เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (24) การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ของโลก โดย “ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร”?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎก

หลายท่านอาจจะรู้สึกขัดหูขัดตาต่อหัวข้อบทความข้างบน พลันคงนึกอยากถามดิฉันว่า

จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ในเมื่อขนาดพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นมหาราชแห่งล้านนา ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อกันว่าในสมัยของพระองค์ พ.ศ.2020 มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกที่วัดเจ็ดยอดนั้น ไปๆ มาๆ ยังมีผู้เคลือบแคลงใจว่าจริงล่ะหรือเลย

ทั้งความไม่เคลียร์ในด้านเอกสารตำนานฝ่ายเหนือเอง และทั้งเมื่อปี 2555 ช่วงมีการเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี” ที่ผ่านมา องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่ศรีลังกา ยังประกาศอีกว่า ได้เวลาแล้วที่ชาวพุทธทั่วโลกควรมีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 กันเสียที

อะหา! พูดราวกับว่า การสังคายนาพระไตรปิฎกของพระเจ้าติโลกราช ครั้งที่ 8 ก็ดี ไม่มีอยู่จริง หรือครั้งที่ 9 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีก็ถือเป็นโมฆะ

รวมไปถึงครั้งที่ 6-7 ที่บอกว่า กระทำขึ้นในประเทศพม่านั้น ก็ไร้ความหมายหรือเช่นไร

ลำพังปัญหาความสับสนงุนงงเพียงเท่านี้ ก็มากพอแรงอยู่แล้ว ว่าตกลงโลกจะบันทึกว่าเคยมีการสังคายนาพระไตรปิฎกอย่างเป็นทางการที่รับรองได้ เพียงแค่ 2 ประเทศจริงๆ ใช่ไหม คือครั้งที่ 1-3 ในอินเดีย กับครั้งที่ 4-5 ในลังกา แล้วก็หยุด ปิดบัญชี

ส่วนครั้งที่ 6-7-8-9 เป็นความเข้าใจผิดหรืออุปโลกน์หมู่กันไปเองของฝ่ายพม่า-ล้านนา-สยาม

โจทย์เก่ายังอีนุงตุงนังไม่พอ แต่แล้วก็พลันมีโจทย์ใหม่ปรากฏขึ้นมาให้ต้องขบคิดอีก นั่นคือการที่พระภิกษุรูปหนึ่งแห่งเมืองแพร่ ได้ประกาศว่า ตัวท่านได้กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ของโลกอีกด้วย พระภิกษุรูปนั้นคือใครกัน และเหตุไรท่านจึงเชื่อเช่นนั้น

 

ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร
ชาตะเมืองแพร่ มรณะเมืองระแหง

พระภิกษุรูปที่ระบุว่าท่านได้สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ของโลกมีนามว่า “ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร” ซึ่งผู้นำเสนออัตชีวประวัติของพระมหาเถระผู้นี้คือ ดร.ดิเรก อินทร์จันทร์ นักภาษาโบราณ แห่งศูนย์ศึกษาคัมภีร์ใบลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยเน้นเรื่อง “แนวคิดและกระบวนการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกในล้านนา”

อันที่จริง หัวข้อการนำเสนอของ ดร.ดิเรก ในเวทีไทศึกษายังครอบคลุมไปถึงแนวคิดและกระบวนการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวงปู่ทอง (พระพรหมมงคล วิ.) แห่งวัดพระธาตุศรีจอมทอง อีกด้วย แต่ในที่นี้ดิฉันขอเลือกนำเสนอเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร เพียงรูปเดียวเท่านั้น

เนื่องจากเรื่องราวของท่านอยู่ในความสนใจของนักวิชาการด้านล้านนาศึกษามากกว่า กอปรกับการที่องค์การยูเนสโก ได้มอบรางวัล เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก ให้แก่วัดสูงเม่นเมืองแพร่ ในฐานะที่เอกสารคัมภีร์ใบลานของครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถรมีคุณค่ายิ่งในระดับท้องถิ่น เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมานี้อีกด้วย

ครูบากัญจนะเกิดเมื่อ พ.ศ.2332 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ตรงกับช่วงที่พระเจ้ากาวิละปกครองเมืองเชียงใหม่ เป็นยุคที่ทั้งสยามและล้านนาเพิ่งได้รับเอกราชจากพม่ามาใหม่ๆ

ไม่มีใครทราบนามเดิมของท่าน ทราบแต่ว่าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสูงเม่น สมัยที่ครูบาไชยสิทธิ เป็นเจ้าอาวาส แล้วได้ไปศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดศรีชุม (ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่) ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่เก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งในเมืองแพร่ ต่อมาเมื่ออุปสมบทได้นามฉายาว่า “กญฺจนวิลาโส” ครั้นเมื่อ พ.ศ.2362 ครูบาไชยสิทธิถึงแก่มรณภาพ ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสแทน ขณะที่อายุ 30 ปี

ท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงมากในด้านการสำรวจและจัดสร้างคัมภีร์ใบลานทั่วภาคเหนือ ได้แก่ เมืองแพร่ เถิน ลำปาง เชียงใหม่ ฮอด ลี้ ลำพูน ระแหง (ตาก) น่าน และหลวงพระบางของลาว โดยนำคัมภีร์จากที่ต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ที่วัดสูงเม่น ตำบลสูงเม่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

จนปัจจุบันถือได้ว่า วัดสูงเม่นเป็นแหล่งจัดเก็บคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา โยชนา คัณฐี ปกรณ์วิเสส และบาลีไวยากรณ์ (ภาษาบาลี นิสสัย และโวหาร) ที่จารด้วยอักษรธัมม์ล้านนาจำนวนมากที่สุด และสำคัญที่สุดในดินแดนล้านนา

ในบั้นปลายชีวิตของครูบากัญจนอรัญวาสี ท่านได้ไปจำพรรษาที่เมืองระแหง (จ.ตาก) และมรณภาพที่วัดป่าอัมพวัน (ต.ป่ามะม่วง อ.เมืองตาก จ.ตาก) โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าท่านมรณภาพเมื่อใด พบเพียงพินัยกรรมของท่านที่มอบหมายให้จัดการอัฐิของบิดามารดาและญาติ พร้อมทั้งมอบบริขารและสิ่งของต่างๆ ให้บรรดาศิษย์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและธรรมเนียมที่สำคัญ สันนิษฐานว่าท่านน่าจะมรณภาพเมื่อ พ.ศ.2421

 

ธรรมจาริก เพื่อจารึกพระธรรม

ดร.ดิเรก ได้สรุปรวบรวมช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ของครูบากัญจนอรัญวาสี มาจากการถอดรหัสคัมภีร์ใบลานและจารึกต่างๆ ประมวลได้ดังนี้

พ.ศ.2363 เริ่มสร้างคัมภีร์ใบลานในเมืองแพร่

พ.ศ.2366 ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดศรีชุม เมืองแพร่ และจำพรรษาที่วัดนาครัว เมืองลำปาง

พ.ศ.2367 เดินทางไปสร้างคัมภีร์ใบลานในเมืองเชียงใหม่

พ.ศ.2372 จำพรรษา ณ วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ (เรียมธัมม์กับครูบาวชิรปัญญา)

พ.ศ.2373 ฉลองคัมภีร์ใบลานที่สร้างในเมืองเชียงใหม่ จำนวน 92 มัด

พ.ศ.2374 จำพรรษา ณ วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่

พ.ศ.2376 เดินทางไปสร้างคัมภีร์ใบลานในเมืองน่าน

พ.ศ.2377 จารใบลานที่เชียงใหม่

พ.ศ.2378 ฉลองคัมภีร์ใบลานที่สร้างในเมืองแพร่ จำนวน 236 มัด

พ.ศ.2379 เดินทางไปสร้างคัมภีร์ใบลานในเมืองหลวงพระบาง จำพรรษา ณ วัดวิชุลราช

พ.ศ.2380 ฉลองคัมภีร์ใบลานในเมืองหลวงพระบาง จำนวน 248 มัด

พ.ศ.2380 ฉลองคัมภีร์ธรรมที่สร้างในเมืองน่าน จำนวน 142 มัด (1,603 ผูก)

พ.ศ.2381 ฉลองคัมภีร์ธรรมที่สร้างจากเมืองต่างๆ แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดสูงเม่น เรียกการสร้างและรวบรวมคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกและคัมภีร์ธรรมอื่นๆ ว่าเป็น “การสังคายนาธัมม์ ครั้งที่ 6”

พ.ศ.2381 เดินทางไปสร้างคัมภีร์ใบลานเมืองลำปาง (อ.เกาะคา และ อ.แม่ทะ) และเมืองระแหง (ตาก)

พ.ศ.2382 จำพรรษาที่วัดเวียง เมืองเถิน ได้สำรวจและจัดสร้างคัมภีร์ใบลาน

พ.ศ.2402 จำพรรษา ณ วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่

พ.ศ.2403 เป็นประธานหล่อกังสดาล ณ วัดพระสิงห์ ร่วมกับเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ แล้วนำไปถวายไว้กับวัดพระธาตุหริภุญชัย

การไปสร้างคัมภีร์ธรรมในต่างเมืองอาจต้องเดินทางไปมาหลายครั้งจนกว่าจะเสร็จสิ้น นับได้ว่าท่านเป็นภิกษุรูปหนึ่งที่เดินทางไปมาตามหัวเมืองต่างๆ ในเขตล้านนาและลาวตลอดหลายปี ซึ่งต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะและการสนับสนุนจากหลายฝ่าย

 

ตั้งผาทนาขอเป็นอนาคตพุทธเจ้า

จากหลักฐานข้อความท้ายคัมภีร์ใบลานที่ครูบากัญจนะจารด้วยตนเอง พบว่าท่านได้ตั้งความปรารถนา (ภาษาเหนือใช้คำว่า “ผาทนา”) ขอให้ได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ ซึ่ง ดร.ดิเรกมองว่า ค่อนข้างแตกต่างกับพระภิกษุสามเณรทั่วไป ที่เมื่อจารใบลานเสร็จแล้วมักจะเขียนคำอธิษฐานว่าขอให้เป็นปัจจัยเข้าสู่พระนิพพาน (นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ โน นิจจํ) เท่านั้น

แม้ว่าการตั้งความปรารถนาลักษณะนี้จะเป็นธรรมเนียมหรือค่านิยมที่ใช้สืบทอดกันมาจนเป็นปกติวิสัยของชาวพุทธ แต่คำอธิษฐานที่ต้องการเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตนั้นพบได้ค่อนข้างน้อย

แนวคิดหรือปณิธานในการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกของครูบากัญจนะ ปรากฏชัดในคัมภีร์ใบลานเรื่อง “ชุมนุมสังคายนาธรรม ครั้งที่ 6” ซึ่งกล่าวว่าในอดีตกาลนั้นมีการสังคายนาพระไตรปิฎกหลังจากที่พระพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานแล้วจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งข้อมูลเรื่องเวลาและชื่อบุคคลจะแตกต่างกับหลักฐานหรือการนับสังคายนาตามมติทั่วไป ดังนี้

ครั้งที่ 1 ภายหลังพุทธปรินิพพาน 4 เดือน ณ ถ้ำสัตตปนคูหา โดยพระมหากัสสปะและพระอานนท์เป็นประธาน มีพระญาอชาตสัตถุเป็นผู้อุปถัมภ์

ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.100 ณ เมืองเวสาลี มีพระเรวตเถรและพระยัสสเถรเป็นประธาน โดยพระญาการาโสกะเป็นผู้อุปถัมภ์

ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ.218 ณ เมืองปาตลีบุตต์ มีพระมหาโมคคัลลีบุตต์เป็นประธาน โดยพระญาอโสกเป็นผู้อุปถัมภ์

ครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ.450 ณ เมืองลังกาทวีป โดยมีพระวรตัคคามณีเป็นผู้อุปถัมภ์

ครั้งที่ 5 เมื่อ พ.ศ.500 สมัยที่พระนาคเสนและพระมหาอุปาลิเถรได้ทำธัมมยุทธกับพระญามิลินทราช (ซึ่งทั่วไปจะไม่นับว่าเป็นการทำสังคายนา)

หลังจากที่พระพุทธโฆสาจารย์ได้แปลพระไตรปิฎกจากภาษาสิงหลกลับมาเป็นภาษาบาลี แล้วจารลงบนใบลาน เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่มาถึงเขตภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน คัมภีร์พระไตรปิฎกที่เคยสืบทอดมาจากอดีตได้กระจัดกระจาย ชำรุดเสียหายไปมาก ครูบากัญจนะจึงต้องการสืบอายุพระพุทธศาสนาโดยการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก โดยเริ่มจากการคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกที่มีอยู่ในเมืองแพร่ก่อน แล้วจึงไปคัดลอกอีกที่เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ตาก น่าน และหลวงพระบาง แล้วนำมาเก็บไว้ที่วัดสูงเม่น

โดยในตำนานดังกล่าวนับว่าการสร้างคัมภีร์ธรรมของครูบากัญจนะเป็นการ “สังรอมธัมม์” หรือ การสังคายนาธรรม ครั้งที่ 6

แนวคิดเรื่องการสร้างคัมภีร์ใบลานเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนานั้นจะพบได้จากข้อความท้ายคัมภีร์ใบลานหลายเรื่องที่ระบุว่า “โชฏกะวรพุทธสาสนา 5 พันพระวัสสา” คือตราบใดยังมีคัมภีร์ธรรมที่จารึกหลักธรรมคำสอนอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ตราบนั้น

มีคำถามว่า ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร ไม่รู้จักประวัติของพระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกาม หรือพระเจ้าติโลกราชมาก่อนเลยหรือไฉน ว่าครั้งหนึ่งสองพระองค์นั้น เคยมีความพยายามที่จะกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 และ 8 มาก่อน

ดิฉัน และ ดร.ดิเรก คงตอบได้เพียงแค่ว่า เกี่ยวกับเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งต่างๆ บนแผ่นดินสยามนี้ ยากเหลือเกินที่จะให้นับหรือไม่นับครั้งไหนกันบ้าง แต่เชื่อว่าเร็วๆ นี้คงมีนักวิชาการด้านศาสนารับหน้าที่ไปชำระสะสางกันให้กระจ่างเสียที

อย่างไรก็ดี แม้จำนวนครั้งแห่งการสังคายนาพระไตรปิฎกอาจจะยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็ถือว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับองค์ความรู้ที่เราทราบว่า ในอดีตเคยมีพระมหาเถระ หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใดอีกบ้างที่มีความพยายามกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎก (ในแบบฉบับที่บุคคลเหล่านั้นเชื่อว่าถูกต้อง)

เพราะถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้สร้างคุณูปการให้แก่วงการพระพุทธศาสนาอย่างอเนกอนันต์ เกินกว่าที่เราจะไปติดกับดักว่า จะต้องให้มีองค์กรพุทธศาสนาระดับนานาชาติมารองรับเราหรือไม่ก็ตาม