ย้อน 24 มี.ค. 62 เลือกตั้งครั้งแรก หลัง คสช.ยึดอำนาจ พท.กวาด ส.ส.อับดับ1แต่ พ่าย รธน.ที่ดีไซน์มาเพื่อเขา ?

อำนาจนำ การเมือง อำนาจเก่า อำนาจใหม่ (เนื้อหาบางส่วนจาก คอลัมน์ กรองกระแส ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2015 วางแผงครั้งแรก29 มี.ค. 62)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 สะท้อนภาพการปะทะระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ให้ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดผ่านพันธมิตรทางการเมือง 2 ขั้ว 2 ฝ่าย

ฝ่ายอำนาจเก่า ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ฝ่ายอำนาจใหม่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และรวมถึงพรรคอนาคตใหม่

ความหมายหมายความว่า อำนาจเก่าต่อสู้เพื่อรักษา “อำนาจนำ” ในแบบเก่า

ความหมายหมายความว่า อำนาจใหม่ต่อสู้เพื่อนำเสนอและทำให้สถานะแห่ง “อำนาจนำ” ในแบบใหม่ได้รับการสถาปนา

ผลก็คือแม้อำนาจนำเก่าจะเป็นฝ่ายกำชัย แต่ก็มิได้หมายความว่าอำนาจนำใหม่จะไม่มีที่ยืน
กรองกระแส

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกเข้ามาผ่านระบบเขตมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 137 ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 97

คล้ายกับว่ากระบวนการของการเลือกตั้งมิได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ สถานการณ์ใหม่อย่างที่คาดหวัง เพราะว่าทุกอย่างดำเนินไปตามที่พรรคพลังประชารัฐได้เคยเสนอบทสรุปอันแหลมคมยิ่งว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

อย่างน้อยด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีเพียง 119 เสียง แต่ถ้าสามารถหาพันธมิตรได้กว่า 250 เสียงเมื่อไปผนวกรวมกับ 250 ส.ว. แผนการสืบทอดอำนาจผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประสบความสำเร็จ

ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในวาระ 4 ปีข้างหน้า หากมีความเป็นไปได้ที่จะฝังรากแห่งอำนาจยาวนานไปกว่า 2 ทศวรรษ

หากดูแต่ชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐโดยมองข้ามความพ่ายแพ้ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือการไม่สามารถโงหัวขึ้นมา ได้ของพรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังธรรมใหม่ อันล้วนอยู่ในเครือข่ายของ คสช. ก็อาจจะมองเห็นแต่ด้านที่รุ่งโรจน์

ยิ่งกว่านั้น สังคมจะมองข้ามความเสื่อมทรุดของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีส่วนสัมพันธ์กับรัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไปได้อย่างไร

โดยเฉพาะการไม่ได้รับเลือกเลยในพื้นที่ กทม. อันเคยยึดครองมาอย่างยาวนาน

ขณะเดียวกันจำนวน 137 ส.ส.ที่พรรคเพื่อไทยได้มาสามารถทำให้พรรคเพื่อไทยยึดกุมอันดับ 1 เอาไว้ได้เหนือกว่าทุกพรรคการเมืองก็เป็นชัยชนะท่ามกลางกฎกติกาของ คสช.ที่ต้องการบดขยี้ทำลายล้างพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มเรี่ยวแรง กระนั้น ก็ยังไม่สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยแหลกละเอียดลงได้

ยิ่งกว่านั้น การทะยานขึ้นมาของพรรคอนาคตใหม่โดยมีหลักการทางการเมืองที่เข้มข้นมากยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันว่า แม้ไม่ว่า คมช. ไม่ว่า คสช.จะต้องการบดขยี้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

แต่ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทยมิได้แหลกละเอียด หากแต่ยังมีพรรคอนาคตใหม่ปรากฏขึ้นอย่างทระนงองอาจอีก

อำนาจการเมืองภายหลังเลือกตั้ง

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีผลสะเทือนผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน แม้ไม่สามารถบั่นทอนอำนาจทางการเมืองในมือของ คสช.ได้อย่างเด่นชัด แต่ก็ต้องยอมรับว่าอำนาจทางการเมืองในมือของ คสช.ก็ได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

สถานะการทำหน้าที่ของ กกต.ในช่วงเวลานั้นล้วนถูกตั้งคำถามจากสังคมในหลายกรณี จนเป็นที่มาของ #บัตรเขย่ง การไม่ได้นับคะแนนจากเลือกตั้งล่วงหน้าที่ประเทศนิวซีแลนด์ มาจนถึง “การคำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” ที่จากเดิมผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า 70,000คะแนนจะได้ ส.ส.1คน แต่กลับกลายว่า พรรคเล็กหลายสิบพรรคที่ถูกตั้งขึ้นมากลายเป็นข้อครหาจากรประชาชนว่า “ส.ส.ปัดเศษ” มีเพียงไม่กี่หมื่นคะแนนก็ได้เป็นผู้แทนมาร่วมยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น นายกฯต่อ ในที่สุด