รุ่งนภา พิมมะศรี : ศิลปินกับจุดยืนทางการเมือง แสดงออกอย่างไร แค่ไหนดี?

ศิลปิน นักร้อง ดารา คนดัง บุคคลสาธารณะ ควรแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือไม่?

หรือแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน?

เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นข้อถกเถียงมาตลอด และยังไม่มีคำตอบที่เป็นข้อสรุปแบบเอกฉันท์

ในช่วงเดือนสองเดือนมานี้มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่ศิลปินนักดนตรีในระดับอินเตอร์ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง หนึ่งคือ แสดงจุดยืนต่อต้าน โดนัลด์ ทรัมป์

และอีกประเด็นก็ยังเกี่ยวกับทรัมป์คือประเด็นที่ทรัมป์ประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

ไม่ว่าศิลปินแสดงจุดยืนในประเด็นไหน ล้วนนำมาสู่ความเห็นโต้แย้งด้วยวาทกรรมสุดคลาสสิคว่า “ศิลปินไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง”

 

การเรียกร้องให้ศิลปินคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมอิสราเอล มีมาอย่างต่อเนื่องในวงการเพลง ร้อนแรงมากน้อยตามแต่สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในแต่ละช่วง ซึ่งมาร้อนขึ้นอีกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่สหรัฐอเมริการับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

หลังจากนั้น ลอร์ด (Lorde) นักร้องสาวชาวนิวซีแลนด์เจ้าของเพลง Royals ที่โด่งดังทั่วโลกเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งมีกำหนดการแสดงคอนเสิร์ตในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลในเดือนมิถุนายน 2561 ได้ประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตในเทลอาวีฟ หลังจากแฟนเพลงของเธอส่งจดหมายทักท้วงว่าการไปแสดงคอนเสิร์ตในอิสราเอลเหมือนเป็นการสนับสนุนสิ่งที่อิสราเอลทำกับปาเลสไตน์

การตัดสินใจของลอร์ดมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

คอลัมนิสต์คนหนึ่งเขียนบทความถึงเธอว่า ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์นั้นซับซ้อน การคว่ำบาตรอิสราเอลเป็นการตัดสินใจที่ผิด

เธอกำลังเลือกข้างแบบเหมารวมคนทั้งหมด ซึ่งคนในอิสราเอลที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตของเธอก็ล้วนเป็นแฟนเพลงตัวจริงของเธอไม่น้อยกว่าคนชาติอื่น

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 เรดิโอเฮด (Radiohead) วงดนตรีชื่อดังจากอังกฤษก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ที่พวกเขาจะไปแสดงคอนเสิร์ตในอิสราเอล แต่กรณีนั้นเรดิโอเฮดไม่ได้ยกเลิกคอนเสิร์ต และ ธอม ยอร์ก (Thom Yorke) นักร้องนำของวงเรดิโอเฮด ก็ออกมาตอบโต้คำวิจารณ์ด้วยเหตุผลอีกด้านหนึ่งที่น่าเปิดใจฟังเช่นกัน

“การแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไหน ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับรัฐบาลของประเทศนั้น” เขาบอกก่อนจะอธิบายต่อว่า “เราเคยเล่นคอนเสิร์ตที่อิสราเอลเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ผ่านเวลา ผ่านการผลัดเปลี่ยนมาหลายรัฐบาล…ผมไม่ได้เห็นด้วยกับเนทันยาฮูมากไปกว่าทรัมป์ แต่เราก็ยังเล่นคอนเสิร์ตในอเมริกา ดนตรี ศิลปะ การศึกษา มันไม่มีพรมแดน มันไม่ใช่แค่ตึกรามสิ่งปลูกสร้าง มันเกี่ยวกับการเปิดใจให้กว้าง การแบ่งปันของมวลมนุษยชาติ บทสนทนาและเสรีภาพในการแสดงออก”

ถ้าตีความในมุมมองของ ธอม ยอร์ก ไม่ว่าศิลปินจะมีความคิดทางการเมืองอย่างไร ก็ควรแยกแยะ เพราะหากเอาจุดยืนทางการเมืองมาเป็นเหตุผลในการแสดงหรือไม่แสดงคอนเสิร์ต จะเป็นการสร้างกำแพงปิดกั้นคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ให้เข้าถึงดนตรี

 

อีกเรื่องหนึ่งคือการแอนตี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งก็มีอยู่เรื่อยๆ เมื่อต้นเดือนธันวาคม ทอม โมเรลโล (Tom Morello) มือกีตาร์วงเรจ อเกนสต์ เดอะแมชชีน (Rage Against The Machine) และโปรเฟตส์ออฟเรจ (Prophets of Rage) ศิลปินที่ทำเพลงเนื้อหาเชิงการเมืองและมักแสดงความเห็นทางการเมือง ก็ได้โพสต์รูปตัวเองสวมเสื้อยืดที่มีข้อความว่า “แม่ครับ ผมควรไว้วางใจรัฐบาลไหม?” พร้อมกับกีตาร์ที่มีข้อความเขียนว่า “FUCK TRUMP”

จากนั้นก็มีคนไปคอมเมนต์ว่า “อีกหนึ่งนักดนตรีผู้ประสบความสำเร็จที่หันมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองไปแล้ว”

ตีความก็ประมาณว่าเป็นนักดนตรีก็ทำเพลงเล่นดนตรีไปเถอะ อย่ายุ่งเรื่องการเมืองให้มากนัก ซึ่งทอมและศิลปินอีกหลายคนเคยเจอถ้อยคำประมาณนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ ทอม โมเรลโล ก็เอาคอมเมนต์นั้นมาตอบและโพสต์ลงอินสตาแกรมอีกครั้งว่า “ไม่จำเป็นต้องจบเกียรตินิยมรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็สามารถรู้ได้ถึงความผิดจรรยาบรรณและไร้มนุษยธรรมในการทำงานของผู้บริหารชุดนี้ แต่พอดีผมจบเกียรตินิยมรัฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ดมาซะด้วย ฉะนั้น ผมสามารถยืนยันเรื่องนี้กับคุณได้นะ”

 

หลังปีใหม่มาก็มีอีกประเด็นร้อนฉ่า กรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตตอบโต้ผู้นำเกาหลีเหนือว่า ตนเองก็มีปุ่มสั่งการนิวเคลียร์เหมือนกัน แถมใหญ่กว่า ทรงพลังกว่า และใช้งานได้จริงด้วย

บิลลี โจ อาร์มสตรอง (Billie Joe Armstrong) นักร้องนำวงกรีนเดย์ (Green Day) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และชวนประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้ปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่ง โดยเขาแคปภาพจากทวิตเตอร์ของทรัมป์มาโพสต์ในอินสตาแกรมพร้อมข้อความว่า

“นี่ไม่ใช่เรื่องตลก นี่คือประธานาธิบดีของพวกเราที่ทำตัวเหมือนคนบ้าลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ ขู่จะฆ่าคนหิวโหยผู้ไร้เดียงสาด้วยการทำสงครามนิวเคลียร์ The 25th Amendment จำเป็นต้องมีการบังคับใช้ ผู้ชายคนนี้ป่วยและไม่เหมาะสำหรับการทำงาน ผมไม่สนใจว่าคุณเป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม เราต้องหยุดเรื่องนี้ โปรดแชร์ #impeachtrump” (The 25th Amendment – บทแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญครั้งที่ 25 มาตรา 4 ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้)

เพียง 24 ชั่วโมงมีคนเข้าไปแสดงความเห็นในโพสต์นี้มากถึง 1.5 หมื่นคอมเมนต์

มีชายหนุ่มคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า “หุบปากซะ คุณควรจะเป็นพังก์ เป็นนักแต่งเพลง คุณมีเสรีภาพที่จะพูดอะไรที่คุณต้องการ แต่มันเป็นการนำเรื่องการเมืองขึ้นมาบนโต๊ะอาหาร คุณทำให้ผมกังวล ผมเป็นแฟนเพลงที่ดีของคุณนะ แต่นรกเถอะ เดฟ โกรห์ล สามารถขึ้นมาอยู่ในจุดนี้แทนคุณได้ง่ายๆ”

แล้ว บิลลี โจ ก็ตอบกลับไปว่า “เหมือนที่ผมเคยพูดไปแล้ว ถ้าคุณมีปัญหากับอะไรที่ผมเชื่อ ก็ไปไกลๆ ป.ล.เดฟ โกรห์ล ก็คิดว่าคุณปัญญาอ่อนเหมือนกัน”

โพสต์นี้ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงความเห็นกันอย่างดุเดือด มีทั้งความเห็นที่บอกว่าการเรียกร้องแบบนี้ไม่ถูกต้อง หลายความเห็นบอกว่าศิลปินไม่ควรยุ่งเรื่องการเมืองมากเกินไป หลายคนสนับสนุนบอกว่าบิลลีเป็นศิลปิน แต่ก็เป็นพลเมืองสหรัฐคนหนึ่งที่สามารถพูดอะไรได้เหมือนคนอื่น

บางคนบอกว่าเรื่องแบบนี้แหละที่ควรเอาขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะอาหาร

 

ในเมืองไทยเราไม่มีประเด็นนี้ให้ถกเถียงมากนัก เพราะในสถานการณ์ทั่วไปศิลปินไทยไม่ค่อยแสดงความเห็นทางการเมือง ช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่ๆ เท่านั้นที่ศิลปิน ดารา ออกมาร่วมชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ก็ไม่ค่อยปรากฏวาทกรรม “ศิลปินไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง” จะมีก็แต่กระแสต่อต้านจากประชาชนฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าศิลปินในเมืองไทยถูกเรียกร้องให้แสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะศิลปินแนวเพื่อชีวิต หรือศิลปินที่ทำงานเนื้อหาสะท้อนสังคม-การเมือง ซึ่งถูกคาดหวังว่าควรออกมาร่วมต่อสู้กับประชาชนให้เหมือนที่แสดงออกในงาน

ถามมุมมองของศิลปินจาก ขจรเดช พรมรักษา หรือ กบ มือกลองวงบิ๊กแอส ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งเขาคือนักแต่งเพลงที่อยู่เบื้องหลังเพลงดังของบิ๊กแอส, บอดี้สแลม และอีกหลายศิลปิน

กบบอกว่า “ศิลปินก็ไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป ทุกคนมีหน้าที่ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอ รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วว่าแสดงออกได้แค่ไหน แต่ในฐานะที่เป็นกระบอกเสียง เป็นคนสาธารณะ การแสดงความคิดเห็นมันดังกว่าคนทั่วไป มันต้องผ่านการไตร่ตรองรอบคอบมากกว่าปกติ เพราะการพูดของเรามันผ่านไมโครโฟน มันดังมาก ฉะนั้น มันมีทั้งผลดีผลเสียกลับมา การแสดงออกมันดีเสมอ แต่ในมุมมองของผม การแสดงออกต้องไม่ยั่วยุให้เกลียดกัน การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันมันดีมาก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความปรองดอง ความเข้าใจ”

ส่วนประเด็นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองถึงขั้นไม่ไปแสดงคอนเสิร์ตในบางพื้นที่ อย่างที่มีการเรียกร้องให้ศิลปินไม่ไปอิสราเอล สมมุติว่าวงบิ๊กแอสถูกเรียกร้องให้ตัดสินใจเรื่องแบบนั้น กบบอกว่า

“ย้อนกลับไปที่คำตอบแรกคือ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไร ไม่มีใครไปกีดกันใครได้ จะไปเล่นคอนเสิร์ตหรือไม่ คำว่าศิลปินไม่เกี่ยวแล้ว อยู่ที่เจ้าตัวอยากไปหรือเปล่า ผมว่าต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราเชื่อแบบไหน เชื่อเรื่องอะไรอยู่ แล้วทำตามความเชื่อของเรา อยู่ที่เราเชื่อหรือไม่ และก่อนที่จะเชื่อ เรามีความรู้มากพอหรือเปล่า ก่อนที่จะเชื่อเราควรรู้เยอะๆ ผมเห็นคนมากมายที่รู้ไม่ครบแล้วเชื่อ เสนอความเชื่อออกไปแล้วอีกสิบปีก็มาคร่ำครวญว่าไม่น่าเลย ใครจะตัดสินใจยังไง มันอยู่ที่คน ผมไม่สามารถไปตัดสินใคร แต่ถ้าถามผม คิดว่าควรต้องรอบด้านก่อน”

ศิลปิน นักร้อง ดารา คนดัง บุคคลสาธารณะ แสดงจุดยืนทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหนดี? คงไม่มีใครให้คำตอบกับใคร เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความคิด วิจารณญาณ และเหตุผลประกอบการตัดสินใจของแต่ละคน