ศิลปิน นักวิชาการ เห็บหมา และประชาธิปไตย

แม้จะมีการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานในสังคมไทย แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางสว่างชัดเจนนัก

บ่อยครั้งเราจะเห็นการเรียกร้องความรับผิดชอบจากฝ่ายตรงข้าม โดยประณามว่าอีกฝ่ายมีส่วนชักลากถูประเทศไทยให้ถอยหลังเข้าคลอง

หลายคนพยายามหาทางออกด้วยการประนีประนอม

เมื่อไม่นานมานี้เราก็ได้เห็นการเรียกร้องให้เลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” ตีตราบผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับฝ่ายที่เรียกตนเองว่าฝ่ายก้าวหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับตัวกลับใจ (หรือกลับลำ)

คำถามคือปัญญาชนที่มีบทบาทสร้างสรรค์ความรู้ และพลังทางปัญญาให้สังคมนั้น มีท่าทีอย่างไรได้บ้าง เมื่อต้องเข้าไปคลุกกับประเด็นทางสังคมการเมือง

เราจะเห็นได้ว่าหลายคนกระตือรือร้นเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ

แต่ก็มีไม่น้อยที่บอกปัดไม่เข้าร่วมสังฆกรรม

ศิลปิน พระ และนักวิชาการบางคนจากที่เคยสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าก็หันมาวิพากษ์วิจารณ์บางประเด็น

จนฝั่งตรงข้ามวิจารณ์ว่าเป็น “เห็บหมา” อันเป็นคำบริภาษที่ชวนขื่นขัน

แล้วจะมีบทเรียนหรือทางออกอื่นใดนอกเหนือจากสภาวะที่ชวนกระอักกระอ่วนใจนี้บ้างหรือไม่

ผมขบคิดประเด็นนี้มานานพอสมควร และพบว่างานศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างศิลปิน นักเขียน และนักวิทยาศาสตร์ (หรือกล่าวให้กว้างคือนักวิชาการ) ที่เรียกว่าการศึกษาพัฒนาการช่วงหลังจากที่เขาเหล่านั้นนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ออกมาแล้ว (a post-creative development) ในงานวิจัยของเจมส์ นูแนน และโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์

ทั้งนี้เพราะความคิดหรือการสร้างสรรค์นั้น ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย

ผมขอยกตัวอย่างที่นูแนนและการ์ดเนอร์แบ่งผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องจัดการกับผลงานของตัวเองมาเพียง 3 แบบ (จากทั้งหมด 4 แบบ) ได้แก่ พวกน้ำขึ้นแล้วรีบตัก (the opportunist) เป็นคนที่พยายามหาประโยชน์จากผลงานของตน

พวกนักพนันดวงตก (the unlucky gambler) ที่อยากเข้าไปหาประโยชน์ แต่กลับพลาดพลั้งเสียทีจนต้องแปดเปื้อนและเสียชื่อเสียง และพวกถึงคราวซวย (the hostage) คือไม่อยากเข้าร่วมด้วย แต่ดันโชคร้ายโดนดึงไปพัวพันโดยไม่สมัครใจ

ตัวอย่างของพวกน้ำขึ้นแล้วรีบตักคือกรณีของเชปเพิร์ด แฟรีย์ ศิลปิน Street Art ที่ออกแบบโปสเตอร์ให้บารัค โอบามา จนดังกระฉ่อนโลก หลังจากได้ฟังโอบามาปราศรัยในปี 2004 เขาก็เกิดความประทับใจและขันอาสาออกแบบโปสเตอร์รณรงค์หาเสียงให้

ด้วยความที่เชปเพิร์ด แฟรีย์ เป็นศิลปิน Street Art มาก่อน และถูกจับถึง 14 ครั้ง เพราะทำงานศิลปะ รวมทั้งยังวิจารณ์ทุนนิยมอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เขาจึงเกรงว่าจะพาลทำให้โอบามามัวหมอง

แต่สุดท้ายโปสเตอร์โอบามาที่มีข้อความว่า HOPE ของเขาก็ได้อวดโฉม ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วโลก

ภาพโปสเตอร์ดังกล่าวถูกผลิตซ้ำเป็นโปสเตอร์ สติ๊กเกอร์ เขาเองก็มีรายได้จากการจำหน่ายโปสเตอร์ในเว็บไซต์ของตนด้วย

ผลที่ได้รับนั้นเกินคาด เขาได้รับการติดต่อจากนิตยสาร Time ให้ออกแบบปกบุคคลแห่งปี 2008 ภาพต้นฉบับ Hope ก็ได้จัดแสดงที่หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนียน

รวมทั้งยังได้แสดงผลงานที่สถาบันศิลปะร่วมสมัยที่บอสตัน

คนที่ถือคติน้ำขึ้นให้รีบตักอย่างเชปเพิร์ด แฟรีย์ ก็คงมีไม่น้อยในสังคมไทย ต่างกันก็ตรงที่ศิลปินอเมริกันใช้ประโยชน์จากฝีมือของตนในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนสังคมไทยปัจจุบันศิลปินแห่งชาติกลับพร้อมจะกระโดดรับตำแหน่งที่รัฐบาลทหารเสนอให้อย่างกระตือรือร้น

สําหรับพวกนักพนันดวงตกที่อื้อฉาวคือกรณีของ เลอนี รีเฟนชทาล ที่เข้าไปพัวพันกับนาซี เดิมทีเธอเป็นนักแสดง ต่อมาหันมากำกับภาพยนตร์ในปี 1932 เรื่อง The Blue Light

เธอพยายามเข้าหาฮิตเลอร์หลังได้ฟังสุนทรพจน์แล้วเกิดความประทับใจ แล้วเขียนจดหมายถึงเขาโดยบอกว่าอยากพบ

ฮิตเลอร์ก็ตกลง และขอให้เธอสร้างภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของนาซีเรื่อง The Triumph of the Will

AFP PHOTO / FRANCE PRESSE VOIR

ว่าที่จริงรีเฟนชทาลมีชื่อเสียงในฐานะนักทำภาพยนตร์สารคดีอยู่แล้ว ในปี 1936 เธอได้รับโอกาสให้ทำภาพยนตร์สารคดีกีฬาโอลิมปิกในเบอร์ลิน โดยได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลจากนาซี ซึ่งทำให้เธอได้ทดลองเทคนิคต่างๆ ที่ต้องอาศัยเงินจำนวนมากทั้งนั้น

และผลงานเหล่านั้นล้วนมีส่วนหนุนส่งให้เธอมีชื่อเสียงขึ้นมา

แม้ว่าหลังสงครามโลกเธอจะออกมายืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ไม่มีเทศกาลภาพยนตร์ไหนต้อนรับผลงานของเธอและเธอก็ไม่สร้างผลงานภาพยนตร์อีกเลย นอกจากภาพถ่ายและบันทึกความทรงจำ

กรณีของรีเฟนชทาลเป็นนักพนันที่ตระหนักว่าตนจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปพัวพันกับนาซี แต่สุดท้ายกลับนำความเสื่อมเสียมาสู่ตัวเอง

และเธอก็ไม่สามารถหาทางลงได้อย่างสง่างามนัก

อย่างไรก็ตาม นักพนันดวงตกก็ใช่ว่าจะมีท่าทีปล่อยไปตามยถากรรมเสมอไป

ตัวอย่างเช่น เออเจน ราบิโนวิตซ์ และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับโครงการแมนฮัตตัน เพราะกลัวว่าเยอรมนีจะประสบความสำเร็จในการวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน อันที่จริงโครงการแมนฮัตตันเป็นความลับสุดยอด นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เข้าร่วมก็เพราะความรักชาติ และต้องการปกป้องประชาธิปไตยตะวันตก แต่ต่อมากลับพบว่าเยอรมนีไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างอาวุธแต่อย่างใด

ราบิโนวิตซ์และเพื่อนร่วมงานของเขาตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมาจากโครงการแมนฮัตตัน จึงได้ประชุมลับและยกร่างข้อเสนอเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และยับยั้งการใช้กับประชากร

ต่อมานักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ยังได้ก่อตั้งสถาบันและออกจดหมายข่าวเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อีกด้วย

ตัวอย่างท่าทีอีกแบบที่น่าสนใจคือพวกที่ถึงคราวซวย เอริก มาเรีย เรอมาร์ก นักเขียนชาวเยอรมันมีผลงานที่รู้จักในหมู่นักอ่านไทยคือ All Quiet on the Western Front หรือพากย์ไทยคือ แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1929

นับเป็นนวนิยายเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง กระนั้นกว่าจะได้ตีพิมพ์ต้นฉบับของเขาถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์หลายแห่ง

กระแสคลั่งชาติในเยอรมนี ประกอบกับนาซีเถลิงอำนาจในปี 1933 จุดกระแสการเผาหนังสือของเรอมาร์ก โยเซฟ เกิบเบลส์ รัฐมนตรีที่ทำงานด้านโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองสั่งทำลายหนังสือเล่มนี้ นักเขียนผู้นี้จึงต้องลี้ภัยไปอยู่นิวยอร์ก

และมีส่วนช่วยในการแปลงนวนิยายของเขาให้เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด

นักวิชาการถึงคราวซวยที่เป็นกรณีร่วมสมัยมากกว่านั้นคือ โรเบิร์ต พัทนัม นักรัฐศาสตร์สายเสรีนิยมที่เชื่อเรื่องความหลากหลาย แต่ผลงานวิจัยของเขากลับพบว่าชุมชนที่มีความหลากหลายจะมีความไว้ใจเพื่อนบ้านน้อยลง และการสาธารณสุขมักไม่ดีนัก

นักการเมืองฝ่ายขวาเห็นว่าผลการวิจัยนี้เป็นประโยชน์ รวมทั้งเดวิด ดุ๊ก ซึ่งเป็นผู้นำ คลู คลักซ์ คลัน (Klu Klax Klan) ใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการต้อนรับคนเข้าเมืองส่งผลด้านลบต่อพลเมืองอเมริกัน

สิ่งที่นักวิชาการอย่างพัทนัมทำนั้นน่าสนใจมาก เขาเขียนบทเสริมที่ชี้ทางออกว่าชุมชนควรทำอย่างไรเมื่อได้รับผลกระทบจากความหลากหลายและทุนทางสังคม

พัทนัมเลื่อนการตีพิมพ์งานวิจัยจนกว่าจะพัฒนาข้อเสนอที่รับมือกับผลกระทบของความหลากหลายได้

ดังปรากฏในบทสัมภาษณ์ของเขาในนิตยสาร Financial Time รวมทั้งการเข้าร่วมถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับผลวิจัยของตน เพื่อป้องกันการนำไปเป็นข้ออ้างในทางที่ผิด

หากมองย้อนมาดูสังคมไทย

เราจะเห็นหลายคนที่เป่านกหวีดเรียกรถถังแสดงความเสียใจและสำนึกว่าได้เดินมาผิดทาง ซึ่งนับว่าเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่ง

แต่ศิลปินแห่งชาติและนักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เลือกที่จะพูดค่อนแคะผ่านกลอนตลาดและคอย “เหน็บ” รัฐบาลทหารบนเวทีวิชาการเป็นครั้งคราว

โดยอาจจะไม่ได้สำนึกถึงผลเสียจากการกระทำของตนอย่างแท้จริง

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นทำให้เราเห็นว่า เราอาจจะมีทางเลือกอื่นๆ ได้ แม้ว่าจะเคยเดินผิดทาง นักปรัชญาร่วมสมัยบางคนเห็นว่าอุปลักษณ์หรือการเปรียบเทียบมีพลังกำกับวิธีการมองโลกของคนเรา

คำถามคือมีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้คำเปรียบเทียบ “เห็บหมา” กับศิลปิน นักเขียน พระ และนักวิชาการ ที่มีพฤติกรรมกระโดดหนีเมื่อสุนัขหมดประโยชน์หรือไม่

เราอาจจะมองย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณที่นักปรัชญาอย่างโสเครติสมองว่านักคิดพึงกระทำกิจเยี่ยง “ตัวเหลือบ” หากพูดในบริบทของไทยในปัจจุบันก็คือการทำหน้าที่ก่อกวนทางปัญญาและร่วมหาทางออกให้กับทางตันของประชาธิปไตยในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง แทนที่จะปล่อยไปตามยถากรรมหรือยังคงดื้อดึง

เพราะไม่แน่ว่า “เห็บหมา” จะกระโดดออกจากตัวหมาได้ทันท่วงทีและสง่างามเสมอไป