เมื่อสังคมเกาหลีหันหลังให้ #MeToo

ช่วงปลายปี 2017 เหล่าคนดังของฮอลลีวู้ดเริ่มผลักดันแคมเปญ #MeToo เพื่อต่อต้านและให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศ หรือ sexual harassment ที่เกิดขึ้นจนเกิดแรงกระเพื่อมส่งกระแสแคมเปญ #MeToo ไปทั่วโลก

แต่ในบริบทสังคมปิตาธิปไตยหรือสังคมนิยมชายแบบเข้มข้นซึ่งเป็นผลมาจากการหยั่งรากลึกของลัทธิขงจื๊ออย่างประเทศเกาหลีใต้นั้น แคมเปญ #MeToo กลับกลายเป็นคลื่นยักษ์ที่ปะทะกับหินก้อนใหญ่มหึมาแล้วสลายหายไป ปรากฏการณ์นี้ดูจะขัดแย้งกับการที่เกาหลีใต้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อเรื่อง ‘ทาสกามารมณ์’ ในช่วงที่เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือไม่ก็มีนัยยะบ่งบอกว่าสังคมเกาหลีใต้ไม่ได้ยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นจริงจังหรือตระหนักถึงมันเท่าใดนัก และปัจจัยทางวัฒนธรรมในสังคมชายเป็นใหญ่อาจเป็นข้อกำหนดสำคัญที่ทำให้ปัญหาการคุกคามทางเพศในเกาหลีใต้ไม่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

A picture shows the messages “#Me too” and #Balancetonporc (“expose your pig”) on the hand of a protester during a gathering against gender-based and sexual violence called by the Effronte-e-s Collective, on the Place de la Republique square in Paris on October 29, 2017.
#MeToo hashtag, is the campaign encouraging women to denounce experiences of sexual abuse that has swept across social media in the wake of the wave of allegations targeting Hollywood producer Harvey Weinstein.
/ AFP PHOTO / Bertrand GUAY

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการบันเทิงเกาหลีที่กำลังบูมอย่างต่อเนื่องก็กำลังเผชิญปัญหาการคุกคามทางเพศอยู่เช่นกัน แต่ตรงข้ามกับฮอลลีวู้ดที่เมื่อเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำออกมาเปิดเผย ผู้กระทำผิดจะโดนลงโทษตามกระบวนการ เหยื่อจากการถูกคุกคามทางเพศในวงการบันเทิงเกาหลีกลับต้องพบกับปัญหาvictim-blaming หรือการที่เหยื่อถูกกล่าวโทษแทนที่จะเป็นผู้กระทำ ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณีเหยื่อยังถูกผู้กระทำฟ้องกลับฐานทำให้เสียชื่อเสียงอีกด้วย และการส่งเสริมให้เรื่องการคุกคามทางเพศในวงการบันเทิงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆนั้น การละเลยจากสังคมก็เป็นปัจจัยสำคัญ ปัญหาการคุกคามทางเพศไม่ได้ถูกปกปิด เพียงแต่สังคมเกาหลีใต้ไม่อยากรับฟังว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้น

ในบริบทสังคมเกาหลีใต้ ดารานักแสดงและบุคคลสาธารณะต้องแบกรับความคาดหวังในการเป็นแบบอย่างของสังคม และการที่พวกเขาออกมาแสดงความเห็นในประเด็นอ่อนไหวอย่างปัญหาการคุกคามทางเพศหรือปัญหาการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สังคมเกาหลีไม่คุ้นชินและไม่ได้คาดหวังให้เหล่าเซเลบริตี้ส์ทำ และเหล่าเซเลบริตี้ส์เอง – โดยเฉพาะอย่างยิ่ง – คนที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นก็ไม่กล้าเอาหน้าที่การงานมูลค่ามหาศาลของตนเองมาเสี่ยงกับประเด็นอ่อนไหวทางสังคม ทำให้ปัญหาไร้เสียง ไม่มีใครต้องการพูด ไม่มีใครต้องการได้ยิน ไม่มีใครต้องการรับฟัง นอกจากนี้การรับรู้ของสังคมต่อเหล่าดารานักแสดงแปรเปลี่ยนจาก ‘เอนเตอร์เทนเนอร์’ หรือ ‘ผู้ให้ความบันเทิง’ เป็น ‘สินค้า’ หรือ ‘ผลิตภัณฑ์’ ซึ่งความเป็นสินค้าทำให้เซเลบริตี้ส์ถูกตีค่าเป็นและตามมูลค่าและทำให้สังคมเองก็ไม่ได้ต้องการเห็น ‘สินค้า’ แสดงความเห็นหรือพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดให้สาธารณชนฟัง เหล่าคนดังของเกาหลีจึงยิ่งต้องระมัดระวังหากมีการให้สัมภาษณ์ใดๆแล้วมีคำถามหรือการขอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับละครหรืองานเพลงที่ตนเองกำลังโปรโมต แน่นอนว่าพวกเขาถูกเทรนมาอย่างดีเพื่อที่จะสามารถหลบเลี่ยงการกลายเป็น ‘ดาวดับ’ จากการพลาดท่าเผลอแสดงความคิดเห็นครั้งเดียวได้

People gather to watch live broadcasts of coverage of South Korea’s presidential election, in Gwanghwamun square in Seoul on May 9, 2017.
South Koreans went to the polls to choose a new president after Park Geun-Hye was ousted and indicted for corruption, against a backdrop of high tensions with the nuclear-armed North. / AFP PHOTO / Ed JONES

แต่คนดังบางคนก็ใช้ ‘ชีวิต’ เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักต่อปัญหาการคุกคามทางเพศในวงการบันเทิงเกาหลี แม้จนถึงตอนนี้แรงกระเพื่อมที่เธอสร้างกลับถูกหันหลังให้จนเกือบถูกสังคมลืมเลือนไป

จางจายอน (Jang Ja-yeon) นักแสดงหญิงดาวรุ่งจากละครชุดเรื่องดัง ‘Boys Over Flowers’ หรือที่แฟนๆชาวไทยรู้จักกันในชื่อF4 เวอร์ชั่นเกาหลีตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อปี2009 เธอเปิดเผยในจดหมายลาตายที่ถูกเขียนด้วยลายมือของเธอว่า เธอถูกผู้บริหารเอเยนซี่ที่เธอสังกัดบังคับให้เธอมีเพศสัมพันธ์กับผู้บริหารของสื่อใหญ่เจ้าหนึ่งและเธอยังเขียนรายชื่อของผู้กระทำทั้งหมดที่ต้นสังกัดของเธอนัดหมายให้ในจดหมายด้วย หนึ่งในรายชื่อเหล่านั้นมีประธานของหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลของเกาหลีใต้ และแน่นอนว่าเขาถูกสอบสวน แต่เธอกลับไม่ได้สิ่งที่คาดหวังจากการจบชีวิตตัวเองทั้งหมด เพราะเมื่อผลการตัดสินออกมาปรากฏว่าศาลสั่งลงโทษแค่เฉพาะประธานบริษัทเอเยนซี่และผู้จัดการส่วนตัวของจางเท่านั้น คนที่มีชื่ออยู่ในจดหมายลาตายของจางอีกเก้าคนกลับถูกปล่อยไปโดยไม่มีการลงโทษใดๆ แน่นอนว่ากรณีของจางจายอนไม่ได้เป็นกรณีเดียวที่เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นและเจ้าตัวตัดสินใจเปิดเผยต่อสาธารณะ

อีกแปดปีให้หลัง ในปี 2017 นักแสดงหญิงชาวเกาหลีวัย 41 ปี (ไม่เปิดเผยชื่อ) ตัดสินใจฟ้องร้องผู้กำกับคิมคีด็อค ผู้กำกับมือทองชาวเกาหลีที่มีดีกรีรางวัลใหญ่จากเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิสและภาพยนตร์ดังที่ส่งให้เขาเป็นที่รู้จักในระดับโลกอย่างPieta (2012) โดยเธอกล่าวหาว่าเขาบีบบังคับให้เธอถ่ายฉากนู้ดที่ไม่ได้มีอยู่ในสคริปต์ทั้งยังทำร้ายร่างกายขณะที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์ ‘Moebius’ ในปี2013 หากแต่เธอก็ต้องผิดหวังเมื่อศาลตัดสินลงโทษคิมคีด็อคแค่เพียงปรับเงิน5ล้านวอน หรือประมาณ 4,700ดอลล่าร์สหรัฐ

เธอให้สัมภาษณ์ว่า “เซเลบริตี้ส์ระดับโลกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว #MeToo แต่การเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้”

“ดารานักแสดงผู้หญิงที่อ่อนแอและไม่มีปากเสียงอย่างฉันทำแบบนั้นไม่ได้ เราเผชิญกับข้อจำกัดที่นี่(ในเกาหลีใต้)” เธอเสริม

People walks along a street in the Sinchon area of Seoul on September 13, 2017. / AFP PHOTO / Ed JONES

นักแสดงหญิงคนนี้กับทนายของเธอหวังว่าการฟ้องร้องครั้งนี้จะทำให้เหยื่อจากการถูกคุกคามทางเพศกล้าที่จะออกมาเปิดเผยสิ่งที่พวกเขาโดนกระทำมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครทำแบบนั้น และแน่นอนว่าราคาที่ดาราสาวคนนี้ต้องจ่ายเมื่อตัดสินใจฟ้องร้องผู้กำกับดังก็คือ เธอไม่สามารถกลับมาทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงได้อีก – ดังที่กล่าวมาข้างต้น – ดารานักแสดงถูกมองเป็นสินค้า เมื่อสินค้ามีตำหนิก็จะเสียโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าอื่นที่ดีกว่าและสมบูรณ์กว่าในแง่ของภาพลักษณ์ ยังไม่นับอิทธิพลของโจทก์ที่เธอพยายามงัดข้อด้วย แต่เธอก็ยืนยันที่จะทำ

แต่กระนั้นการจบชีวิตของจางจายอนและการฟ้องร้องของดาราหญิงวัย 41 ปีก็ทำให้นักเคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนให้ตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศรวมตัวชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้อัยการสอบสวนคดีของจางจายอนใหม่อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ณ Seoul Women’s Plaza องค์กรสิทธิสตรี 7 องค์กรและศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศกว่าร้อยศูนย์ร่วมกันเดินขบวนบนถนนเพื่อเรียกร้องให้ผู้สืบสวนคดีการตายของจางจายอนสืบพยานหลักฐานทั้งหมดใหม่อีกครั้งเนื่องจากพวกเธอสันนิษฐานว่าอัยการและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคดีของจางมีความเกี่ยวโยงกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น แน่นอนว่าจางจายอนและดาราสาวไม่ใช่กรณีแรกๆของวงการมายาเกาหลีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นที่รู้กันว่าดาราและศิลปินหญิงบางส่วนมักถูกต้นสังกัดหรือผู้จัดการบังคับและกดดันให้ ‘สร้างความพึงพอใจ’ ให้กับผู้ทรงอิทธิพลของสื่อบางเจ้า ผู้กำกับ หรือแม้แต่ผู้ผลิตรายการ (PD) เพื่อเป็นหลักประกันให้กับความก้าวหน้าทางอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาราโนเนมหรือดาราใหม่ๆที่อยากมีชื่อเสียงท่ามกลางอัตราการแข่งขันอันสูงลิ่วในอุตสาหกรรมบันเทิงแดนกิมจิ

People gather to watch live broadcasts of coverage of South Korea’s presidential election, in Gwanghwamun square in Seoul on May 9, 2017.
South Koreans went to the polls to choose a new president after Park Geun-Hye was ousted and indicted for corruption, against a backdrop of high tensions with the nuclear-armed North. / AFP PHOTO / Ed JONES

#MeToo ส่งกระแสข้ามโลกให้คนตื่นตัวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน แต่ในบางประเทศเช่นเกาหลีใต้ #MeToo ต้องปะทะกับกำแพงค่านิยมและวัฒนธรรมซึ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลง ท้าทายกับลัทธิขงจื๊อที่ฝังรากลึกจนยากจะถอน แต่กระนั้นไม่ได้ไร้ความหวังเสียทีเดียวในเมื่อยังมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่พยายามผลักดัน #MeToo หรือปัญหาการคุกคามทางเพศให้เป็นประเด็นระดับชาติ หากแต่เมื่อสังคมยังทำหูทวนลมต่อปัญหา แคมเปญนี้จะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหนยังเป็นประเด็นน่าสนใจที่ต้องติดตาม