ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทับหลังจากวัดทองทั่ว กับร่องรอยการขยายอิทธิพล ของเมืองอิศานปุระ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ทับหลังชิ้นหนึ่ง ตามประวัติว่าพบอยู่ที่วัดทองทั่ว เชิงเขาสระบาป อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดีไทย รวมถึงกัมพูชา เพราะคำถามน่าเอ็นดู (ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง) ว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้ที่จริงแล้วเป็น “ทับหลัง” หรือว่าเป็น “หน้าบัน” กันแน่?

และก็อย่างที่ผมได้เฉลยเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วนั่นแหละครับ โบราณวัตถุเจ้าปัญหาชิ้นนี้ที่จริงแล้วเป็น “ทับหลัง”

เพียงแต่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหน้าบัน เพราะมุมบนทางด้านซ้ายของเจ้าทับหลังชิ้นนี้ ถูกผู้คนในยุคหลังเฉือนเอาหินบางส่วนทิ้งไป เพื่อปรับนำมาใช้ใหม่ในรูปของ “หน้าบัน”

ดังปรากฏมีหลักฐานทำนองนี้ในที่อื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เช่น ทับหลังที่ถูกทำให้กลายเป็นหน้าบันที่ วัดโบสถ์ ใกล้ชุมชนริมน้ำจันทบูร อ.เมือง จ.จันทบุรี (อีกแล้ว) เป็นต้น

อนึ่ง “ทับหลัง” เป็นคำเรียกอย่างย่นย่อมาจากคำว่า “ทับหลังประดับกรอบประตู” หมายถึง หินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทับอยู่บน “หลัง” คือส่วน “บน” ของประตู แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ในเชิงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม (คือไม่ได้ถูกใช้เพื่อรับน้ำหนักใดๆ ที่ส่งถ่ายมาจากส่วนยอดของอาคาร)

เพียงแต่เป็นหินที่ถูกนำมาประดับเพื่อความสวยงามเท่านั้น

ในขณะที่ “หน้าบัน” หมายถึงส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ที่มักจะมีทรวดทรงอยู่โครงรูปสามเหลี่ยม และมักจะยื่นอยู่เหนือกรอบประตูออกไปเสมอ

อย่างไรก็ตาม คำถามน่าเอ็นดูที่ว่าก็ได้เบียดบังคุณค่าที่แท้จริงของทับหลังชิ้นนี้ไปอยู่มาก เพราะนี่คือทับหลังที่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบทางศิลปะแล้ว ก็อาจจะกำหนดอายุได้ว่าเป็นทับหลังที่เก่าที่สุดชิ้นหนึ่งที่พบอยู่ในประเทศไทยเลยทีเดียว

 

นักประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกทับหลังแบบนี้ว่า “ถาลาบริวัต” โดยเชื่อกันว่า เป็นทับหลังแบบที่เก่าแก่ที่สุดในอารยธรรมขอมโบราณ นิยมสร้างอยู่ในช่วงราวๆ พ.ศ.1150 นับเป็นรูปแบบของทับหลังที่พบอยู่ไม่มากนัก การพบทับหลังแบบถาลาบริวัตอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้หมายความว่า อารยธรรมขอมได้เข้ามามีบทบาทเหนือพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ในยุคที่นิยมสร้างทับหลังแบบที่ว่านั่นแหละ

จารึกหลักหนึ่งซึ่งก็พบอยู่ที่วัดทองทั่วเหมือนกัน หลายครั้งจึงถูกเรียกว่าจารึกวัดทองทั่ว

แต่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า จารึกจันทบูร

กล่าวถึงการที่พระเจ้าอิศานวรมันทรงอุทิศถวายข้าทาส และวัวควาย ให้กับเทวสถาน ดูจะเป็นหลักฐานที่สอดคล้องกันพอดีกับทับหลังแบบถาลาบริวัตจากวัดทองทั่ว เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เป็นพวกขอม แถมยังทรงเสด็จครองราชย์เมื่อ พ.ศ.1159 และก็มาสิ้นพระชนม์เอาเมื่อประมาณ พ.ศ.1180 อันเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันกับอายุสมัยของทับหลังชิ้นนั้นพอดี

แต่ความสำคัญของพระเจ้าอิศานวรมันพระองค์นี้ ไม่ได้มีเฉพาะเพียงแค่นี้เท่านั้นหรอกนะครับ เพราะอะไรที่สำคัญยิ่งกว่านั้น

ก็คือการที่ในหนังสือซินถังซรู ซึ่งก็คือพงศาวดารราชวงศ์ถังของจีน ได้ระบุเอาไว้ว่า พระองค์เป็นผู้ผนวกรวมอาณาจักรฟูนันที่รุ่งเรืองอยู่ก่อน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเจนละ (ชื่อที่จีนใช้เรียกอาณาจักรขอม) ได้ทั้งหมด

อาณาจักรฟูนันมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณเมืองออกแอว (หรือที่มักจะเรียกกันด้วยสำเนียงไทยๆ ว่า ออกแก้ว) ในเขตพื้นที่ปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ถือเป็นรัฐแห่งแรกในอุษาคเนย์ที่ปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะเอกสารจีน จึงมักจะนับกันว่า ฟูนันเป็นรัฐแห่งแรกของอุษาคเนย์เลยทีเดียว

การที่ฟูนันมีทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำโขง ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยสักนิดที่พวกเขาจะมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ จดหมายเหตุของคังไท่ และจูยิง ซึ่งเป็นราชทูตของพระเจ้าหวูต้าตี้ หรือซุนกวน แห่งง่อก๊ก ในยุคสามก๊ก (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.772-795) ได้กล่าวถึงข้อมูลตอนที่คังไท่ และจูยิงเดินทางไปยังฟูนัน เมื่อปี พ.ศ.769 เอาไว้ว่า พวกฟูนันมีเทคโนโลยีการสร้างเรือที่ก้าวหน้ามาก

เรือของฟูนัน ทำจากไม้และเหล็ก ยาวประมาณ 96 เชี้ยะ และบรรทุกคนได้ถึง 100 คนเลยทีเดียว

 

เมื่อพระเจ้าอิศานวรมันได้ผนวกเอาฟูนัน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมแล้ว พระองค์ก็ย่อมทรงได้รับมอบกำลังพลที่ชำนิชำนาญในการต่อเรือ และเดินสมุทร เข้ามาพร้อมๆ กับเครือข่ายการค้าทางทะเลที่เป็นของพวกฟูนันมาแต่เดิมด้วย

และจึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิด ถ้าพระองค์จะทรงเริ่มสอดส่ายสายพระเนตรมายังดินแดนอีกฟากหนึ่งของมุมคาบสมุทร ที่มีเมืองจันท์ เป็นส่วนสำคัญเมืองหนึ่งข้างในพื้นที่แห่งนั้น

พระเจ้าอิศานวรมันยังทรงเป็นผู้สถาปนาเมือง “อิศานปุระ” ขึ้นที่บริเวณหมู่บ้านสมโบร์ไพรกุก จ.กำพงธม ประเทศกัมพูชา ในปัจจุบัน เมืองอิศานปุระนี้นับเป็นเมืองที่ใหญ่โตพอจะเรียกได้ว่าเป็นระดับ “รัฐ” แห่งแรกในอารยธรรมขอมโบราณ มีวางผังเมืองที่เป็นระบบ และมีศาสนสถานที่ซับซ้อนอยู่เป็นจำนวนมาก

จนนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะถึงกับเรียกสิ่งปลูกสร้าง และงานศิลปะในสมัยนี้ว่า “ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก” โดยมีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1150-1200

ในศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกก็มีทับหลังที่โดดเด่นนะครับ แถมยังมีลักษณะที่คล้ายคลึง แต่งดงามและอ่อนช้อยกว่าทับหลังแบบถาลาบริวัต เช่น ทับหลังจากวัดทองทั่วมากเลยทีเดียว

อันที่จริงแล้วมีข้อถกเถียงในหมู่ผู้ศึกษาศิลปะขอมโบราณมานานแล้วว่า ทับหลังแบบถาลาบริวัตไม่ได้เก่ากว่าทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุก แต่ทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุกคือฝีมือช่างหลวง

ส่วนทับหลังแบบถาลาบริวัตนั้นเป็นงานช่างพื้นบ้าน

พูดง่ายๆ ว่า ทับหลังแบบถาลาบริวัตเป็นกิ่งก้านสาขาที่แตกออกไปจากศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกนั่นเอง

 

และนั่นก็หมายความด้วยว่า การพบทับหลังแบบถาลาบริวัตที่วัดทองทั่ว แสดงให้เห็นถึงอำนาจทางวัฒนธรรม (ซึ่งย่อมหมายถึงอำนาจทางการเมือง ที่เป็นแพ็กเกจพ่วงอยู่ด้วย) ของเมืองอิศานปุระ ที่พระเจ้าอิศานวรมันสถาปนาขึ้นในบริเวณที่เป็นหมู่บ้านสมโบร์ไพรกุกในปัจจุบันนี้ การค้นพบจารึกที่ระบุว่าพระองค์ได้มาอุทิศถวายอะไรต่อมิอะไรให้เทวสถานละแวกนี้ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยสักนิด

ที่จริงแล้วยังมีจารึกที่พบแถบๆ เมืองจันท์ ซึ่งมีรูปแบบตัวอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยเดียวกับพระเจ้าอิศานวรมันอยู่อีกสองหลักคือ จารึกเขาสระบาป และจารึกขลุง

เพียงแต่จารึกทั้งสองหลักที่ว่าไม่ได้ระบุพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้เท่านั้นเอง

เช่นเดียวกันกับที่ยังมีการค้นพบทับหลังแบบอื่นๆ ที่มีอายุอ่อนลงมาจากสมัยของพระเจ้าอิศานวรมันแล้วอยู่อีกหลายชิ้น ชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมขอมต่างๆ รวมไปถึงเทวรูปที่สร้างขึ้นในศิลปะแบบขอมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณนี้อยู่อย่างยาวนานและต่อเนื่อง

และถึงแม้ว่าโบราณวัตถุเหล่านี้จะพบอยู่ที่วัดทองทั่ว หรือวัดอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้วทั้งหมดคงถูกเคลื่อนย้ายมาจากเมือง ที่ในปัจจุบันเรียกกันว่า “เมืองเพนียด” ที่มีร่องรอยสิ่งปลูกสร้างโบราณตามรสนิยมอย่างขอม ให้เห็นอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน

“เมืองเพนียด” จึงเป็นเมืองโบราณที่เติบโตขึ้นจากผลของการล่มสลายของอาณาจักรฟูนัน และการขยายอิทธิพลของเมืองอิศานปุระ รัฐต้นกำเนิดของอารยธรรมขอมอันยิ่งใหญ่ ดังมีทับหลัง และจารึกของพระเจ้าอิศานวรมันจากวัดทองทั่ว เป็นประจักษ์พยานสำคัญนั่นเอง