THAILAND 4.0 “ป” โมเดล

ไม่น่าแปลกใจ

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ขานรับข้อเสนอของ นายวันชัย สอนศิริ กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ที่เสนอให้ยึดแนวทาง “เปรมโมเดล” เพื่อก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ

แม้ว่าหลักการจะดูดี ทำนองว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือนายกฯ คนนอก ต้องเป็นผู้ประนอมดุลอำนาจระหว่างฝ่ายเลือกตั้งกับฝ่ายกองทัพให้ลงตัว

ลงตัวในลักษณะเดียวกับที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เคยทำ

จนสามารถครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีได้ยาวนานถึง 8 ปี แม้จะไม่มีพรรคการเมืองของตัวเองเลยก็ตาม

แต่นั่นดูเหมือนจะไม่ครอบคลุมเหตุผลที่ พล.อ.เปรม สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานเท่าใด

 

ต้องไม่ลืมว่า แม้ พล.อ.เปรม จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

แต่ก็ไม่ได้เข้าสู่อำนาจด้วยการ “รัฐประหาร” ทำให้ พล.อ.เปรม ไม่ถูกต่อต้านจากต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐ

ตรงกันข้าม ในช่วง พล.อ.เปรม เข้าสู่อำนาจ เป็นช่วงสงครามเย็น และเป็นช่วงการต่อสู้ของโลกเสรีกับพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างเข้มข้น

มหาอำนาจในปีกโลกเสรี ต่างให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย เพื่อเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับ “คอมมิวนิสต์” ที่ยึดครองอินโดจีนเอาไว้ทั้งหมด

รัฐบาล พล.อ.เปรม จึงแนบแน่นกับสหรัฐ และชาติตะวันตก

จึงแทบไม่ได้รับแรงกดดันจาก “ต่างชาติ” ใดๆ เลย

ถือว่ามีเสถียรภาพอย่างยิ่งในเรื่อง “ต่างประเทศ” ต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาก

 

ยิ่งกว่านั้น พล.อ.เปรม แม้จะเป็นทหาร

แต่ก็เป็นทหารสายพิราบ อันนำไปสู่นโยบาย 66/2523 ที่สามารถยุติสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้อย่างน่าทึ่ง

อันนำมาสู่เสถียรภาพทางด้านความมั่นคง อีกด้าน

เมื่อภัยคุกคามความมั่นคง ยุติลง พล.อ.เปรม ก็เริ่มมีเวลาในการบริหารภาคเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกัน แม้ พล.อ.เปรม จะเป็นทหาร

แต่กลับเปิดกว้างให้กับกลุ่มเทคโนแครต อันหมายถึงข้าราชการที่มีความรู้ทางด้านการจัดการเศรษฐกิจ ที่ทำงานในหน่วยภาครัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นำไปสู่ “ยุคทอง” ของเทคโนแครตที่มีส่วนในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ร่วมกับรัฐบาล พล.อ.เปรม

โดยเฉพาะ นายเสนาะ อูนากูล เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ระดมทีม เช่น โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์, สุเมธ ตันติเวชกุล, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, พิสิฏฐ ภัคเกษม, จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช, สมชาย กรุสวนสมบัติ, สถาพร กวิตานนท์ เข้ามาวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 และแผนฯ 6 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการลงทุนในช่วงแผนฯ 1-3 เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และมาบตาพุด จังหวัดระยอง

ถือเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่เพื่อเข้าไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

นี่เอง ทำให้สถานะของ พล.อ.เปรม โดดเด่น และกลายเป็น รัฐบุรุษ ในที่สุด

 

บุคลิกของ พล.อ.เปรม ที่ สุขุม พูดน้อย เปิดกว้างรับฟังคนอื่น มีแนวคิดแบบสายพิราบ ทำงานเป็นทีม เชื่อมั่นในเทคโนแครต และนักวิชาการ

เมื่อหลอมรวมเป็น “เปรมโมเดล” ก็ต้องบอกว่า เลียนแบบยาก

และเมื่อยิ่งไปเทียบกับบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว แตกต่างกันลิบลับ

พล.อ.ประยุทธ์ โผงผาง เจ้าอารมณ์ พูดมาก

ขณะเดียวกัน เชื่อมั่นในกลุ่มพวกพ้องเดียวกัน โดยเฉพาะ ทหารกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ มากกว่าที่จะแสวงหาความเชี่ยวชาญจากเทคโนแครต และนักวิชาการ

มีแนวคิดโน้มเอียงไปในทางสายเหยี่ยว มากกว่าพิราบ

บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

มุ่งใช้กฎเกณฑ์ กฎหมาย ที่ออกแบบผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก มากกว่าผู้ประนอมดุลอำนาจระหว่างฝ่ายเลือกตั้งกับฝ่ายกองทัพให้ลงตัว

จึงคาดหมายว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับฝ่ายการเมืองในอนาคตอันใกล้ จะเป็นไปในลักษณะ “ควบคุม” “กำกับ” มากกว่าจะปล่อยให้ มีเสรี

จึงยากอย่างยิ่ง ที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปหยิบเอา เปรมโมเดล มาใช้

 

การเมืองต่อไปนี้ จะเป็นไปในทางแนว “ประยุทธ์โมเดล” เสียมากกว่า

เป็น “ประยุทธ์โมเดล” ที่ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีความมั่นใจสูงมากยิ่งขึ้น ว่า มาถูกทางแล้ว

โดยเฉพาะ หลังจากผลประชามติ 7 สิงหาคม ออกมา ในทางที่ประชาชนเทคะแนนเสียงให้รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่มาจาก 2 ใน 5 แม่น้ำสาย คสช. ท่วมท้น

ความเข้มแข็ง เด็ดขาด โผงผาง มือสะอาด นำไปสู่การประเมินว่า นี่คือ “จุดแข็ง” ที่ขายได้ ของ พล.อ.ประยุทธ์

และกำลังถูกขยายผล เพื่อที่จะสานงานต่อออกไปอย่างน้อย 5 ปี

ท่ามกลางความมั่นใจว่า จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

และที่สำคัญ กลไกที่ออกแบบผ่านรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก จะเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ คสช. และรัฐบาล อยู่ในเส้นทางของอำนาจต่อไป

 

ความคาดหวังในเชิงบวก ประกอบกับผลการสำรวจที่สอดคล้องกัน ว่าประชาชนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นี้เอง ทำให้ถนนทุกสายวิ่งเข้าหา คสช.

ทำให้ คสช. เป็นประหนึ่งศูนย์รวมแห่งอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น

และสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ตามความต้องการได้อย่างเต็มที่

แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้สร้างความประหลาดใจ ด้วยการตัดสินใจ จัด “สมดุลใหม่” ในกองทัพ

นั่นคือ แทนที่จะฉวยโอกาสสร้างความแข็งแกร่งต่อไป ให้กับบูรพาพยัคฆ์

ด้วยการสนับสนุนให้ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก น้องบูรพาพยัคฆ์ และเป็นนายทหารที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้การสนับสนุน ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลือกที่จะขัดใจ พล.อ.ประวิตร

ด้วยการหันไปเลือก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผช.ผบ.ทบ. ทหารสายรบพิเศษ เป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ แทน

แน่นอนว่ามีหลายเหตุผล ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเช่นนี้

ด้านหนึ่ง ก็ต้องการฟัง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ที่ไม่อยากให้ พล.อ.พิสิทธิ์ เป็น ผบ.ทบ. เพราะมองว่าเป็นสายเดียวกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ที่มีเรื่องคาใจกันมา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอุทยานราชภักดิ์

อีกด้านหนึ่ง พล.อ.เฉลิมชัย ในฐานะหน่วยรบพิเศษ น่าจะเหมาะสมในการดูแลสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านและช่วงที่มีการเลือกตั้ง มากกว่าคนอื่น


แต่ที่เป็นเหตุผลสำคัญ ก็คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการแสดงให้เห็นว่า ไม่เอาแต่บูรพาพยัคฆ์ หรือทหารเสือราชินี เท่านั้น

ยังพร้อมให้ความชอบธรรมให้กับนายทหารสายอำนาจอื่นด้วย

และการตัดสินใจให้ทหารรบพิเศษขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. อีกครั้ง หลังจากที่ว่างเว้นมา 10 ปี ตั้งแต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั้น

ยังเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.พิสิทธิ์ ในฐานะนายทหารหน่วยรบพิเศษ ย่อมมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมาจากหน่วยรบเดียวกัน

ส่วน พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นใครและแนบแน่นแค่ไหนกับ พล.อ.เปรม คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว

ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมสละตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ให้ พล.อ.พิสิทธิ์ ก็เท่ากับเชื่อมไมตรีไปยังขั้วอำนาจบ้านสี่เสาเทเวศร์ด้วย

ถือเป็นการเดินเกมประสานประโยชน์ อย่างเหนือความคาดหมาย

 

บ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่ตอนแรกถูกประกาศว่าจะปิดในวันเกิดของ พล.อ.เปรม 26 สิงหาคม

แต่กลับเปิดกว้างให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ คณะรัฐมนตรี และผู้นำเหล่าทัพ เข้าอวยพรวันเกิด ในวันที่ 25 สิงหาคม อย่างชื่นมื่น

ดูได้จากคำพูดที่แต่ละฝ่ายมอบให้แก่กัน

พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า พวกตนตระหนักเสมอว่า พล.อ.เปรม ได้อุทิศตนในการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีเกียรติประวัติคุณงามความดีและการดำรงตนด้วยความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำให้ พล.อ.เปรม เป็นที่เคารพยกย่อง เชิดชู และเป็นแบบอย่างสำหรับพวกตน

ขณะที่ พล.อ.เปรม กล่าวว่า

“ผมเชื่อมือนายกรัฐมนตรีและพวกเราว่าจะทำงานให้ชาติบ้านเมืองด้วยความจงรักภักดี ความเสียสละ และเห็นแก่ความสุขของคนไทย พวกเราจะทุ่มเทในทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ถ้ามีอุปสรรคไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ยากหรือง่าย ขอให้นายกรัฐมนตรีสบายใจว่าพวกเรากองทัพและประชาชนจะสนับสนุนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและพวกเราทุกคน”

“อย่างที่พูด ป๋าแก่แล้วคงจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่จะเป็นกำลังใจว่าตู่ต้องทำให้สำเร็จ หวังว่าพวกเราทุกคนจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจได้สำเร็จและมีความรักความสามัคคีกลับมา ขอให้ตู่สบายใจ พวกเราจะเชียร์และเป็นกำลังใจ จะทำทุกอย่างที่ทำให้ตู่นำความผาสุกมาสู่ประชาชนคนไทย ขอให้โชคดีและมีความสุข”

 

จากคำพูดดังกล่าว ไม่มีอะไรต้องตีความอีก

เพราะชัดเจน ว่าทั้ง 2 ขั้ว ผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างแนบแน่น

แนบแน่น หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เก้าอี้ ผบ.ทบ. พิสูจน์มิตรภาพและความจริงใจ ที่มีกับขั้วสี่เสาฯ

ขณะที่ขั้วสี่เสาฯ ก็มีคำพูดแบบ “พวกเราจะเชียร์และเป็นกำลังใจ จะทำทุกอย่างที่ทำให้ตู่นำความผาสุกมาสู่ประชาชนคนไทย” เป็นการตอบแทน

ที่ผ่านมาอาจมีเสียงเล็ดลอดออกมาถึงการแตกเป็น 2 ฟากระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.สุรยุทธ์

ซึ่งอาจจะลุกลามเป็นอื่นได้ ซึ่งก็มีบทเรียนให้เห็นมาแล้วในอดีต

บ้านสี่เสาฯ แม้จะเงียบเชียบ แต่ก็หยั่งรากลึกสามารถกลายเป็นปัญหาให้กับฝ่ายที่พยายามสร้างอำนาจขึ้นมาแข่งขัน หรือแสดงความเหนือกว่า ได้เสมอ

นี่เองจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็น สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีเป้าหมายต้องอยู่ต่อ และอาจต้องเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก จะต้องแสวงแรงสนับสนุนจากขั้วบ้านสี่เสาฯ อย่างขาดไม่ได้

และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ลงมือทำ โดยใช้ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นเครื่องมือ

 

กล่าวสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ในนาทีนี้ คงไม่ใช่การไปหยิบเอา “เปรมโมเดล” มาก๊อบปี้

หากแต่เป็นการหลอม “เปรม-ประยุทธ์-ประวิตร” เป็น “ป” โมเดลเดียวมากกว่า

เป็น “ป” โมเดล ที่สะท้อนถึงการ “สามัคคีส่วนนำ”

พร้อมๆ กับแตกหักส่วนล่าง (ฝ่ายการเมือง)

เพื่อจะนำไปสู่การครองอำนาจยาวนานตามเป้าหมายที่วางไว้