มุกดา สุวรรณชาติ : ‘ส.ว.’ แต่งตั้ง-ร่วมตั้งนายกฯ ได้ เปลี่ยนนายกฯ ได้ แต่ ‘ส.ส.’ ตั้งนายกฯ ได้ ล้มได้เปลี่ยนได้

ช่วงนี้จะได้ยินข่าวสมาชิกของ สปท. และ สนช. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเมืองในอนาคตมีข้อเสนอต่างๆ นานา ผู้คนก็กล่าวกันว่าคนเหล่านี้คงอยากจะเป็น ส.ว. ที่จะได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ 250 คน สมาชิกทั้ง สนช. และ สปท. น่าจะมีโอกาสถูกคัดเลือกไปไม่เกิน 100 คน มาจากการสรรหาเลือกกันเองตามรัฐธรรมนูญใหม่อีก 50 คน

อีก 100 คนจะมาจากการคัดเลือกคนใหม่ซึ่งจะเป็นไปตามการจัดสรรจากกลุ่มต่างๆ เพื่อความเหมาะสมในการจัดดุลกำลังทางการเมือง และเพื่อความไว้วางใจ

ซึ่งในจำนวนนี้จะมี 6 คนที่ดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

กำเนิดของ ส.ว.

ในสมัยก่อน รัฐไทยมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ผู้ที่จะช่วยบริหารประเทศตามที่พระมหากษัตริย์ต้องการ ก็จะเป็นเหล่าอำมาตย์ ขุนนาง ขุนศึกต่างๆ โครงสร้างแบบนี้เกิดมานับพันปี และค่อยๆ ปรับปรุงให้เป็นระบบมากขึ้น

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็ยังมีข้าราชการทำงานอยู่

แต่การกำหนดนโยบายจะต้องมีผู้คิดค้นดูแลและวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่อยู่แล้ว

จุดนี้เป็นหัวใจของการกุมอำนาจ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงพยายามแย่งกันเข้ามามีที่นั่ง การมี ส.ส. หรือผู้แทนจากประชาชนในครั้งแรกจึงยังมีข้ออ้างว่า ส.ส. อาจจะไม่มีความรู้ความชำนาญพอเพียงที่จะสร้างนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติให้สำเร็จ ถ้าตั้ง ส.ว. ขึ้นมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในช่วงแรกการดำเนินงานจะเป็นไปโดยราบรื่น

เพราะ ส.ว. ส่วนใหญ่ก็จะมาจากอำมาตย์เก่าซึ่งมีความรู้และรู้จักกับข้าราชการซึ่งเป็นกลไกในการปฏิบัติ

ทำไมต้องมี ส.ว.แต่งตั้ง
ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

ถ้าวิเคราะห์ในเชิงอำนาจการเมืองจะเห็นว่าการมี ส.ว. ก็เป็นช่องทางให้กลุ่มอำนาจเก่ามีเวที มีพื้นที่ทางการเมือง ในขณะที่ตัวแทนประชาชนก็มีพื้นที่ทางการเมืองและมีเวทีด้วยเช่นกัน เป็นการลดความขัดแย้ง ไม่ต้องต่อสู้ชิงอำนาจกันถึงตาย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การมี ส.ว. จึงเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบของผู้กุมอำนาจ ที่จริง เมื่อเวลาผ่านไป 30-40 ปี ก็นานมากแล้ว ถึงมี ส.ว. ที่รอบรู้เรื่องต่างๆ ก็ควรให้ประชาชนเลือก แต่เหตุผลในเชิงอำนาจมีมากกว่า ดังนั้น ผู้มีอำนาจไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ทุกสมัยจึงยังแต่งตั้ง ส.ว. แต่ยอมลดจำนวน ส.ว. อย่างช้าๆ

หลังรัฐประหาร 2520 ของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มี รธน. 2521 ให้มี ส.ว. 3 ใน 4 ของ ส.ส.

หลังรัฐประหาร 2534 ของ รสช. รธน. 2534 ให้มี ส.ว. 2 ใน 3 ของ ส.ส.

ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน รธน. 2540 ให้มี ส.ว. 150 คน (มี ส.ส. 500) จากการเลือกของประชาชนโดยตรง มีการเลือกจริง ปี 2543 และ 2549

หลังรัฐประหาร 2549 ของ คมช. รธน. 2550 ให้มี ส.ว. 150 ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา หลังรัฐประหาร 2557 รธน. 2559 ให้มี ส.ว. 250 คน จากการแต่งตั้ง 200 และสรรหาโดย คสช. จะเลือกรอบสุดท้ายอีก 50 คน สรุปว่าไม่ให้ประชาชนเลือกเลย

การดำรงอยู่ของ ส.ว.แต่งตั้งจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง ในกระแสประชาธิปไตยสูงจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด แต่ถ้ากระแสประชาธิปไตยตกต่ำลง ประชาชนก็จะไม่มีโอกาสเลือก เพราะจะต้องแบ่งพื้นที่ทางการเมืองไปให้กับกลุ่มอำนาจต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่เป็นกลุ่มอำมาตย์หรือกลุ่มทหารเหมือนเดิม

และอาจจะต้องผสมด้วยพ่อค้านายทุน กลุ่มที่มีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ กลุ่มที่ทำงานทางด้านสังคม ถ้าให้ประเมินจากพื้นฐานทางอาชีพ ส.ว. 250 คนน่าจะมาจากข้าราชการเก่าไม่น้อยกว่า 150 คนซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นทหาร อีก 50 คนน่าจะมาจากผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ ซึ่งมีความรู้ทางด้านกฎหมาย การเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจ อีก 50 คนจากการสรรหากลุ่มต่างๆ

ถ้ารัฐธรรมนูญแบบนี้ผ่านไป ส.ว.แต่งตั้งจะได้ประโยชน์ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ถ้ารัฐบาลถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ล้มไป ส.ว. ไม่เกี่ยว คัดเลือกนายใหม่ได้ ทำอย่างนี้ได้หลายครั้ง จนกว่าจะครบ 5 ปี อยู่กินเงินเดือนได้อีกนาน

อำนาจของ ส.ว.

กลุ่มที่มีอำนาจนอกระบบ และเหนือระบบ จะพยายามแต่งตั้ง ส.ว.

เพราะตาม รธน.ใหม่ ส.ว. มีหน้าที่ หรือมีส่วนในการคัดเลือกหรือรับรองตำแหน่งใหญ่ๆ เกือบทุกองค์กร เกือบทุกตำแหน่งในประเทศนี้

สมัยรัฐบาลเพื่อไทย 2554 ยังพอมีเสียงเป็นกลางใน ส.ว. บ้าง เพราะมาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่ ส.ว. ตาม รธน.ใหม่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงมีแนวโน้มที่จะมีเสียงไปทางเดียวกันกับผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถ้ารัฐบาลเป็นพวกเดียวกัน งานก็จะง่าย ถ้าเป็นคนละพวกจะมีปัญหา

แต่ กรธ. ก็จำกัดอำนาจไว้บ้าง จึงมีการดึงดันกันเล็กน้อย

จะเห็นว่าเมื่อมีการเสนอชื่อนายกฯ ในร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกให้มีการโหวตเฉพาะ ส.ส. ต่อมาได้พยายามแก้ไขเพื่อให้ ส.ว. มีส่วนร่วม แต่ กรธ. ก็ไม่ยอม สุดท้ายต้องไปยื่นเป็นคำถามพ่วง วิเคราะห์ตรงนี้ออกมาจะเห็นว่า คนที่คิดว่าจะเป็น ส.ว. อยากมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ ให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ

แต่คนที่จะเป็นนายกฯ คนนอก ต้องมีบารมีมากพอ เพราะต้องดึงเสียง ส.ส. บวกกับ ส.ว. รวมแล้วให้ได้เกิน 500 แสดงว่าคนคนนี้ หรือ 2-3 คนนี้จะต้องกุมได้ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ถามว่าในประเทศไทยตอนนี้จะมีกี่คน ชื่ออะไรบ้าง?

แม้ กรธ. จะแก้ไข รธน. ให้อำนาจ ส.ว. ลงมติเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ในบทเฉพาะกาล 5 ปี แต่ในร่างเดิมก็ตัดอำนาจในการถอดถอนของวุฒิสภาไปแล้ว ยกไปให้ศาลตัดสิน

การลงมติไม่ไว้วางใจ วุฒิสภาก็ไม่เกี่ยว

หลังลงมติเลือกนายกฯ แล้ว มูลค่าของ ส.ว. ก็ลดลง ส.ว. จึงพยายามทำตัวให้มีค่ามากขึ้น

เช่น เรื่องการเสนอชื่อนายกฯ ซึ่ง กรธ. ไม่ให้ เพราะถึงอย่างไรถ้าจะมีนายกฯ คนนอก ก็ต้องมีการเตรียมการผลักดันผ่าน ส.ส. จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว เมื่อพวกอยากเป็น ส.ว. ไม่ยอมก็ต้องส่งไปตีความกันถึงศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้มีคนมองว่าเป็นการแย่งกันเชลียร์เพื่อให้คนที่จะมาเป็นนายกฯ เห็นความสำคัญของตัวเองเพื่อจะได้เสริมสร้างความนิยมได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งที่ใหญ่โตได้ในอนาคต แต่ผู้ที่วิเคราะห์เกมการเมืองมองเรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็ก แต่มองว่ายังมีความได้เปรียบเสียเปรียบในเกมการเมืองที่ซ่อนอยู่ภายใต้มาตราของกฎหมายซึ่งร่างโดย กรธ. ชุดนี้

ส.ว. ตั้งนายกฯ ได้ ก็เปลี่ยนได้

กรธ. เขียนแบบนี้ วิเคราะห์ได้ว่า คนที่จะเข้ามาได้ต้องมากบารมีจริงๆ ตอนโหวตหรือเลือกนายกฯ ก็ต้องชนะแน่นอนได้เสียงท่วมท้น แต่สมมติฐานที่เราตั้ง เราคิดว่าบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อมีบุคคลดีเด่นเพียงแค่คนเดียว

หรือถ้าเกิดมีคนดีคนเด่นสองคน อยากเป็นนายกฯ ทั้งคู่ เวลาเข้าชื่อ ยังร่วมกันผลักดันให้มีเสียง 2 ใน 3 ได้ แต่เวลาเสนอชื่อนายกฯ คนนอกอาจจะมีผู้เสนอ 2-3 ชื่อก็ได้ ถ้าคนนอกนั้นมีอิทธิพลในหมู่ ส.ว. ด้วยกันทั้งคู่ เสียง ส.ว. และ ส.ส. ก็แตกไปตามการต่อรองของแต่ละพรรค จะเกิดความไม่แน่นอนว่าใครจะได้เป็นนายกฯ หรือถ้าคนที่เป็นตัวเก็งถูกเขาหักหลังไม่เสนอชื่อก็อาจพลาดท่าเสียที

หลายคนอาจบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเกมอำนาจคนที่คุมอำนาจเด็ดขาด ตั้ง ส.ว. มากับมือสามารถใช้อำนาจดึงเสียงต่างๆ ให้มารวมกับตัวเองได้ไม่มีทางทำพลาด ต้องได้เป็นนายกฯ จากรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไข ตามคำถามพ่วงได้อย่างแน่นอน

สถานการณ์วันนี้อาจใช่ แต่ปีหน้าไม่แน่ หรือปกครองไป 1 ปีแล้วก็อาจพลาดได้ อย่ามองแค่ชั้นเดียวขั้นเดียว เมื่อเวลาผ่านไปเกิดปัญหารัฐบาลที่ทำงานอยู่ไม่ได้รับความนิยม เมื่อเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นอย่างไร ส.ส. ที่ทั้งร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านอาจจะเปลี่ยนเสียงมาโค่นรัฐบาลก็ได้

ย้อนดูบทเรียนสมัยรัฐบาลนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งตั้ง ส.ว. มากับมือ จำนวน 3 ใน 4 ของ ส.ส. เป็นข้าราชการเยอะแยะไปหมด เลือกนายกฯ ครั้งแรกก็ต้องใช้ชั้นเชิงหลายอย่างแม้กระทั่งจู่โจมเปิดประชุมสภาเพื่อไม่ให้ฝ่ายพรรคการเมืองตั้งตัว แต่พอกระแสตก นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออก สภาเลือกนายกฯ ใหม่ เสียง ส.ว. ก็ปลี่ยนไป เสียง ส.ส. ก็เปลี่ยนไป

วันที่ 3 มีนาคม 2523 มีการจัดประชุมที่รัฐสภาซาวเสียงหานายกฯ คนใหม่ ผลปรากฏว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 195 เสียง ได้จาก ส.ว. 200 เสียง รวมเป็น 395 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้คะแนนจาก ส.ส. 79 เสียง ส.ว. 1 เสียง รวมเป็น 80 เสียง

อดีตนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 4 เสียง และ ส.ว. 1 เสียง รวมเป็น 5 เสียง จบบทบาทของนายกฯ ส.ว หนุนเพียง 9 เดือน

นายกฯ ตาม รธน. 2559 จะอยู่ได้กี่ปี ถ้าพลาดอาจจะไม่มีใครเสนอชื่อนายกฯ คนเก่าเข้ามาแข่งอีกเลย แม้ยังอยู่ในระยะบทเฉพาะกาล 5 ปี

ตาม รธน.ใหม่ ส.ส. ยังสำคัญกว่า ส.ว.

ส.ว. ตาม รธน.ใหม่ มาจากการแต่งตั้ง บางคนยังมีคนเลือกหลายสิบคน แต่บางคนมีคนสองคนหยิบชื่อมาใส่ ถ้าไม่ใช่ ส.ว.เลือกตั้งที่คนเลือกเป็นแสนคน อย่ามาคิดขอมีอำนาจมากมาย เพราะเราตกลงกันว่าจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ยังไง ส.ส. ก็ยังสำคัญกว่า เพราะไม่มี ส.ส. หรือมี ส.ส. น้อย ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ไม่มี ส.ว. น้อย ยังตั้งรัฐบาลได้

คนเขียนรัฐธรรมนูญยังให้ความสำคัญกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทิ้งกระบวนท่าที่จำเป็นเอาไว้ให้ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ผู้ที่จะมีอำนาจในอนาคตแม้จะรวมศูนย์อำนาจอย่างไรก็ยังต้องพึ่งพา ส.ส. อยู่ดี

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้จะก้าวขึ้นสู่อำนาจในยุครัฐบาลจัดสรรปันส่วนผสมจึงจะต้องมีพรรคการเมืองของตนเอง จะเป็นแบบเปิดเผยหรือแบบปิดรับแอบส่งสัญญาณกันใต้โต๊ะก็ต้องทำ

ในความเป็นจริงกลุ่มคนที่ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการโหน หรือพ่วงมากับผู้มีอำนาจล้วนแล้วแต่ไหลไปตามกระแสอำนาจ เมื่อเวลาผ่านไปใครมีอำนาจก็วิ่งไปเกาะกับคนนั้น

การส่งเสียงร้องว่า อย่าไปตั้งพรรคการเมือง ไม่เพียงไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง เป็นยุทธศาสตร์ของพวกไร้เดียงสา และขี้อิจฉาตาร้อน