แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (19)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยเรามีการยุบสภาเกิดขึ้นทั้งสิ้น 14 ครั้งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติที่ว่าด้วยการยุบสภาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็กำหนดไว้คล้ายคลึงกัน

นั่นคือ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการยุบสภาอะไรเป็นพิเศษ

อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 103 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

และรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ดังนั้น เหตุผลหรือเงื่อนไขในการยุบสภาจึงเป็นไปอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว นั่นคือ เป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น

และประเพณีการปกครองที่ว่านี้ก็ควรที่จะต้องอยู่ภายใต้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบ

และผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของอังกฤษไปในหลายตอนก่อนหน้านี้

จากนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็นถึงเหตุผลหรือเงื่อนไขของการยุบสภาในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง

 

1.การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2481 ในสมัย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481

สาเหตุคือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา “เนื่องจากความขัดแย้งในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2477 ข้อ 68 เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพื่อพิจารณารับหลักการขั้นตอนในสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 21 วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2481 ซึ่งญัตติดังกล่าว นายถวิล อุดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะเป็นผู้เสนอ…

ภายหลังที่รัฐบาลอภิปรายจบลงและที่ประชุมได้ให้มีการลงมติ โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ด้วยคะแนนเสียง 45 ต่อ 31 เป็นเหตุให้รัฐบาลแพ้ในสภา

ทําให้นายกรัฐมนตรีต้องเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการลาออกจากตําแหน่งเพราะทางรัฐบาลไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามความประสงค์ของสภาได้

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้กราบบังคมลาออกจากตําแหน่งต่อคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แต่คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไม่เห็นชอบด้วยโดยให้เหตุผลว่าสภาพการณ์ของโลกขณะนั้นปั่นป่วน คับขัน ประกอบกับคณะรัฐบาลจะต้องเตรียมการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะเสด็จกลับสู่พระนคร รัฐบาลจึงควรบริหารราชการต่อไป

จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481″

 

2.การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2488 ในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2488

สาเหตุคือ สภาผู้แทนยืดอายุมานานในช่วงสงคราม จนสมควรแก่เวลา ด้วย “ในระหว่างวาระของสภาชุดนี้ได้มีการออกพระราชบัญญัติขยายอายุสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีก 2 ครั้งด้วยกัน คือ

1) พระราชบัญญัติขยายกําหนดเวลาอยู่ในตําแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ.2485 ให้ขยายอายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2481 และจะครบกําหนดลงใน พ.ศ.2485 ออกไปอีกไม่เกิน 2 ปี

2) พระราชบัญญัติขยายกําหนดเวลาอยู่ในตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2487 ให้ขยายอายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกไปอีกไม่เกิน 2 ปีเช่นกัน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีแถลงการณ์ประกาศให้ทราบถึงความจําเป็นที่ทําให้รัฐบาลจําต้องขยายกําหนด เวลาทั้งสองครั้งว่าเนื่องมาจากภาวะสงครามซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง”

 

3.การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2519 ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2519

สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล “เนื่องจากการที่รัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายพรรค เรียกว่า “สหพรรค” โดยมีพรรคกิจสังคม ซึ่งมีที่นั่งในสภาเพียง 18 เสียง เป็นแกนนําจัดตั้ง

รัฐบาลต้องประสบกับปัญหาความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนหนึ่งได้กดดันรัฐบาลให้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี”

และในการยุบสภาครั้งนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนแบบแผนประเพณีการยุบสภาจากที่นายกรัฐมนตรีจะต้องหารือกับคณะรัฐมนตรีเสียก่อนมาเป็นการตัดสินใจโดยลำพังนายกรัฐมนตรี

 

4.การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2526 ในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2526

สาเหตุคือ สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใน “วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2526 มีการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 7/2526 เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดย นายปัญจะ เกสรทอง และคณะ

ผลปรากฏว่ามีคะแนนเสียงเห็นชอบในวาระที่สามเพียง 254 เสียง ซึ่งไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภารวมกัน ทําให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวตกไป

จากนั้นได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ปรากฏคะแนนที่ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างรัฐธรรมนูญนี้มีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภารวมกัน ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงตกไป”

 

5.การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2529 ในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 สาเหตุคือ รัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด “ในระหว่างการปิดสมัยประชุมรัฐสภา รัฐบาลได้ออกพระราชกําหนดเกี่ยวกับการเงินและเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ แล้วนําเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2529 ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสภาสมัยสามัญเป็นวันแรก ประจําปี พ.ศ.2529…

ภายหลังการพิจารณาพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529 ด้วยคะแนนเสียงอนุมัติ 143 เสียง ไม่อนุมัติ 147 เสียง งดออกเสียง 5

รัฐบาลจึงประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร”

 

6.การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2531 ในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2531 สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล “เริ่มแรกตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2530 ต้องประสบปัญหาความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในรัฐบาลมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 100 เสียง

โดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วของ นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค และขั้วของ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และ นายวีระ มุสิกพงศ์ หรือที่เรียกว่า “กลุ่ม 10 มกรา” ซึ่งเป็นกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี การแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาลโดยตรง

ดังนั้น จึงมีความพยายามประสานประโยชน์ระหว่างฝ่าย นายพิชัย รัตตกุล กับกลุ่ม 10 มกรา ด้วยการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่การต่อรองจัดสรรตําแหน่งรัฐมนตรีกันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงกลายเป็นปัญหาไม่ลงตัวมาโดยตลอด”

ส่วนการยุบสภาที่เหลืออีก 8 ครั้ง ผู้เขียนจักได้กล่าวถึงในตอนต่อไป