เรือดำน้ำไทย-เรียบร้อยโรงเรียนจีน! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

วิวาทะการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ที่เกิดปัญหามาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการผิดสัญญาของจีน เพราะทางการจีนโดยเงื่อนไขสัญญาไม่สามารถนำเอาเครื่องยนต์เยอรมัน มาใช้ในเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยสั่งต่อได้ อันทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงกลาโหมจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

ในที่สุด เรื่องนี้จบลงแล้วอย่างไม่ผิดคาดเท่าใดนัก กระทรวงกลาโหมไทยตัดสินใจยุติปัญหา “เรือดำน้ำจีนเครื่องเยอรมัน” ด้วยคำตอบสุดท้ายคือ “เรือดำน้ำจีนเครื่องจีน” … เป็นการยอมรับสินค้าที่ผิดเงื่อนไขสัญญาใน TOR ได้อย่างง่ายๆ จนทำให้เกิดคำถามว่า การตัดสินใจของนายสุทิน คลังแสง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น จะกลายเป็น “บรรทัดฐานใหม่” ของการจัดซื้อจัดหาจากต่างประเทศของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงในอนาคต หรือไม่

ดังนั้น หากย้อนกลับไป จะพบว่าทางออกที่เคยมีการนำเสนอเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลปัจจุบัน ได้แก่

1) ยุติโครงการเรือดำน้ำ เพราะเกิดการผิดสัญญาอย่างมีนัยสำคัญในกรณีของเครื่องยนต์

2) แลกเปลี่ยนเรือดำน้ำ เป็นเรือรบบนผิวนำ้ แม้จะมีข้อถกเถียงระหว่างการเปลี่ยนเป็นเรือคอร์เวตหรือเรือฟริเกตก็ตาม

3) ในช่วงต้นมีข้อเสนอให้แลกโครงการเรือดำน้ำกับสิ่งที่ไทยต้องการ เช่น ปุ๋ย แต่ก็ไม่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แนวทางนี้จึงตกไปตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในช่วงต้นเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลนั้น หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเรือดำน้ำจีน เริ่มมีความหวังว่าโครงการนี้น่าจะต้องยุติลง เพราะไม่เห็นประโยชน์ที่จะเอาเรือดำน้ำจีนเข้ามาประจำการ อีกทั้ง ท่าทีของรัฐมนตรีเองก็ดูจะไปในแนวทาง “แลกเรือผิวน้ำ” น่าจะดีกว่า เนื่องจากโอกาสที่จะได้เครื่องยนต์เยอรมันภายใต้เงื่อนไขการเมืองโลกปัจจุบันนั้น เป็นไปได้ยาก

แต่เมื่อระยะเวลาการเป็นรัฐมนตรีของนายสุทิน เดินไปข้างหน้า ท่าทีและท่วงทำนองในการสัมภาษณ์เรื่องเรือดำน้ำดูจะเปลี่ยนไปอย่างมาก และสัญญาณของการเปลี่ยนเป็นเรือรบบนผิวน้ำค่อยๆ แผ่วไป ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า กลุ่มผลประโยชน์ทั้งในและนอกกองทัพเรือที่ “หากิน” อยู่กับเรือดำน้ำจีน ไม่มีทางยอมถอย

เราคงต้องยอมรับความจริงที่ไม่เป็นอุดมคติในนโยบายการทหารของไทยถึงบทบาทและอิทธิพลของ “กลุ่มพ่อค้าอาวุธ” … ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเขามีอิทธิพลมากทั้งในทางการเมืองและในกองทัพ อีกทั้ง จีนเองจำเป็นต้องแสดงบทบาทในฐานะ “รัฐผู้ขายอาวุธ” ที่ต้องยืนยันถึงประสิทธิภาพของอาวุธตน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กระทรวงกลาโหมไทยก็พร้อมจะกระโจนลง “เรือดำน้ำจีน-เครื่องยนต์จีน” อย่างไม่รีรอ โดยไม่มีกังขาใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีคำแก้ต่างใน 3 ประการหลัก คือ

1) เป็นการดำเนินการตามความต้องการของกองทัพเรือ

2) เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

3) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ข้อแก้ต่างนี้ทำให้เกิดคำถามในทางยุทธศาสตร์บางประการในเบื้องต้น เพราะ

1) คำตอบดังกล่าวเท่ากับส่งสัญญาณว่า กระทรวงกลาโหมโดยนายสุทิน ไม่มียุทธศาสตร์อะไร จึงปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญเป็นเพียงการ “ตามน้ำ” ไปกับความต้องการอาวุธของฝ่ายทหาร โดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไม่มีความสามารถเพียงพอที่ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาได้จริง การ “ลอยตามน้ำ” ไปกับกลุ่มอิทธิพลที่มีผลประโยชน์ทั้งในและนอกกองทัพเรือ จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด

2) คำตอบว่า การยืนยันที่จะซื้อเรือดำน้ำจีนที่มีเงื่อนไขผิดสัญญาเรื่องเครื่องยนต์เป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยนั้น ดูจะเป็นการตอบคำถามที่ “มักง่าย” ในทางความคิดเป็นอย่างยิ่ง และการ “ตีคลุม” ง่ายๆ ว่า ซื้อแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ไทย ดูจะเป็นเรื่องที่รับฟังได้ยาก ส่วนการจัดซื้อครั้งนี้ จะเป็นผลประโยชน์แก่ใครนั้น รัฐมนตรีน่าจะมีคำตอบอยู่แล้ว … ปัญหาเช่นนี้คงต้องเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการทหารของรัฐสภาเร่งตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย เป็นหนึ่งใน “ความฉาวโฉ่เรื่องอาวุธ” (หรือที่เรียกว่า “arms scandal”) ทั้งในและนอกประเทศไทย เพราะการผิดเงื่อนไขเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ทำให้บริษัทอาวุธในเวทีโลกเฝ้าดูถึงการตัดสินใจของรัฐบาลว่า จะเลือกเดินทางใด เพื่อที่จะแสดงถึงการเป็น “ผู้ซื้อที่ฉลาด” (smart buyer) ของไทยในตลาดอาวุธระหว่างประเทศ

3) แน่นอนว่า การผิดสัญญาเรื่องเครื่องยนต์นั้น ไทยไม่อาจใช้วิธียกเลิกสัญญากับจีนได้ ซึ่งจะเป็นการ “หักหน้าจีน” อย่างชัดเจน และไม่เป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งคงไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดกล้าที่จะทำเช่นนั้นด้วย แต่การหาทางออก ต้องมิใช่ “การยอมศิโรราบ” กับจีนทั้งหมด เพราะไทยไม่ใช่ “รัฐในอารักขา” ของจีน การยอมรับเครื่องยนต์จีนตามที่จีนเสนอมาอย่างง่ายๆ ทั้งที่เป็นการผิดเงื่อนไขสำคัญนั้น เท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐมนตรีกลาโหมไทย และเป็นการยอมจำนนต่อจีนของราชนาวีไทย

4) การกระทำเช่นนี้ในอีกมุมหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึง การมี “ประเด็นซ่อนเร้น” เนื่องจากการยอมรับเงื่อนไขของจีนครั้งนี้ ถูกมองว่ามีการแลกสิ่งต่างตอบแทนหรือไม่ โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า มีการแลกเปลี่ยนทางการค้า และได้นำมาเป็นประเด็นประกอบการเจรจาเรื่องเรือดำน้ำ ซึ่งกระทรวงกลาโหมจะต้องแถลงให้ชัดเจนว่า มีการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนในเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ และการแลกเปลี่ยนทางการค้านี้คืออะไร

ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องเรือดำน้ำไทยวันนี้คือ “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” ภายใต้การกำกับของ “ครูสุทิน” ไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องขอจบเรื่องนี้ด้วยภาษาไทยวันละคำ … ต่อไปเวลาเราซื้อของต่ำกว่าคุณภาพที่ตกลงกันไว้ใน TOR เราจะเรียกของสิ่งนั้นว่า “สุทิน” เช่น เวลาบอก “อย่าสุทิน” แปลว่า “อย่ารับของคุณภาพต่ำกว่าที่ตกลงไว้” หรือ “อาวุธสุทิน” แปลว่า “อาวุธคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์”

สำหรับในทางรัฐศาสตร์ของวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยาแล้ว คุณสุทินเป็นเพียงตัวแบบด้านลบของความเป็น “รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน” ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเท่านั้นเอง !