คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พระกฤษณะสามองค์?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ถ้างานประเพณีนวราตรีหรืองานแห่เจ้าแม่วัดแขกเป็นงานเทศกาลฮินดูที่ใหญ่ที่สุดของวัดแขกสีลม

งานวันเกิดพระกฤษณะ หรือ “กฤษณะชนมาษฏมี” (วันเกิดพระกฤษณะแปดค่ำ) ก็เป็นงานเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของเทพมณเฑียร หรือวัดฮินดูของคนอินเดียเหนือในประเทศไทย

คนอินเดียแต่ละถิ่น แม้ว่าจะนับถือฮินดูด้วยกันก็จริง แต่ก็มีวัฒนธรรมและภาษาของตัวเอง

ดังนั้น มักจะตั้งศาสนสถานตามแบบของตน เพราะศาสนสถานไม่ใช่แค่ที่บูชาเทพ แต่เป็นที่ชุมนุมพบปะกัน ทำนองเดียวกับคนจีนใช้ศาลเจ้าเป็นสมาคม

ความนิยมในเทพของแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันออกไป

พื้นที่ไหนมีตำนานเกี่ยวพันกับเทพองค์ใด ก็จะทำให้แถบนั้นมีความนิยมเทพองค์นั้นเป็นพิเศษ

เช่น ทางใต้และพังคละดูจะมีเจ้าแม่ท้องถิ่นมากหน่อย ส่วนทางเหนือ เช่น พฤนทาวัน อโยธยาก็จะนิยมพระกฤษณะและพระรามมาก

ที่จริงควรกล่าวด้วยว่า นิกายหลักของฮินดูนั้นยังมีแบ่งย่อยเป็นอนุนิกายออกไปอีกมากมาย และแม้จะอยู่ในนิกายเดียวกัน ก็อาจยังมีการนับถือเทพปลีกย่อยออกไปอีก

ซึ่งขึ้นกับการตีความหรือจุดเน้นของครูบาอาจารย์

 

ไวษณพนิกายหรือนิกายที่นับถือพระวิษณุนั้น ไม่ใช่ว่าเขาจะนับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์ผู้ทรงสังข์จักรคฑาธรณีอย่างที่พวกเราคุ้นเคยเท่านั้น (ปางนี้อาจเรียกว่าเป็น “นิตยรูป” คือถ้าพระวิษณุไม่อวตารก็จะอยู่ในรูปนี้เสมอ)

เขายังนับถือเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับพระวิษณุ เช่น พระอวตารต่างๆ หรือเทพบริวารใน “แวดวง” ของพระองค์ด้วย เช่น หนุมาน หรือพระลักษมี

ที่จริงไวษณพนิกายที่เน้นพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นสำคัญนั้น (ในความหมายว่าเน้นเฉพาะปางนี้เป็นพิเศษ) ผมเข้าใจว่ามีแต่ไวษณพนิกายของท่านศรีรามานุชาจารย์ ที่เรียกว่า “ศรีสัมประทายะ” ซึ่งเป็นพวกไวษณพแรกๆ ต่อมาคณาจารย์ไวษณพภายหลังก็พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าของตัวเองออกไปมาก

อาจกล่าวไวษณพได้ว่ามี “พระเป็นเจ้า” หลักอยู่สามพระองค์ คือ พระวิษณุหรือพระนารายณ์ในนิตยรูป เช่น นิกายของท่านรามานุชะ, พระราม เช่นนิกายของท่านรามานันทะ และพระกฤษณะ ซึ่งดูจะมีนิกายย่อยของพระองค์มากสุด เช่น นิกายของวัลภาจารย์, นิพารกาจารย์, มาธวาจารย์ และไจตันยาจารย์หรือเคารังคะ

อ่านไปอ่านมาอาจทำให้งงว่า เอ้า ก็พระรามและพระกฤษณะต่างเป็น “อวตาร” ของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ทั้งนั้นนี่ ทำไมต้องมาแยกกันด้วย แล้วพวกนี้เค้าไม่นับถือพระวิษณุในปางนิตยรูปกันหรือ

 

ที่จริงจะไวษณพไหนๆ ก็ล้วนนับถือพระวิษณุและอวตารทุกองค์ ทว่า เหตุที่แยกเฉพาะออกไปนั้น เนื่องด้วยอิทธิพลของคัมภีร์บางเล่ม เช่น มหาภารตะ, รามายณะ และ “ศรีมัทภาคตปุราณะ” ฯลฯ เพราะคัมภีร์เหล่านี้ยกย่องพระอวตารใดอวตารหนึ่งเป็นพิเศษ

ครั้นต่อมา คณาจารย์ของนิกายสืบสานคำสอนมาแล้วก็ปรับปรุงเข้าในหลักปรัชญาตนเอง เช่น ไจตันยาจารย์หรือนิมพารกะ กลับมามุ่งเน้นที่ “ความรัก” ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ซึ่งสะท้อนผ่านเรื่องราว “รสลีลา” (ลีลารัก) ของพระกฤษณะอันปรากฏในคัมภีร์ภาควัตปุราณะ

นิกายย่อยเหล่านี้จึงถือว่า พระกฤษณะ เป็นรูปอันอุดมสูงสุดของพระเป็นเจ้า เป็นพระผู้มีลีลาแห่งความรักที่เชื้อชวนให้ศาสนิกดื่มด่ำกับพระองค์ ทั้งพระคุณสมบัติที่ไม่มีอวตารใดจะเปรียบได้ แม้แต่นิตยรูปของพระองค์เองก็ตาม

 

ภาควัตปุราณะ เป็นปุราณะที่เล่าเรื่อง “ภควาน” หรือพระเป็นเจ้า อันหมายถึงพระกฤษณะเป็นหลัก เป็นคัมภีร์ปุราณะที่สำคัญที่สุดของไวษณพนิกาย จนบางครั้งเรียกคำสอนไวษณพนิกายที่ยึดคัมภีร์นี้ว่า “ภาควัตธรรม”

แม้จะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ภาควัตกลับเป็นคัมภีร์ที่กินใจศาสนิกอย่างสูง ทั้งยังมีเรื่องราวสนุกสนาน โดยมีตัวเอกคือพระกฤษณะ อันมีลีลาโลดโผน (ผิดกับพระรามในรามายณะ ซึ่งเรียบร้อยเหลือเกิน)

ตั้งแต่วัยเด็กพระองค์สนุกสนานและซุกซนจนได้พระนาม “ทาโมทร” (แปลว่ามีเชือกมัดพุงไว้ ไม่งั้นคงซนไปทั่ว) ครั้นเริ่มหนุ่มพระองค์ก็มีเสน่ห์ล้นเหลือจนสาวๆ เลี้ยงโคปีพากันลุ่มหลงในลีลาอันน่าอัศจรรย์ พระองค์เป็นทั้งฮีโร่ทรงพลัง หนุ่มน้อยทรงเสน่ห์รูปหล่อที่สุดในจักรวาล นักดนตรีโรแมนติก ที่พึ่งของเหล่าสาวกและกษัตริย์ที่ทรงปัญญา

“ลีลา” (คำนี้เป็นศัพท์เฉพาะในทางฮินดู ซึ่งหมายถึงสิ่งที่พระเจ้าแสดงให้เราเห็น เพื่อเราจะได้ดื่มด่ำกับนาฏกรรมนี้ของพระองค์) ที่ปรากฏในภาควัตนี้ น่าจะเป็นลีลาของพระกฤษณะที่ศาสนิกชนรักที่สุด

ความรักเช่นที่ว่านี้มิใช่ความรัก เช่น พระบิดาและบุตร หรือครูกับศิษย์แต่อย่างใด ทว่า เป็นความรักแบบ “หนุ่มสาว” ที่เร่าร้อนรุนแรง

มีราพาอี (Mirabai) กวีนักบุญอดีตเจ้าหญิงราชปุตผู้ได้รับอิทธิพลจากตำนานพระกฤษณะ ถึงกับปฏิญาณที่จะมีรักเพียงกับพระกฤษณะไปตลอดกาล จนท้ายสุดยอมละทิ้งเวียงวังไปเป็นคนเร่ร่อน และยังได้แต่งกวีรักอันไพเราะจำเพาะแต่พระกฤษณะองค์นั้น

 

ชาวฮินดูยังขับกวีของมีราด้วยความรักเต็มตื้นหัวใจสืบมาทุกวันนี้ และแสดงให้เห็นว่าในศาสนาฮินดูเราสามารถเป็นเพื่อนหรือแฟนกับพระเจ้าก็ได้นะครับ

เล่ากันว่า มีราเคยขึ้นไปยังเทวสถานชั้นในหรือห้องครรภคฤห์ ซึ่งหวงห้ามไว้สำหรับพราหมณ์เพื่อจะแสดงความรักต่อเทวรูปพระกฤษณะ พราหมณ์แห่งพฤนทาวันโกรธมากบริภาษมีราว่า เป็นสตรีเหตุใดจึงกล้าเข้าที่สงวนเฉพาะพราหมณ์

มีรากล่าวตอบว่า ต่อหน้าพระกฤษณะมหาบุรุษอันอุดม ยังมีใครกล้าเรียกตนเองว่าบุรุษอีกหรือ เหตุเพราะพระเจ้านั้นเป็นเพียงเอกบุรุษ (ปุรุษะ) สรรพสิ่งในสกลจักรวาล (ประกฤติ) นี้ล้วนเป็นเพียงคู่รักของพระองค์

โดยหลักนี้ บุรุษในโลกจะเรียกตนเองว่าบุรุษได้เช่นไร

 

กระนั้นพระกฤษณะมิได้ปรากฏเพียงแค่ในภาควัตปุราณะด้วยความหวานซึ้งเช่นนี้เท่านั้น พระองค์ยังปรากฏในอีกสอง “ลีลา” คือในมหาภารตะ และภควัทคีตา

ที่จริงภควัทคีตาเป็น “เรื่องแทรก” ในมหาภารตะ คืออาศัยฉากและตัวละครในมหาภารตะ เพื่อจะเสนอหลักธรรมชั้นสูงจาก “อุปนิษัท”

แต่ภควัทคีตาสำคัญเสียจนกระทั่งแยกออกมาเป็นคัมภีร์เอกเทศเล่มนึงได้ ทั้งพระกฤษณะของภควัทคีตาและมหาภารตะก็ดูจะไม่ค่อยเหมือนกันนัก

ในภควัทคีตา พระกฤษณะเล่นบทบาท “ชคัทคุรุ” หรือบรมครูแห่งโลก เพราะพระองค์ให้อุปเทศคำสอนแด่อรชุนจอมขมังธนู ซึ่งล้วนแต่โลกุตรธรรมอันลึกล้ำทั้งสิ้น

นอกจากบทบาทในฐานะพระบรมครูแล้ว ยังทรงสำแดงพระองค์ในฐานะ “ปรมาตมัน” หรือพระเจ้าสุงสุดของสกลจักรวาลด้วย

แต่พระกฤษณะของมหาภารตะ พระองค์กลับมีบทบาทต่างออกไป แม้สถานภาพความเป็นเทพยังเต็มเปี่ยม แต่พระองค์ก็ยังเป็นหัวหน้าเผ่ายาฑพผู้มีเล่ห์เหลี่ยม เป็นนักรบผู้มากอุบายเสียจนแม้ทำความผิดพลาดเพราะความรักญาติวงศ์ และสุดท้ายกลับต้องสิ้นพระชนม์อย่างอเนจอนาถตามคำสาปสรร

พระกฤษณะในมหาภารตะอาจไม่น่ารักเท่าใดนัก แม้เรื่องราวของมหาภารตะจะซับซ้อนและสนุกกว่ารามายณะซึ่ง “แฟนตาซี” กว่า กระนั้นพระกฤษณะองค์นี้นอกจากผู้ชอบวรรณคดีกับเรื่องรบทัพจับศึกก็อาจไม่เป็นที่รักสักเท่าไร

 

เพราะพระกฤษณะ “สามองค์” แตกต่างกันถึงเพียงนี้ เมื่อเราจะศึกษาและกล่าวถึงพระกฤษณะ อาจจำต้องให้คำอธิบายด้วยว่า เรากำลังกล่าวถึงพระกฤษณะองค์ใด จากแง่มุมไหน แม้ว่าทั้งสามองค์นั้นจะเป็นพระกฤษณะทั้งสิ้น

นี่ผมยังมิได้กล่าวถึง พระกฤษณะอีกองค์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศาสนาสันนิษฐานว่าอาจมีตัวตนจริงเป็นหัวหน้าเผ่าบางเผ่าในอินเดีย ครั้นตายลงก็ถูกยกขึ้นเป็นเทพในภายหลัง

เรื่องเทพฮินดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนถึงเพียงนี้ เราน่าจะช่วยกันศึกษากันให้มาก มากกว่าไหลหลงอยู่กับเทวนิยายหรืออภินิหารต่างๆ จนลืมการตีความวิเคราะห์ที่น่าจะยังประโยชน์ได้อีกหลายทาง

ผมเขียนบทความนี้ในวันประสูติพระกฤษณะของปี 2560 พอดี โดยหวังว่าจะมอบเป็นของขวัญวันเกิดพระกฤษณะ และสาวกทั้งหลายของพระองค์

และขอร้องเพลง My Sweet Lord ของ George Harrison คลอไปด้วย ซึ่งสรรเสริญทั้งพระกฤษณะและพระเยซูไปพร้อมๆ กัน

My sweet Lord, Hooo my Lord, I really want to see you. I really want to see you Lord, but it take so long my Lord…