“พิมพ์ภัทรา” ทิ้ง ปชป. สัญญาณไม่ธรรมดา “ประยุทธ์” ยิ่งโดดเด่น เบอร์ 1 รวมไทยสร้างชาติ

ข่าวการย้ายพรรคของพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 8 เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ มีนัยยะที่ไม่ธรรมดา

เริ่มจาก มีรายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แจ้งว่า จากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเดินไปทางเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ทั้ง 9 เขต ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ แต่ทราบว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 8 จะไม่ไปร่วมเปิดตัวด้วย

ต่อมา วันที่ท 9 พ.ย. พิมพ์ภัทรา ได้เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค ปชป. เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะออกจากพรรค ขอไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา น.ส.พิมพ์ภัทรา ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับรวมไทยสร้างชาติเป็นเวลา 2 เดือนมาแล้ว

ย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นครศรีธรรมราชเขต 8 ประกอบด้วย อำเภอขนอม อำเภอนบพิตำ อำเภอพรหมคีรี และอำเภอสิชล

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 41,771 หรือคิดเป็น 40%

อันดับ 2 จักรกฤช บริรักษ์ จากพลังประชารัฐ 22,933 คะแนน หรือคิดเป็น 22%

อันดับ 3 ภูริณัฐ ใจสนุก จากอนาคตใหม่ 11,371 คะแนน หรือคิดเป็น 10%

จะเห็นได้ว่า พิมพ์ภัทรา ได้คะแนนถึงเกือบ 4.2 หมื่นคะแนน ทิ้งห่างพลังประชารัฐถึง 2 หมื่นคะแนน

ปัจจุบัน พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ และเป็นบุตรสาวของ มาโนชญ์ วิชัยกุล อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช 9 สมัย

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ประกอบธุรกิจบริษัท วอเตอร์เทสท์ จำกัด ต่อมาเข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช แทนบิดาซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ก็ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยที่ 3

ในปี 2563 มีข่าวว่าจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ปฏิเสธ
โดย พิมพ์ภัทรา เป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่ม กปปส.

ถ้าถามว่าทำไมตระกูลวิชัยกุล ที่คลองพื้นที่เขตเลือกตั้งภายใต้สังกัดพระแม่ธรณีบีบมวยผมมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยพ่อจนถึงลูก จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรคที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ อย่างรวมไทยสร้างชาติ

คำตอบคงเป็นเรื่องของการคาดการณ์ทางการเมืองจากการเลือกตั้งครั้งหน้า

ด้วยคะแนน 4.2 หมื่นคะแนน ภายใต้สังกัดประชาธิปัตย์ แต่ในสภาวะปัจจุบันเราจะเห็นการลดความนิยมทางการเมืองลงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างหนัก นักการเมืองรุ่นใหญ่จำนวนมากทยอยลาออกไปสังกัดพรรคอื่น นักการเมืองรุ่นใหม่ยังมองไม่เห็น แม้ใกล้เลือกตั้งแล้ว

ขณะที่คนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐเดิมมีประมาณ 2.3 หมื่นคะแนน ทั้งนี้การเลือกพรรคพลังประชารัฐในปี 2562 ก็คือการเลือก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง นี่จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งให้ตระกูลการเมืองวิชัยกุลหันไปซบพรรครวมไทยสร้างชาติ

แต่แน่นอนว่าก็ต้องคำนวณกับแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์เดิม ที่เทคะแนนเลือกให้ในครั้งก่อน ในจำนวน 4.2 หมื่นคะแนน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายว่าเป็นเรื่องของการเลือกพรรคหรือคน

แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยทางการเมืองต่างๆที่แหลมคมขึ้นโดยเฉพาะในศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า การตัดสินใจเลือกขั้วแบ่งข้างให้ชัด ก็อาจจะเป็นการเพิ่มแต้มต่อให้มากกว่า ทำนองว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว แทงข้างรวมไทยสร้างชาติ ให้ชัดเจนไปเลยอาจจะดีกว่า

ดังนั้นการย้ายพรรคครั้งนี้จะไม่จบเพียงคนเดียวแน่ น่าจะมีตามมาอีก

ส่วนการทิ้งไพ่ใบนี้ของตระกูลวิชัยกุล หันซบรวมไทยสร้างชาติ ผลจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอติดตามกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่สิ่งสำคัญที่แสดงออกจากการย้ายพรรคครั้งนี้คือความสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ และความโดดเด่นของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่หลายคนมองว่าน่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้น