่าวกรองใกล้ชิดสนิทแน่นและยืนนานที่สุดของสหรัฐ สหรัฐก็ยังต้องลงเรี่ยวแรงเกลี้ยกล่อมอยู่นานสองนานให้ยอมขับไสหัวเว่ยไปจากฐานะครอบงำในเครือข่ายโทรคมนาคมของอังกฤษ

ทว่าหลายเดือนให้หลัง การรณรงค์กดดันอย่างเสียงดังฟังชัดของไมก์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐก็ประสบผล อังกฤษเข้าร่วมการแซงก์ชั่นหัวเว่ยด้วย รวมทั้งหลายประเทศในยุโรปยกเว้นเยอรมนี ข้างแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์และอีกหลายชาติต่างก็พากันหันไปใช้บริการ 5 G ของบริษัทอื่นที่ไม่ใช่หัวเว่ยแทน

เรื่องนี้บ่งชี้ว่าแม้ในยามอำนาจอเมริกันค่อนข้างอยู่ในช่วงขาลง แต่กระนั้นมันก็ยังน่าเกรงขามเพียงใด สหรัฐยังเพิ่มแรงกดดันซ้ำเติมโดยสั่งห้ามขายเทคโนโลยีของบริษัทเอกชนอเมริกันทั้งหลายให้หัวเว่ยอีกต่างหาก

3)จุดอ่อนฉกรรจ์ของทรัมป์อยู่ตรงอำนาจต่อรองกับจีนเพิ่มขึ้นที่เขาสามารถสร้างสมมาได้นั้นกลับถูกเจ้าตัวเอา ไปใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉกหมด

ดังที่ Jake Sullivan ชี้ว่า ขณะที่ข้อวินิจฉัยของทรัมป์เกี่ยวกับความบกพร่องอ่อนปวกเปียกของนโยบายต่างประเทศอเมริกันแต่ก่อนนับว่ามีคุณประโยชน์อยู่ ทว่าข้อเสนอแนะของเขาเพื่อเยียวยาแก้ไขกลับล้มเหลว

นี่เป็นประเด็นที่ทรัมป์ถูกวิพากษ์หนักหน่วงที่สุดในการดำเนินวิเทโศบายต่อจีน กล่าวคือ ทรัมป์บริหารปกครองในลักษณะก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ ไม่คงเส้นคงวา พลิกพลิ้วไหวตามอารมณ์ ลิ้น และปลายนิ้ว (ที่กดพิมพ์ทวิตเตอร์) ของตัว จนยากที่ทรัมป์เองจะดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศอย่างแน่วแน่ยั่งยืนได้ (ถ้าหากเขาจะมียุทธศาสตร์ดังว่าอยู่จริง) จนบรรดาประเทศพันธมิตรของอเมริกาบ่นอุบว่าทรัมป์จะเอาไงกันแน่ (วะ) ขอยกตัวอย่างในด้านนโยบายต่างประเทศ เช่น :

– ทรัมป์กล่าวโจมตีเกาหลีใต้ไม่หยุดหย่อนผ่อนคลายเรื่องไม่ช่วยแบ่งเบาต้นทุนค่าใช้จ่ายของการคงกำลังทหารอเมริกันไว้ที่นั่นไปมากขึ้น

– ทรัมป์ข่มขู่ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของอเมริกาในเอเชียตะวันออกที่ช่วยถ่วงทานจีนไว้ ว่าจะขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเอากับรถยนต์นำเข้าจากประเทศทั้งสอง

– ทรัมป์ทำให้พันธมิตรหลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีรู้สึกแปลกแยกจากอเมริกาด้วยการกล่าวดูถูกดูแคลนนาโต้ สหภาพยุโรปและทวีปยุโรปอยู่เสมอ

จน Robert B. Zoellick อดีตประธานธนาคารโลก ผู้แทนการค้าและ รมช.ต่างประเทศสหรัฐพรรครีพับลิกัน เขียนตบท้ายบทวิพากษ์ทรัมป์ใน น.ส.พ. The Washington Post เมื่อเดือนตุลาคมศกนี้ว่า :

“ทรัมป์เสแสร้งทำทีว่าการเที่ยวหาเรื่องระรานไปทั่วนั้นเป็นยุทธศาสตร์”

(https://www.washingtonpost.com/opinions/2020/10/07/trump-is-losing-his-new-cold-war-with-china/)

อย่างในกรณีสงครามการค้าขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากร การเปิดฉากรุกโจมตีก่อนของทรัมป์ทำให้จีนเสียศูนย์ไปบ้าง แต่เอาเข้าจริง ข้อตกลงการค้ากับจีนอย่างจำกัดที่อเมริกาได้มาในตอนท้ายกลับไม่ได้แก้ไขพฤติกรรมต่างๆ ของจีนซึ่งเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจหลักของรัฐบาลสหรัฐเลย กล่าวคือ :

“เมื่อเขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (ค.ศ.2017) ทรัมป์ประกาศว่าเขาจะยุติการค้าขาดดุลของสหรัฐกับจีน ทว่าตัวเลขขาดดุลการค้าปี ค.ศ.2019 ที่ 346 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นแทบจะเทียบเท่าการขาดดุลการค้าปี ค.ศ.2016 เผงเลยทีเดียว

“ยิ่งกว่านั้น แนวโน้มก็เป็นคุณกับฝ่ายจีนด้วย นั่นคือสำหรับปีนี้นับถึงเดือนสิงหาคม สินค้าออกของสหรัฐไปจีนเพิ่มขึ้นแค่ 1.8% ขณะที่จีนขายของให้อเมริกาพุ่งพรวดขึ้น 20% ที่ย่ำแย่ไปกว่านี้เสียอีกก็ตรงที่ยอดขาดดุลการค้า และบริการของสหรัฐทั่วโลกสมัยรัฐบาลทรัมป์เพิ่มขึ้นจาก 481 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2016 ไปเป็น 577 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2019 ส่วนหนึ่งเพราะสินค้าออกบางอย่างของจีนเพียงแค่เปลี่ยนย้ายไปผลิตในประเทศอื่นๆ เท่านั้นเอง หาได้ย้ายมาลงที่ผู้ผลิตในสหรัฐไม่

“ข้อตกลงการค้าของทรัมป์กับจีนก็เหลวเป๋วทั้งเพ แทนที่จะบรรลุการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอุปสรรคและกฎเกณฑ์การค้าทั้งหลายของจีน กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลทรัมป์เลือกเอาการค้าที่รัฐชี้นำมาแทน ทว่าช่วงปี ค.ศ.2020 ปัจจุบันก็ผ่านไปสามในสี่แล้ว ปรากฏว่าจีนบรรลุได้ไม่ถึงหนึ่งในสามของสนธิสัญญากำมะลอของทรัมป์ด้วยซ้ำไป ยิ่งกว่านั้น ข้อตกลงของทรัมป์ยังละเว้นไม่เอ่ยถึงสินค้าออกของสหรัฐเกือบ 40% และเอาเข้าจริงจีนก็ซื้อสินค้าเหล่านั้น น้อยลงถึง 30% อีกด้วย

“ดังที่จอห์น บอลตัน อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลทรัมป์ได้เปิดเผยว่า ทรัมป์ยอมยกเลิกการแซงก์ชั่นบริษัทเทคโนโลยีจีนทั้งหลายเมื่อจีนเสนอจะเริ่มซื้อสินค้าเกษตรที่ล่อแหลมอ่อนไหวทางการเมืองจากสหรัฐใหม่ แต่ถึงกระนั้น ความขัดแย้งทางการค้าของทรัมป์ก็บีบเค้นให้เขาต้องยอมจ่ายเงิน 28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อชดเชยให้เกษตรกรอเมริกัน มิหนำซ้ำเขายังยัดเยียดบิลเสียภาษีรายปีที่สูงขึ้นในการซื้อสินค้าจากจีนมาให้ชาวอเมริกันอีก 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐปีที่แล้ว หน่วยวิเคราะห์ของมูดี้ส์ประเมินว่าสงครามการค้าของทรัมป์กับจีนส่งผลให้มีการสร้างงานในสหรัฐน้อยลงถึง 3 แสนตำแหน่งด้วย”

เจ้าหน้าที่สหรัฐหลายคนผู้ทำงานให้รัฐบาลทรัมป์และสนับสนุนนโยบายแข็งกร้าวขึ้นต่อจีนก็เห็นด้วยกับคำวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ข้างต้น ที่โดดเด่นได้แก่ จอห์น บอลตัน อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลทรัมป์ ผู้มีแนวคิดสายเหยี่ยว

เขาเขียนเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง The Room Where It Happened : A White House Memoir (มิถุนายน ค.ศ.2020) ว่าในการประชุมหลายครั้งกับสีจิ้นผิง ผู้นำรัฐ-พรรคจีน ทรัมป์กล่าวหนุนหลังทางการจีนที่กักกันชาวอุยกูร์ไว้นับล้าน และขอให้เฮียสีสนับสนุนการรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบใหม่ของตนด้วย (ดูบทที่ 10 Thunder out of China ของหนังสือ)

สรุปได้ว่า บุคลิกและอุปนิสัยส่วนตัวอันบกพร่องของทรัมป์ที่เป็นคนบ้ายอ ปลื้มพวกจอมเผด็จการ และไม่ยึดมั่น ถือมั่นหลักการใดๆ ทั้งสิ้น เป็นตัวการบั่นทอนบ่อนทำลายจุดยืนนโยบายสาธารณะของตัวทรัมป์เองรวมทั้งผลประโยชน์ของสหรัฐที่กว้างออกไปด้วย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)