เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี : บันเทิงไทยใต้ร่มพระบารมี (2) – “แม่พลอย 6 แผ่นดิน”

“สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการละครเวทีไทย

จนถึงขณะนี้เปิดทำการแสดงมากกว่า 200 รอบ มีผู้ชมร่วม 3 แสนราย

สร้างรายได้จากการขายบัตรร่วม 500 ล้านบาท

ได้รับการยกย่องจากวุฒิสภาในปี 2555 ให้เป็นละครที่กระตุ้นเตือนให้คนไทยได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์

เหนือกว่ารางวัลอื่นใด คือเมื่อ 10 มกราคม 2555 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทอดพระเนตรละครเวทีเรื่องนี้

เมื่อละครจบ ทรงมีรับสั่งกับ “บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับฯ ว่า “ละครดี ดูสนุก ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป ไม่อยากให้จบเลย”

และเมื่อ 8 สิงหาคม 2560 ในหลวง ร.10 ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์ ไปทอดพระเนตรละครเวทีเรื่องนี้อีกด้วย

 

เป็นเวลาร่วม 66 ปีที่นวนิยาย สี่แผ่นดิน โลดแล่นในโลกทรรศน์ของคนไทย (2494-2560) โดยมีการผลิตซ้ำในรูปแบบต่างๆ อย่างน้อย 13 ครั้ง เช่น ละครโทรทัศน์ 5 ครั้ง (ฉบับหม่อมน้อยออกอากาศซ้ำอีก 3 ครั้ง คือหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด, หลังการสวรรคต, ก่อนงานพระบรมศพ)

หรือเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 5 ปี คนไทยจะได้ชมสี่แผ่นดิน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และทุกๆ ครั้งที่สี่แผ่นดินถูกผลิตซ้ำ ก็มักมาพร้อมกับนัยยะทางการเมืองที่แหลมคมอยู่เสมอ

สี่แผ่นดิน มีแกนเรื่องคงเดิม คือการฉายภาพความรุ่งเรืองของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปมปัญหาในระบอบประชาธิปไตย แต่เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องโดยปรับ ดัดแปลง ให้เข้ากับบริบททางสังคม

สี่แผ่นดินในฉบับปี 2554 และ 2557 จบลงด้วยฉากการสวรรคตของ ร.8 และวิญญาณของแม่พลอย รวมถึงตัวละครต่างๆ ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.9 เพราะถือว่าวันผลัดแผ่นดินคือวันที่ได้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

นี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏในสี่แผ่นดินฉบับนวนิยาย แต่ในละครเวทีฉบับล่าสุด สี่แผ่นดินได้ถูกตีความไปไกลกว่านั้น

 

สี่แผ่นดิน ฉบับปี 2560 เปิดด้วยฉากที่ประชาชนแต่งชุดดำ ถือเทียน ร้องไห้ และเดินไปก้มลงกราบที่กำแพงพระบรมมหาราชวัง

ฉากนี้จำลองจากเหตุการณ์ในวันสวรรคตในหลวง ร.9 ถัดจากนั้นวิญญาณของแม่พลอย ซึ่งรับบทโดย “สินจัย เปล่งพาณิช” กล่าวเปิดเรื่องว่า “ในชีวิตของอิฉัน ได้เห็นภาพนี้มาหลายครั้ง ภาพที่คนไทยทั้งแผ่นดินหัวใจสลาย ทุกข์ของแผ่นดินเป็นเช่นนี้…อิฉันชื่อพลอย อิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน”

นี่เป็นครั้งแรกที่แม่พลอยเชื่อมโยงกับในหลวง ร.9

นักวิจารณ์รายหนึ่ง ยกให้สี่แผ่นดินฉบับล่าสุด เป็น “6 แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” เพราะในตอนจบของเรื่อง ได้จำลองเหตุการณ์ในวันสวรรคตในหลวง ร.9 อีกครั้ง หลังจากนั้น วิญญาณของแม่พลอย กล่าวจบเรื่องว่า

“คนสี่แผ่นดินอย่างอิฉัน พบเจอกับการเปลี่ยนแปลงมามากมาย ทุกครั้งมีทั้งการเกิดและดับของสรรพสิ่ง แต่ทุกอย่างก็จะสวยงามอย่างที่มันเป็น เช่นเดียวกับแผ่นดิน ถึงแม้อิฉันจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ แต่ก็รู้ได้ว่าตลอด 70 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองสงบร่มเย็นด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน พ่อหลวงของประชาชน อิฉันแน่ใจว่าแผ่นดินจะร่มเย็นเป็นสุข ตราบเท่าที่คนไทยยังมีเสาหลักนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เสาหลัก…ที่มิใช่หมายถึงเพียงตัวบุคคล แต่หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์”

ฉากตัดจบที่พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 ปรากฏขึ้นกลางเวที หลังจากนั้น ตัวละครทั้งที่เป็นวิญญาณ และมีชีวิต ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์องค์นั้น

 

นอกเหนือไปจากการตีความใหม่ ให้กลายเป็น “แม่พลอย 6 แผ่นดิน” แล้ว สี่แผ่นดินยังเขียนบทใหม่โดยเพิ่มประเด็น ระบบดีแล้ว แต่คนไม่ดีเอง หรือระบอบประชาธิปไตยเป็นของดีจริงอยู่ แต่อย่าได้ปล่อยให้คนไม่ดี คนโลภ มาปกครองบ้านเมือง

ตัวละคร “อั้น” ที่เป็นภาพตัวแทนของการปฏิวัติ 2475 และศรัทธาประชาธิปไตย สารภาพผิดผ่านเพลงในช่วงท้ายเรื่อง

“ฝันสร้างจากความหวังดี กลับเป็นฝันร้าย ดับแสงที่เธอศรัทธา ผลลัพธ์เลวร้ายนั้นสุดคณนา ได้ทำลายสิ่งล้ำค่า จนทุกอย่างสิ้นสลาย”

นี่ก็คือการย้ำว่า 2475 เป็นของชิงสุกก่อนห่ามและล้มเหลวในงานทางวัฒนธรรม

ทั้งหมดนี้ หลุดออกจากตัวบทนวนิยายทั้งสิ้น แต่เน้นสนทนากับบริบททางการเมืองและสังคมในช่วงเวลาปัจจุบัน

ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้ถูกจำกัดไว้สำหรับชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อบัตรละครเวทีเท่านั้น แต่สารของละครเวทีหลุดลอยออกนอกโรงละคร เห็นได้จากเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” ที่กึกก้องอยู่ทั่วแผ่นดิน และย้ำสาร “มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม”

เหมือนที่บอยเขียนไว้ในสูจิบัตรว่า “แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่ได้รับรู้ถึงบทเรียนเหล่านั้น…โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน แต่คุณค่าของความเป็นไทยไม่ควรเปลี่ยน”

การตีความเช่นนี้ เกิดจากทิศทางการกำกับที่ชัดเจนของ “บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ”

 

ชื่อชั้นของ “ถกลเกียรติ” คือชื่อชั้นของผู้ผลิตสื่อบันเทิงที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่สูง นับตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน เขามียอดจำนวนการผลิตละครโทรทัศน์, ละครเวที, ซิทคอม, เกมโชว์, รายการโทรทัศน์, เพลง ไปจนถึงรายการประกวดร้องเพลง ทั้งในฐานะผู้ผลิต ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับฯ มากกว่า 400 ชิ้น

ถกลเกียรติยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเจ้านายพระองค์ต่างๆ อยู่เป็นระยะ เช่น

ในปี 2540 บอยเริ่มต้นสร้างละครเวทีเรื่องแรก “วิมานเมือง เดอะมิวสิคัล” ก่อนละครเรื่องนี้ทำการแสดง เขาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ฝรั่งเศส ในงานนั้นเขาได้ขึ้นไปร้องเพลงถวาย “พองานเลิก พระองค์ท่านจะเสด็จฯ กลับ ผมจึงไปยืนส่งเสด็จฯ และเมื่อพระองค์ท่านเสด็จผ่านผม พระองค์ท่านหันมาที่ผมพร้อมทรงมีรับสั่งว่า กำลังจะมีละครเพลงหรือ รับจะไปดูแล้วนะ” และเมื่อวันแสดงรอบปฐมทัศน์ ยังทรงมีรับสั่งหลังทอดพระเนตรละคร กับบอยว่า “จะรอดูผลงานเรื่องที่สอง”

ในปี 2548 ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บอยหยิบบทประพันธ์ “ทวิภพ” ของ “ทมยันตี” มาทำเป็นละครเพลง งานชิ้นนี้ขับเน้นความรักต่อผืนแผ่นดินของคนโบราณ เพื่อสะท้อนให้เป็นเยี่ยงอย่างของสังคมไทยในปัจจุบัน

เมื่อนำมาจัดแสดงอีกครั้งในปี 2549 บอยเล่าว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก “ถ้าทวิภพครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการเตือนให้คนไทยทุกคนสำนึกอยู่เสมอว่า…เราก็โชคดีมากเพียงใดที่เกิดมาเป็นคนไทย โดยมีชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นที่ยึดมั่นและคุ้มครองพวกเรา และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น…อย่าให้ใครแยกแผ่นดินของเรา”

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ซึ่งได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรละครเวทีเรื่องนี้ ได้ทรงมีรับสั่งกับบอยว่า “มันดีจริงๆ ฉันได้ยินมาว่ามันดี แต่ไม่คิดว่าจะดีขนาดนี้ มันดีจริงๆ”

 

ในปี 2550 บอยสร้าง “โรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์” และในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเปิดโรงละครและทอดพระเนตรละครเวทีฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล รอบปฐมทัศน์

ละครของบอยยังได้รับคำชื่นชมจาก “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวอย่างของละครแนวปรองดองสมานฉันท์ สอดแทรกประวัติศาสตร์ ความรักชาติรักแผ่นดิน เช่นในปี 2559 นายกฯ ได้ชวนคนไทยให้ไปดูละครเวที “ผ้าห่มผืนสุดท้าย” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของทหารที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อมาตุภูมิอันเป็นที่รัก ในเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ละครเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กอ.รมน.

ต่อมา นายกฯ ได้ชวนดูละคร “พิษสวาท” ทางช่อง One เพราะช่วย “เตือนสติสังคมถึงการรักษาสัจจะ…ผู้ที่มีความโลภจะไม่ได้อยู่เย็นเป็นสุขอย่างแน่นอน”

หลังการสวรรคต บอยเลื่อนการแสดงละครเวที “ลอดลายมังกร เดอะมิวสิคัล” ออกไป เมื่อนำกลับมาแสดงใหม่ เขาชวนคนไทยมาดูละครเพราะชีวิตของอาเหลียง “ดำเนินตามพระราชดำรัสของในหลวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเพียร…มาร่วมสำนึกในคำสอนของในหลวงร่วมกัน”

ในเวลาเดียวกัน เขายังประกาศจะนำสี่แผ่นดินกลับมาทำการแสดงอีกครั้งโดยตีความใหม่เพื่อคนไทยในปี 2560

 

เขายังเป็นผู้อำนวยการสร้างละคร “เราเกิดในรัชกาลที่ 9 เดอะซีรีส์” โดยระดมทัพนักแสดงและคนบันเทิงหลายร้อยชีวิต ร่วมถ่ายทำจำลองฉากเคลื่อนย้ายพระบรมศพ และจำลองฉากการร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ณ ท้องสนามหลวง

ผู้ชมรายหนึ่งบอกว่าถือเป็นละครเฉลิมพระเกียรติที่สมบูรณ์ที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีการผลิตมา

เมื่อ 26 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา เขายังได้ถวายงานครั้งสุดท้าย ในการแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยทำหน้าที่ลงมือกำกับเวทีที่สาม ซึ่งเน้นบรรเลงดนตรีสากลด้วยตัวเอง

27 ปี ในชีวิตการทำงานของถกลเกียรติ ไม่เพียงสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการบันเทิง โดยเฉพาะในการผลิตซิทคอม และละครเวที แต่เขายังสร้างมาตรฐานใหม่ในการผลิตสื่อเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย

“สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” คงเป็นคำตอบได้ดี