มงคล วัชรางค์กุล : อาเจะห์ โมเดล ต้นแบบเจรจาสันติภาพ 3 จว.ชายแดนใต้ไทย?

ผมบินไปจาการ์ตา อินโดนีเซีย 3 ครั้ง เป็นการบินไปทำธุระแบบประเดี๋ยวเดียว แล้วก็รีบบินกลับ แต่ก็ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่พอนำมาเล่าสู่กันได้

ผมบินไปจาการ์ตาทุกครั้งกับเที่ยวบิน TG การบินไทยทั้งไปและกลับ เป็นเที่ยวบินที่เวลาดี สะดวกสบายมาก

บินครั้งแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ (Tsunami) ที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย 5-6 ปี สึนามิคราวนั้นเกิดขึ้นวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ดังนั้น ผมคงบินไปจาการ์ตาครั้งแรกในปี 2010

TG 433 ออกบินจากสุวรรณภูมิไป CGK (Jakarta) ตอน 8 โมงเช้า สมัยนั้น (รวมถึงสมัยนี้) ตอนช่วงเช้าจะมีเที่ยวบิน TG ออกเดินทางไปเมืองต่างๆ ในเอเชียเยอะมาก ผู้โดยสารยืนเข้าคิวรอเช็กตั๋วและออกบอร์ดิ้งพาสต่อแถวยาวเหยียด แถวขดวนไปมาเหมือนงูเลื้อย

ผมไปต่อแถวตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง ยืนขยับอยู่หนึ่งชั่วโมงยังไปไม่ถึงเคาน์เตอร์ จนเจ้าหน้าที่ทีจีต้องออกมาประกาศเรียกผู้โดยสารที่มีเที่ยวบินออก 8 โมงเช้า เช่น ไปจาการ์ตา ฮ่องกง โฮจิมินห์ ร่างกุ้ง ฯลฯ ให้ออกมาตั้งแถวใหม่ ส่งเข้าออกบอร์ดิ้งพาสและโหลดกระเป๋าโดยรีบด่วน

หลังจากนี้ยังต้องไปต่อแถวเข้าเอ็กซเรย์ด้านความปลอดภัย ตรวจประทับตราพาสปอร์ต สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องสแกนพาสปอร์ตอัตโนมัติ กว่าจะเสร็จกระบวนการออกมาได้ก็ต้องวิ่งตาตั้งตรงไปประตูขึ้นเครื่อง

แต่ผมไม่เคยวิ่ง เดินแบบสบายตามสภาพ เพราะรู้ว่าเมื่อออกบอร์ดิ้งพาสเสร็จมีชื่อเราอยู่ในเที่ยวบินนั้นแล้ว เครื่องจะต้องคอยเรา ยังออกไม่ได้ ต้องประกาศเรียกชื่อเราให้รีบขึ้นเครื่องโดยด่วน

เมื่อปีที่แล้วมีเพื่อนในวัยเดียวกันไปเที่ยวอังกฤษ บินจากสกอตแลนด์มาต่อเครื่องทีจีที่สนามบินฮีตโธรว์ เครื่องมาถึงช้า ตอนจะต่อเครื่องได้บอร์ดิ้งพาสแล้วเลยรีบวิ่งหน้าตั้งจะไปขึ้นเครื่อง

รีบร้อนวิ่งกระหืดกระหอบจนเกิดหัวใจวายคาสนามบินฮีตโธรว์ ยังดีที่ภรรยาที่ไปด้วยกันรีบนำส่งโรงพยาบาลรักษาจนหายกลับมาเมืองไทยได้

หมดไปแค่สองล้านกว่าบาทเอง

สำหรับเพื่อนผู้อาวุโสที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าไม่มีประกันสุขภาพที่คุ้มครองถึงต่างประเทศ ขอแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพคุ้มครองระหว่างการเดินทาง เสียเงินไม่กี่พันบาทช่วยคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่อาจสูงถึงหลักล้านบาทในต่างแดนได้

อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

TG 433 บินถึง CGK ตอน 11.35 น. ใช้เวลาบิน 3 ชั่วโมง 35 นาที เวลาที่จาการ์ตาเป็นเวลาเดียวกับเมืองไทย ไม่ต้องหมุนเข็มนาฬิกาเปลี่ยนไป

ไปจาการ์ตาคราวนั้น เพราะเพื่อนสมัยเป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯ ที่มีกิจการหลายอย่าง รวมทั้งการเป็นเจ้าของเรืออวนลากเดี่ยวสองลำในอินโดนีเซีย เพื่อนเกิดอยากเป็นเจ้าของไลเซนส์ (License) เรืออวนดำและเรืออวนล้อมที่เกาะสุมาตรา เพราะได้ข่าวว่าที่นั่นมีปลาผิวน้ำชุกชุม

จึงขอให้ผมที่ขณะนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องประมง เดินทางร่วมกับลูกเขยเขาไปพบคนจีนอินโดนีเซียน ชื่อ เจฟฟรี่ อินทรา (Jeffri Indra) ที่เป็นเอเย่นต์ขายสินค้าซีพีจากเมืองไทยในจาการ์ตาเป็นผู้ประสานงาน

สนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตาของจาการ์ตาไม่ใหญ่โตอะไรนัก แต่ตกแต่งตัวอาคารด้วยสถาปัตยกรรมแบบชวา สวยงามมาก

เจฟฟรี่ อินทรา มารับพาวิ่งบนทางด่วนเข้าจาการ์ตาพาไปกินอาหารมื้อกลางวันแบบอินโดสไตล์ แล้วย้อนกลับมาสนามบินขึ้นเครื่องโลว์คอสตอนเย็นไปสนามบินบันดาอาเจะห์ Banda Aceh (BTJ) ที่เกาะสุมาตราอีกสองชั่วโมงครึ่ง

ถึงโรงแรมกินข้าวเย็นเสร็จสี่ทุ่มเข้านอนหลับสลบไสลเพราะเหนื่อยมาก ออกเดินทางมาสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ก่อนตีห้า ที่จริงสุมาตราอยู่ใกล้เมืองไทยนิดเดียว แต่ไม่มีเที่ยวบินตรง ต้องบินลงใต้ไปจาการ์ตาแล้วย้อนขึ้นมาอาเจะห์ จึงต้องบินอ้อมไกลมาก

สมัยก่อนที่อาเจะห์มีขบวนการเรียกร้องเอกราชเรียกว่า ขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM) หรือ “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์สุมาตรา” (Aceh Sumatra Liberation Front) กลุ่มนี้ต้องการให้อาเจะห์และเกาะสุมาตราเป็นเอกราช จึงทำสงครามปลดปล่อยกับรัฐบาลกลางโดยได้รับความช่วยเหลือจากลิเบียและอิหร่าน

การสู้รบดำเนินมาตั้งแต่ปี 1976 สมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ยืดเยื้อมาจนถึงสมัยประธานาธิบดี เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี ในปี 2004 ตลอดเวลาเหล่านี้รัฐบาลกลางอินโดนีเซียส่งทหารหลายหมื่นคนเข้าปราบปราม มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงในสงครามอาเจะห์ทั้งๆ ที่เป็นมุสลิมด้วยกัน

ผู้นำระดับบนของอาเจะห์เสรีหนีไปอยู่สวีเดน มีการเจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซียที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มอาเจะห์เมื่อ 26 ธันวาคม 2004 บ้านเรือนเสียหายยับเยิน มีคนตายประมาณ 165,000 คน

หลังภัยพิบัติจากสึนามิ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์ประกาศสงบศึก 28 ธันวาคม 2004 และยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง

ต่อมามีการเซ็นสัญญาสงบศึกกันที่กรุงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2008 รัฐบาลกลางให้อภัยโทษผู้นำอาเจะห์เสรี 150 คนที่หนีไปอยู่ต่างประเทศและปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขัง 1,400 คน

สันติภาพจึงกลับคืนสู่เขตอาเจะห์ สุมาตรา

ทุกวันนี้อาเจะห์คือเขตปกครองตนเองหรือเขตปกครองพิเศษ มีผู้นำของตัวเอง มีรัฐบาลของตัวเอง ออกกฎหมายเอง ใช้กฎหมายอิสลาม แต่อยู่ใต้ร่มธงอินโดนีเซีย

เมื่อความสงบสุขเกิดขึ้น ความเจริญก็ไหลบ่าเข้าสู่อาเจะห์เพราะบริเวณนี้อุดมด้วยป่าไม้ แร่ธาตุและทรัพยากรประมง

การเจรจาเรื่องไลเซนส์ประมงคราวนั้นคุยกับประธานสหกรณ์ประมงอาเจะห์ที่เป็นเจ้าของผู้ออกไลเซนส์

แต่เงื่อนไขหลายอย่างที่ระบุไว้ เช่น ค่าธรรมเนียมไลเซนส์ การต้องใช้คนงานพื้นเมืองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงการบังคับให้ขายปลาทั้งหมดที่จับได้ที่ตลาดอาเจะห์ ห้ามขนถ่ายใส่เรือแม่กลับเมืองไทย ทั้งที่ขณะนั้นอาเจะห์ยังไม่มีห้องเย็นขนาดมาตรฐานและยังไม่มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงรองรับเลยแม้แต่โรงเดียว ทำให้ราคาปลาที่ตลาดพื้นเมืองต่ำมาก ไม่น่าคุ้มค่าที่จะส่งกองเรือประมงไทยมาลงทุน

ตอนที่ไปคุยนั้น ที่ท่าเรืออาเจะห์มีเรืออวนล้อมขนาดใหญ่เทียบท่าอยู่ลำเดียว เป็นเรืออวนล้อมจากฮ่องกงที่มาทำประมงที่นี่ นอกจากนั้น เป็นเรืออวนล้อมพื้นเมืองขนาดเล็ก

มองจากท่าเรือประมงอาเจะห์ที่เข้ามาอยู่ในคลองย้อนออกไปในทะเลกว้าง ผิวน้ำทะเลสีฟ้าครามกว้างใหญ่ไพศาลเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดียอันอุดมสมบูรณ์ ปลาผิวน้ำล้ำค่าหลากชนิดชุมนุมอยู่ที่นี่

ผมมีโอกาสไปชมอนุสรณ์สถานแห่งสึนามิที่ทางการอาเจะห์เก็บรักษาไว้ในสภาพดั้งเดิมที่ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติครั้งนั้นโดยไม่มีการซ่อมบำรุงรักษา เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ถูกคลื่นยักษ์ทำลายแทบราบเรียบเป็นหน้ากลอง แต่บางมุมที่ยังพอมีเค้าโครงเป็นบ้านเรือนอยู่บ้างก็มีครอบครัวคนยากจนเข้าไปอยู่อาศัย

จุดที่สะเทือนใจที่สุดคือเรือสินค้าขนาดยักษ์ใหญ่มาก ยาวเหยียด จอดจมดินอยู่กลางซากอาคารบ้านเรือน เขาเล่าที่ใต้ท้องเรือมีร่างของชาวอาเจะห์หลายร้อยชีวิตถูกทับฝังอยู่

ดูแล้วหดหู่ เศร้า สะเทือนใจจนแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

มนุษย์ทำร้ายธรรมชาติมาตลอด แต่ในบางครั้งธรรมชาติก็เอาคืนอย่างโหดร้ายปานกัน

นอนค้างที่อาเจะห์ 2 คืนในโรงแรมที่สร้างใหม่หลังเหตุการณ์สึนามิ องค์ประกอบเป็นอาคารไม้กระดานหน้าใหญ่มาก ออกแบบสวยงามในสไตล์อาคารไม้พื้นเมืองแห่งสุมาตรา

ป่าไม้ที่สุมาตรายังอุดมสมบูรณ์อยู่อีกมาก ไม้ที่นี่ส่งเข้าป้อนโรงเลื่อยสิงคโปร์ที่ไม่เคยมีป่าไม้ของตัวเองแม้แต่ต้นเดียว

บริเวณตัวเมืองอาเจะห์วันนั้นกำลังขยายตัว พัฒนาเป็นเมืองใหม่ที่สวยงาม

ขอแสดงความยินดีกับชาวอาเจะห์ที่มีสันติภาพอันถาวร

บางที อาเจะห์โมเดล อาจเป็นต้นแบบการเจรจาสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็เป็นได้

ขึ้นเครื่องบินจากอาเจะห์เที่ยวบ่าย มาสนามบินซูกาโน-ฮัตตาที่จาการ์ตา รอเปลี่ยนเครื่องทีจีเที่ยวสองทุ่มกลับเมืองไทย

ไปจาการ์ตาครั้งแรก ยังไม่เคยนอนที่จาการ์ตาเลยสักคืนเดียว