คนของโลก : ลีโอ วารัดการ์ นายกรัฐมนตรี “เกย์” ผู้สร้างประวัติศาสตร์

“ไอร์แลนด์” กำลังจะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็น “ชายรักร่วมเพศ” เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา “พรรคไฟน์เกล” ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของไอร์แลนด์ เลือกให้ “นายลีโอ วารัดการ์” นักการเมืองวัย 38 ปี เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

ชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค “ไฟน์เกล” มีขึ้นหลัง “เอ็นดา เคนนี” ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาเป็นเวลา 15 ปี และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์เป็นเวลายาวนาน 6 ปี ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

หาก “ลูกชายผู้อพยพจากอินเดีย” ผู้นี้ได้รับการรับรองจากรัฐสภาในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ เขาจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็น “เกย์” คนแรก เป็นนายกฯ ที่มีพื้นเพเป็นชนกลุ่มน้อยคนแรก

และเป็นนายกฯ คนแรกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย

 

“วารัดการ์” เปิดเผยถึง “รสนิยมทางเพศ” ของตัวเองผ่านสถานีวิทยุท้องถิ่นของไอร์แลนด์ เพียงไม่กี่เดือน ก่อนหน้าการลงประชามติเรื่อง “การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน” เมื่อปี 2015

และครั้งนั้นมติของประชาชน ส่งผลให้ประเทศไอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่ลงประชามติยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นประเทศแรกในโลก

“ผมเป็นเกย์ นั่นไม่ใช่ความลับ เพียงแต่เป็นอะไรที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องรู้” วารัดการ์ระบุกับสถานีวิทยุอาร์ทีอี

และว่า “นั่นไม่ใช่สิ่งที่นิยามตัวผม ผมไม่ใช่นักการเมืองลูกครึ่งอินเดีย ผมไม่ใช่นักการเมืองที่เป็นหมอ หรือนักการเมืองเกย์”

“วารัดการ์” เกิดวันที่ 18 มกราคม 1979 ลูกชายของ “อโศก” นายแพทย์จากมุมไบ กับ “มิเรียม” นางพยาบาลชาวไอริช

เขาและพี่สาวอีกสองคนเติบโตขึ้นมาในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยทรินิตี คอลเลจ ในกรุงดับลิน ก่อนจบการศึกษาด้านแพทยศาสตร์จากที่เดียวกันนี้

แม้วารัดการ์จะสามารถหาเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพแพทย์ได้ แต่เขากลับสนใจการเมืองมากกว่า โดยได้เข้าไปนั่งในสภาท้องถิ่นเขตดับลินตะวันตกเมื่อปี 2004 ด้วยอายุเพียง 20 ต้นๆ ก่อน 3 ปีต่อมา เขาจะได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเดียวกันนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2007

ในปี 2014 วารัดการ์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข และหลังจากพรรคไฟน์เกลต้องสูญเสียเก้าอี้ในสภาไปจำนวนมาก ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2016 วารัดการ์ก็เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีพิทักษ์สังคมในคณะรัฐบาลผสมนำโดยพรรคไฟน์เกล ที่ยังคงครองเสียงข้างมากอยู่

 

แม้ “วารัดการ์” จะได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อย ทว่า ก่อนหน้านี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น เช่น เมื่อปี 2008 ช่วงเวลาที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง เขาถูกวิจารณ์ว่า “เหยียดเชื้อชาติ” หลังให้การสนับสนุนการจ่ายเงินให้กับผู้อพยพที่ไม่มีงานทำหากสมัครใจที่จะกลับบ้านเกิด

และเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะกำลังหาเสียงด้วยนโยบายต่อต้าน “ทุจริตสวัสดิการ” วารัดการ์ระบุว่า ตนจะนำพรรคไฟน์เกลให้เป็นพรรคของคนที่ “ตื่นแต่เช้า” ส่งผลให้เกิดข้อกล่าวหาว่า วารัดการ์จะนำประเทศที่มีมุมมองสายกลางไปสู่แนวคิดปีกขวามากขึ้น

“วารัดการ์” กล่าวถึงชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคไฟน์เกล ซึ่งเขาได้เสียงสนับสนุนเหนือ “ซิมอน โคเวนนี” รัฐมนตรีการเคหะ จากพรรคเดียวกันว่า ตนรู้สึกยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเลือก

“ผมคิดว่าการได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคไฟน์เกลในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อคติได้หมดสิ้นไปจากประเทศนี้แล้ว” วารัดการ์ระบุในการปราศรัยหลังประกาศผลการเลือกตั้ง

และว่า “ผมรู้ว่าเมื่อพ่อผมเดินทางเป็นระยะทาง 5,000 กิโลเมตร มาลงหลักปักฐานที่ไอร์แลนด์ ผมเดาว่าท่านคงไม่เคยฝันว่าลูกชายจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศนี้”

“แม้พ่อจะมีความแตกต่าง แต่ลูกชายของเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และได้รับการตัดสินโดยการกระทำ การแสดงออกไม่ใช่เพราะชาติกำเนิดหรืออัตลักษณ์เฉพาะตัว” วารัดการ์ระบุ

ท่ามกลางความท้าทายที่คอยอยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะ “เบร็กซิท” ในฐานะที่ไอร์แลน์เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปชาติเดียวที่มีชายแดนติดกับประเทศอังกฤษ

วารัดการ์ยืนยันว่า พร้อมสำหรับความท้าทายดังกล่าวในฐานะรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้ว